บอร์ดค่าจ้างแจงกฏเกณฑ์พิจารณาการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ

21 ต.ค. 2559 | 08:35 น.
คณะกรรมการค่าจ้าง (บอร์ดค่าจ้าง) โดย ม.ล.ปุณฑริก สมิติ ปลัดกระทรวงแรงงาน เป็นประธาน  ได้มีการประชุมหารือไปเมื่อวันที่ 19 ต.ค.59  ที่ผ่านมา โดยคณะกรรมการฯ มีมติปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำประจำปี 2560 ขึ้นอีกตั้งแต่ 5 -10 บาท ทั่วประเทศ ใน 4 กลุ่ม ประกอบด้วย

กลุ่มที่ 1  คงอัตราค่าจ้างเดิม  จำนวน 8 จังหวัด คือ สิงห์บุรี ชุมพร นครศรีธรรมราช ตรัง ระนอง นราธิวาส ปัตตานี และยะลา

กลุ่มที่ 2 ปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเพิ่มอีกวันละ 5 บาท เป็น 305 บาทต่อวัน จำนวน 49 จังหวัด คือ แม่ฮ่องสอน ลำปาง น่าน ตาก กาญจนบุรี ราชบุรี สุพรรณบุรี เพชรบุรี พัทลุง สตูล กำแพงเพชร พิจิตร แพร่ เพชรบูรณ์ อุทัยธานี สกลนคร กาฬสินธุ์ มหาสารคราม ร้อยเอ็ด บุรีรัมย์ สุรินทร์ อำนาจเจริญ ชัยนาท ลพบุรี นครนายก สระแก้ว ประจวบคีรีขันธ์ สมุทรสงคราม จันทบุรี ตราด ลำพูน พะเยา สุโขทัย อุตรดิตถ์ บึงกาฬ นครพนม อุบลราชธานี อ่างทอง เลย หนองบัวลำพู มุกดาหาร ยโสธร เชียงราย พิษณุโลก อุดรธานี ชัยภูมิ ศรีสะเกษ นครสวรรค์ และหนองคาย

กลุ่มที่ 3 ปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเพิ่มอีกวันละ 8 บาท เป็น 308 บาทต่อวัน จำนวน 13 จังหวัด คือ ขอนแก่น นครราชสีมา ปราจีนบุรี ชลบุรี ระยอง สุราษฎร์ธานี สงขลา เชียงใหม่ สระแก้ว สระบุรี ฉะเชิงเทรา กระบี่ พังงา และพระนครศรีอยุธยา

กลุ่มที่ 4 ปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเพิ่มอีกวันละ 10 บาท เป็น 310 บาท จำนวน 7 จังหวัด คือ กรุงเทพมหานคร นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาคร และภูเก็ต

การปรับขึ้นค่าจ้างครั้งนี้ เป็นผลสืบเนื่องจากการที่รัฐบาลได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของคนทำงานซึ่งมีจำนวนมาก และเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศให้มีความเป็นอยู่ที่ดี และมีคุณภาพชีวิตที่ดี จึงได้มอบหมายให้คณะกรรมการค่าจ้าง ซึ่งประกอบด้วยไตรภาคีที่มีผู้แทนฝ่ายนายจ้าง ผู้แทนฝ่ายลูกจ้างและผู้แทนฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายละ 5 คน ไปประชุมหารือกันรวม 4 ครั้ง  จากข้อมูลที่ได้มอบหมายให้คณะอนุกรรมการอีก 3 คณะ คือ 1.คณะอนุกรรมการพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำจังหวัดและกรุงเทพมหานคร 77 คณะ (ประชุม 77 ครั้ง) 2.คณะอนุกรรมการวิชาการและกลั่นกรอง (ประชุม 2 ครั้ง) และ 3. คณะอนุกรรมการเฉพาะกิจเพื่อศึกษาและเสนอแนวทางการกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ (ประชุม 3 ครั้ง) ได้ไปศึกษาข้อมูลมาทั้งในระดับจังหวัดและส่วนกลาง  ภายใต้หลักเกณฑ์ตามที่กฎหมายกำหนด 3 ประการ ใน 10 ประเด็น คือ 1) หลักเกณฑ์ด้านความจำเป็นในการครองชีพของลูกจ้าง มี 5 ประเด็นได้แก่ ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับอัตราค่าจ้างที่ลูกจ้างได้รับอยู่ในปัจจุบัน / ดัชนีค่าครองชีพ / อัตราเงินเฟ้อ /ราคาของสินค้าและบริการ /และมาตรฐานการครองชีพ  2) หลักเกณฑ์ด้านความสามารถในการจ่ายของนายจ้าง มี 3 ประเด็นได้แก่  ต้นทุนการผลิต / ความสามารถของธุรกิจ/ และผลิตภาพแรงงาน   3) หลักเกณฑ์ด้านเศรษฐกิจและสังคม มี 2 ประเด็น ได้แก่ ผลิตภัณฑ์มวลรวม (จีดีพี) ของประเทศและจังหวัดคำนวณจากปี 2553 - 2557 /รวมทั้งคำนึงถึงสภาพเศรษฐกิจและสังคมในปัจจุบัน นอกจากนี้ได้ศึกษาค่าจ้างขั้นต่ำของประเทศเพื่อนบ้านมาประกอบการพิจารณาอีกด้วย

การดำเนินงานต่อไป คือ คณะกรรมการค่าจ้างจะนำเรียนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เพื่อนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้สามารถประกาศเป็นของขวัญปีใหม่ให้กับผู้ใช้แรงงานในวันที่ 1 มกราคม 2560 ต่อไป