สั่งพร้อมฟื้นการค้าไทย-ซาอุฯ พาณิชย์แย้มข่าวดีรัฐบาล 2 ฝ่ายตกลงเลิกผ่านประเทศที่ 3

20 ต.ค. 2559 | 07:00 น.
พาณิชย์เตรียมฟื้นความสัมพันธ์การค้ากับซาอุฯในรอบ 20 ปี ระบุเป็นข่าวดี หลังต้องทำการค้าผ่านประเทศที่ 3 และไม่มีกิจกรรมส่งเสริมการค้าในซาอุฯมานาน สั่งทูตพาณิชย์สำรวจความพร้อมและศึกษากฎระเบียบการค้า เผย 8 เดือนแรกปีนี้ไทยส่งออกไปซาอุฯ 1,632 ล้านดอลล์ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 15% ขณะไทยขาดดุลติดต่อกัน 5 ปี จากกว่า 70% นำเข้านํ้ามันดิบ

[caption id="attachment_107133" align="aligncenter" width="700"] การค้าระหว่างประเทศของไทยกับซาอุดีอาระเบีย การค้าระหว่างประเทศของไทยกับซาอุดีอาระเบีย[/caption]

นางมาลี โชคล้ำเลิศ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์(พณ.) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ถึงกรณีที่รัฐบาลไทยและซาอุดิอาระเบียเตรียมรื้อฟื้นความสัมพันธ์ใหม่ในรอบ 20 ปีนั้น ถือเป็นเรื่องที่ดีและเป็นเรื่องที่จะต้องติดตาม แต่ในขณะนี้กรมยังไม่ได้รับคำสั่งให้ดำเนินการในด้านต่างๆที่เกี่ยวกับการค้ากับซาอุฯ ซึ่งคงต้องกลับไปดูในรายละเอียดการค้า การลงทุนใหม่ เพราะที่ผ่านมากิจกรรมต่างๆของกรมไม่สามารถจัดได้ในซาอุฯ ขณะที่การส่งออกไปซาอุฯนั้นต้องผ่านประเทศที่ 3

“หลังจากนี้จะให้สำนักงานทูตพาณิชย์ตรวจสอบดูว่าจะขยายการค้า การลงทุนระหว่างกันมีความเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน และจะดูกฎระเบียบของซาอุฯดิอาระเบียว่ามีการปลดล็อกได้เพียงใด เพราะที่ผ่านมาทั้งการค้าและกิจกรรมต่างๆไม่สามารถเข้าไปส่งเสริมได้เลย”

สำหรับมูลค่าการค้าระหว่างไทยกับซาอุฯในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (2554-2558)มีมูลค่าเฉลี่ยปีละ 10,198 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยที่ไทยเป็นฝ่ายขาดดุลการค้ามาโดยตลอดโดยในปี 2558 ไทยขาดดุลการค้าซาอุฯ 1,986.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ(ดูตารางประกอบ) โดยในปี2558 ซาอุฯเป็นคู่ค้าอันดับที่16 ของไทยในตลาดโลกและเป็นอันดับ2ในภูมิภาคตะวันออกกลาง การค้าทั้ง 2 ฝ่ายในปีที่ผ่านมามีมูลค่า 7,867.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลง 28% จากปี 2557 และมีสัดส่วนการค้าคิดเป็น 1.89% ของมูลค่าการค้าในภาพรวมของไทยกับทั่วโลก

ส่วนการค้าไทย-ซาอุฯในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2559 ปี 2559 ตั้งแต่เดือนมกราคม-สิงหาคม ตัวเลขการค้าทั้ง 2 ฝ่ายมีมูลค่า 4,611.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (คิดเป็นสัด 1.73% ของมูลค่าการค้าไทยกับทั่วโลก) ลดลงจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน15.8% โดยไทยเป็นฝ่ายส่งออกสินค้าไปซาอุฯมูลค่า 1,632.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน14.9% (การส่งออกสินค้าไทยไปซาอุฯในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา มีมูลค่าเฉลี่ย 2,818 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) และไทยเป็นฝ่ายนำเข้าจากซาอุฯ 2,978.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ไทยขาดดุลการค้าซาอุฯในช่วง 8 เดือนแรก 1,346.0 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 48,305 ล้านบาท)

ทั้งนี้สินค้าส่งออกสำคัญ 10 อันดับแรกของไทยไปซาอุดิอาระเบียในช่วง 8 เดือนปี 2558 ประกอบด้วย รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ, เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ ,ผลิตภัณฑ์ยาง,เครื่องจักรและส่วนประกอบของเครื่อง,อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป,ตู้เย็น ตู้แช่แข็งและส่วนประกอบ, ไม้และผลิตภัณฑ์ไม้,ข้าว,เครื่องซักผ้าและเครื่องซักแห้ง และเคมีภัณฑ์ ส่วนสินค้านำเข้าของไทยจากซาอุดิอาระเบีย 10 อันดับแรก ประกอบด้วย,น้ำมันดิบ(สัดส่วนมากกว่า 70% ของการนำเข้าสินค้าของไทยจากซาอุ),น้ำมันสำเร็จรูป,เคมีภัณฑ์, ปุ๋ยและยากำจัดศัตรูพืชและสัตว์, เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์, ก๊าซธรรมชาติ,ผ้าผืน,เยื่อกระดาษและเศษกระดาษ และเครื่องจักรกลและส่วนประกอบ

แหล่งข่าวจากกระทรวงพาณิชย์ เผยว่า การค้าระหว่างไทยและซาอุดิอาระเบียที่ผ่านมามีอุปสรรค เช่น ซาอุดิอาระเบียยังคงใช้มาตรการตอบโต้ไทยในการลดระดับความสัมพันธ์ทางการทูตเป็นระดับอุปทูต ซึ่งรัฐบาลซาอุดิฯ ยังมีท่าทีที่แข็งกร้าวในการกระชับความสัมพันธ์ จากเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับคดีเพชรซาอุ ทำให้ที่ผ่านมาไทยสูญเสียโอกาสในการขยายการค้าการลงทุนรวมทั้งสูญเสียตลาดแรงานที่ใหญ่ที่สุดของไทยในตะวันออกกลาง

และปัญหาสำคัญในการติดต่อการค้าระหว่างกันคือ ข้อจำกัดในการให้ตรวจลงตราแก่นักธุรกิจไทยทำให้การขยายช่องทางการติดต่อเพื่อเพิ่มมูลค่าการค้าอยู่ในวงจำกัด อย่างไรก็ตามผ่านมาผู้ประกอบการไทยเองต้องหาทางขยายตลาดซาอุฯ โดยเข้าร่วมงานแสดงสินค้าที่เมืองเจดดาห์และที่กรุงริยาดซึ่งเป็นช่องทางเดียวที่จะได้รับการตรวจลงตราจากฝ่ายซาอุฯ

“ซาอุดิอาระเบียถือว่าเป็นตลาดแรงงานขนาดที่ใหญ่ที่สุดของไทย ซึ่งจากสถิติของกรมแรงงานบางช่วงเคยมีแรงงานไทยสูงถึง 3 แสนคน มีรายได้เข้าประเทศเฉลี่ยปีละ 9,000 ล้านบาท แต่ปัจจุบันมีคนไทยที่อาศัยอยู่ในซาอุดิอาระเบียประมาณ 15,000 คน ส่วนใหญ่เป็นแรงงานเก่าก่อนเกิดปัญหาความสัมพันธ์และส่วนใหญ่เป็นแรงงานฝีมือ กึ่งฝีมือและงานคนในภาคบริการ เช่น ร้านอาหารไทย พนักงานธนาคาร และบริษัทห้างร้านต่างๆ ทั้งนี้แม้ว่าจะมีปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างกันแต่ทางซาอุฯก็ไม่ได้ปิดกั้นการติดต่อธุรกิจเพียงแต่ไม่ได้ให้การสนับสนุนหรือส่งเสริมเพิ่มเท่านั้น ”แหล่งข่าวกล่าว

Photo : Pixabay ภาพปกไม่เกี่ยวข้องกับเนื้อหา
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,202 วันที่ 20 - 22 ตุลาคม พ.ศ. 2559