‘วิษณุ’เคลียร์‘สืบสันตติวงศ์’ ยันโรดแมปรัฐบาลเดินหน้าตามกำหนดเดิม

20 ตุลาคม 2559
ท่ามกลางความเศร้าโศกเสียใจของคนไทยทั้งโลกในเวลานี้ภายหลังราชบัลลังก์ว่างลงนั้น เกิดกระแสข่าวสร้างความสับสน ต่อข้อกังวลสงสัยที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 14ตุลาคม 2559 ดร.วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกฎหมาย ได้ให้สัมภาษณ์ผ่านรายการรวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย อธิบายขั้นตอนการราชสืบสันตติวงศ์อย่างชัดเจนครอบคลุมแง่มุมของข้อกฎหมาย กฎมณเฑียรบาล และราชประเพณีสถาปนา “พระรัชทายาท” ไว้แล้ว
ดร.วิษณุ รองนายกรัฐมนตรี อธิบายการสืบสันตติวงศ์ว่า มีกฎหมาย 2 ฉบับที่เกี่ยวข้อง คือ 1.รัฐธรรมนูญ (รธน.) และ2.กฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ ซึ่งตราขึ้นตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 6 และยังใช้เรื่อยมานับแต่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองจนถึงปัจจุบัน กฎเกณฑ์การสืบราชสมบัติที่จะใช้กันต่อไปนี้เป็นกฎเกณฑ์เดียวกันกับที่ปรากฎในรธน.ตั้งแต่ปี 2534 เป็นต้นมา จนถึงปัจจุบัน แม้แต่รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่จะประกาศใช้เร็ววันนี้ก็มีข้อความเดียวกันที่ใช้มา 25 ปีทุกประการ

รธน.ผ่านมาแล้ว 3 ฉบับ ผ่านเวลามาแล้ว 25 ปี อยู่ภายใต้กฎเกณฑ์เดียวกัน แม้แต่ในรธน.ฉบับใหม่ที่จะประกาศใช้ในเร็ววันนี้ ก็มีข้อความเหมือนกับที่เคยเขียนเอาไว้เมื่อ 25 ปีก่อนทุกประการ

เมื่อนำเอากฎเกณฑ์นี้ไปเทียบกับกฎมณเฑียรบาล จะปรากฎหลักดังต่อไปนี้ ประการแรก เมื่อราชบัลลังก์ว่างลง สิ่งที่ต้องดู คือ ได้เคยมีการสถาปนารัชทายาท หรือที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า Crown Prince เอาไว้ก่อนหรือไม่ ซึ่งในกฎมณเฑียรบาลนั้น เรียกว่า “พระรัชทายาท” หากยังไม่มีการแต่งตั้งจะมีวิธีปฏิบัติอย่างหนึ่ง

แต่บัดนี้ได้มีการสถาปนาพระรัชทายาทไว้แล้ว ตั้งแต่วันที่ 28 ธันวาคม 2515 โดยโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้าวชิราลงกรณ์ ซึ่งเป็นพระราชโอรสพระองค์ใหญ่ และเป็นพระราชโอรสพระองค์เดียวในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศ ทรงสถาปนาเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมงกุฎราชกุมารฯ หากแม้จะไม่มีการสถาปนา พระองค์ท่านก็ทรงเป็นพระรัชทายาทอยู่แล้วตามกฎมณเฑียรบาล

“เมื่อสถาปนาพระรัชทายาทไว้แล้ว หากพระราชบัลลังก์ว่าง รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ให้ครม.แจ้งไปยังประธานรัฐสภาว่าได้มีการสถาปนาพระรัชทายาทไว้แล้วหรือไม่ ตั้งแต่เมื่อใด เป็นขั้นตอนที่ 1 และเมื่อประธานรัฐสภาได้รับแจ้งจากรัฐบาลจะต้องเรียกประชุมรัฐสภาเพื่อแจ้งให้ทราบเพื่อรัฐสภาจะมีมติรับทราบ จากนั้นเป็นหน้าที่ของรัฐสภา จะต้องขอพระราชทานอัญเชิญพระรัชทายาทขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์ เมื่อทรงรับก็จะมีการออกประกาศให้ประชาชนได้ทราบว่า บัดนี้ประเทศไทยมีสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว หรือพระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่แล้ว ซึ่งก็จะเรียกว่าสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว แต่จะยังไม่ออกพระนามว่า พระบาทสมเด็จเจ้าอยู่หัวจนกว่าจะมีพระราชพิธีพระบรมราชาภิเษก”ซึงทั้งหมดนี้ไม่มีเงื่อนเวลา ว่าจะต้องทำเร็ว ทำช้าประการใด แต่ทำเร็วได้จะเป็นการดี

ทั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้มีโอกาสเข้าเฝ้าฯ สมเด็จพระบรมโอรสธิราช เมื่อคืนวันที่ 13 ตุลาคม 2559 ได้มีพระราชปรารถมา พร้อมทั้งได้แจ้งกับครม.ด้วยโดยได้เปิดประชุมครม.เมื่อเวลา 20.00 น.คืนวันเดียวกัน โดยแจ้งให้ที่ประชุม ครม.รับทราบถึงพระราชปรารถดังกล่าว ได้แถลงการณ์ผ่านรายการรวมการเฉพาะกิจ เพื่อแจ้งให้ประชาชนได้รับทราบแล้วว่า สมเด็จพระบรมโอรสธิราชฯ มีพระราชปรารถว่า ขณะนี้ทรงทราบว่า ประชาชนชาวไทยอยู่ระหว่างวิปโยคทุกข์โศก ทรงสลดพระราชหฤทัยเช่นเดียวกัน ทรงรู้สึกถึงความผูกพันร่วมกับประชาชนทั้งหลาย เป็นเวลาที่คนไทยทั้งชาติร่วมกันทำใจ พระองค์ท่านเองก็ทำใจร่วมกับประชาชน

ในเบื้องต้น จึงยังไม่มีพระราชปรารถนาที่จะดำเนินการใดๆ ในช่วงนี้

ดังนั้น หากรัฐบาลจะรอไว้ก่อนได้สักระยะหนึ่ง ก็จะเป็นความเหมาะสมกับบรรยากาศของสภาพบ้านเมือง และกับความรู้สึกกับประชาชนของพระองค์เองซึงรัฐบาลก็รับเรื่องนี้มาสนองใส่เกล้าใส่กระหม่อม จึงเป็นเหตุหนึ่ง ที่ทำใหรั้ฐบาลไม่ส่งเรื่องแจ้งไปยังสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)

เมื่อไม่มีเรื่องแจ้งไป สนช.จึงยังไม่มีเหตุจะเรียกประชุมเพื่อมีมติรับทราบในการอันเชิญขึ้น หรือประกาศการมีสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ที่จะเกิดขึ้น เป็นขั้นตอนที่ขอระยะเวลาหนึ่ง เมื่อถึงเวลาอันสมควรก็จะได้มีการดำเนินการดังกล่าวต่อไป โดยไม่มีข้อลังเลสงสัยแต่ประการใดในการปฏิบัติเป็นอย่างอื่น

ปธ.องคมนตรี เป็นผู้สำเร็จราชการฯ

ในส่วนของผู้สำเร็จราชการแทนนั้น ดร.วิษณุ ชี้แจงว่า เป็นธรรมเนียมของนานาประเทศที่เป็นราชอาณาจักร มีสมเด็จพระราชาธิบดี มีพระมหากษัตริย์ ว่าราชบัลลังก์จะว่างลงไม่ได้แม้แต่วันเดียว เพราะฉะนั้น ในต่างประเทศจึงมีธรรมเนียมว่า ทันทีที่พระมหากษัตริย์เสด็จสวรรคต ประชาชนและรัฐบาลจะต้องออกมาพูดเป็นประโยคเดียวกันเป็นประโยคแรกเสมอว่า
ซึ่งต้องกล่าวต่อกันไม่หยุด และต้องไม่เว้นวรรคเพื่อความต่อเนื่องไม่ขาดสาย ธรรมเนียมไทยเองก็ดำเนินการเช่นเดียวกัน แต่ก็เกิดได้บางคราวที่อาจจะต้องรั้งรอ ดังเช่นเมื่อคราวที่รัชกาลที่ 7 ท่านทรงสละราชสมบัติ โดยมีพระราชสาส์นมาจากประเทศอังกฤษ เพราะประทับอยู่ที่นั่นซึ่งกว่าที่พระราชสาส์นจะมาถึงประเทศไทย กว่าที่รัฐบาลไทยจะอันเชิญพระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าอานันทมหิดลขึ้นครองราชย์ กว่าจะทรงรับพระราชสมบัติใช้ระยะเวลายาวนาน จึงต้องมีผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์แทรกเข้ามา

ทั้งนี้ สมัยรัชกาลที่ 8 นั้นเสด็จสวรรคตตอนเช้าของวันที่ 9 มิถุนายน การดำเนินการของรัฐสภาจึงสามารถดำเนินการได้ช่วงบ่ายถึงเย็น ในเวลาประมาณ 21.00 น.ของวันเดียวกัน รัฐสภาได้มีมติเป็นเอกฉันท์ให้อัญเชิญสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอเจ้าฟ้าภูมิพลอดุยเดชฯ ขึ้นครองราชสมบัติ ความจำเป็นจะตั้งผู้สำเร็จราชการแทนจึงไม่เกิดขึ้นในเวลานั้น

“เวลานี้ก็อาจจะไม่มีเหตุจำเป็นใด ๆ ที่จะต้องตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ แต่เนื่องจากเมื่อพระบรมโอรสาธิราชฯ มีพระมหากรุณาพระราชปรารภมาเช่นนั้น รัฐบาลก็ต้องรับใส่เกล้าใส่กระหม่อมฯ เป็นเหตุให้ต้องเกิดผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์แทรกเข้ามา เพื่อไม่ให้ทุกอย่างต้องเว้นว่างลง เพราะอาจจะต้องมีกิจการบ้านเมืองที่ต้องปฏิบัติเวลานั้น ซึ่งในรธน.ได้เขียนหลักเกณฑ์นี้ไว้ตั้งแต่ปี 2534 และใช้กันมาถึงบัดนี้เป็นเวลา 25 ปี และจะใช้ในรธน.ฉบับใหม่ซึ่งเขียนเหมือนกันทุกถ้อยกระบวนความว่า

ในกรณีที่ยังไม่มีการสถาปนา หรือตั้งสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ หรือพระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่ ให้ประธานองคมนตรีเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เป็นการชั่วคราวไปพลางก่อน
เป็นความตั้งใจของรธน.ว่า เพื่อไม่ให้เกิดการว่างเว้น และบางครั้งอาจเกิดเหตุว่า ยังไม่สามารถตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์คนใหม่ หรืออาจยังไม่มีกรณีที่จะมีการประกาศพระนามพระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่ได้ เพื่อไม่ให้ว่างเว้นลงแม้แต่นาทีเดียว จึงได้กำหนดเอาไว้เช่นนั้น

นอกจากนี้ก็ไม่จำเป็นต้องประกาศต่อที่ประชุมรัฐสภา เพราะไม่ได้เกิดจากการแต่งตั้ง แต่เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นโดยรธน.กำหนดโดยตำแหน่ง กล่าวคือ ใครที่เป็นประธานองคมนตรี ก็จะต้องทำหน้าที่นี้ จึงไม่ต้องมีการประกาศสถาปนา ไม่ต้องประกาศแต่งตั้ง หรือไม่แม้แต่จะต้องไปปฏิญาณตน สามารถปฏิบัติทันที เผื่อจำเป็นฉุกเฉินที่จะต้องทำทันที

พระราชบัณฑูร “อย่าให้ปชช.กังวลสับสน”

ส่วนการประกาศรธน.ฉบับใหม่ซึ่งต้องลงพระปรมาภิไธย อันเกี่ยวเนื่องกับแผนการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศให้เป็นไปตามโรดแม็ปตามที่ได้ประกาศเอาไว้แล้วนั้น ดร.วิษณุ ยืนยันว่า ทุกอย่างยังดำเนินการไปในระยะเวลาอันใกล้นี้ ไม่น่าจะมีเหตุสะดุดหรือขาดตอน อาจมีปัญหาเล็กน้อยก็สามารถแก้ไขได้ ตราบใดที่นายกรัฐมนตรียังไม่ได้มีประกาศ หรือแจ้งเหตุเปลี่ยนแปลงใด ๆ ทุกอย่างยังเป็นไปตามโรดแม็ป และขั้นตอนเดิมทุกประการ

ด้านพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวแถลงการณ์ผ่านโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจว่า เวลาประมาณ 19.00 น.สมเด็จพระบรมโอรสราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ได้มีพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ พล.อ.เปรมติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ ในฐานะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เป็นการชั่วคราวไปพลางก่อนพร้อมตนเข้าเฝ้าฯถวายรายงานข้อราชการณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิตนับเป็นพระมหากรุณาธิคุณ ล้นเกล้าล้นกระหม่อม โดยพระราชปรารภสำคัญเรื่องหนึ่ง คือ ขออย่าให้ประชาชนเกิดความสับสน หรือกังวลใจใดๆ เกี่ยวกับราชการแผ่นดิน หรือแม้แต่การสืบราชสันตติวงศ์ เพราะเรื่องนี้มีรัฐธรรมนูญ กฎมณเฑียรบาล และจารีตประเพณีกำหนดไว้แล้ว

แต่การจะดำเนินการเมื่อใด อย่างไรนั้น มีพระราชบัณฑูรว่า ช่วงเวลานี้ทุกคนทุกฝ่าย แม้แต่พระองค์ท่านเองอยู่ระหว่างความเศร้าโศกโทมนัสอาลัย จึงควรให้ทุกฝ่ายช่วยกันทำให้รู้สึกว่า เราผ่านพ้น หรือบรรเทาความวิปโยคอาดูรนี้ไปได้บ้างก่อนเถิด อย่าให้ความรู้สึกว่า มีความเปลี่ยนแปลงใดๆภายใต้ร่มพระบารมีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเกิดกะทันหันเกินไป ทุกคนควรใช้เวลานี้รักษาความทรงจำอันงดงามของเหตุการณ์เมื่อ 70 ปีที่ผ่านมา เมื่อการบำเพ็ญพระราชกุศล และพระราชพิธีพระบรมศพผ่านพ้นไประยะหนึ่งก็น่าจะถึงเวลาสมควรดำเนินการต่อไปได้ การดำเนินการเช่นนี้ก็ไม่น่ากระทบต่อแผนงานหรือขั้นตอนใดๆ รัฐบาลได้ปรึกษาประธานสนช.แล้ว ขอรับสนองพระราชบัณฑูรใส่เกล้าใส่กระหม่อม

จึงขอเรียนพี่น้องประชาชนทั้งหลายทราบโดยทั่วกัน จะได้คลายความกังวลใจ และใช้เวลาในช่วงนี้ถวายสักการะแสดงความอาลัยให้สมกับที่ท่านรู้สึก อย่างที่หลายคนให้สัมภาษณ์ว่า ชีวิตนี้เกิดมาก็อยู่ในสมัยรัชกาลที่ 9 เติบโตมาก็ในรัชกาลที่ 9 จึงยากจะทำใจว่ามีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,202 วันที่ 20 - 23 ตุลาคม พ.ศ. 2559