แบรนด์ดังลุยออนไลน์ ชี้กระแสดีเว่อร์ช่องทางทำเงินเจาะคนรุ่นใหม่ ปั๊มรายได้เพิ่ม

20 ต.ค. 2559 | 02:00 น.
สินค้าแห่ลุยออนไลน์ หวังเพิ่มช่องทางสร้างรายได้ เครือสหพัฒน์ ส่ง “เอราวอน” ปูพรมตลาดกางเกงสแล็ก ล่าสุดออกสินค้ายีนส์บุกลูกค้าองค์กรผ่านเฟสบุ๊คและเว็บไซต์ ส่วน “บูติกนิวซิตี้” ตั้งทีมดิจิตอล มาร์เก็ตติ้ง พร้อมเปิดเว็บไซต์ รับสั่งตัดชุดยูนิฟอร์ม ขณะที่ “แม็ค” เผยหน้าร้านพื้นที่จำกัด โชว์สินค้าไม่สวย สบช่องเปิดตลาดผ่านออนไลน์ กระแสดีเว่อร์ ด้าน “เพลย์เฮ้าส์ฯ” พัฒนาแอพพลิเคชั่นบนสมาร์ทโฟนรับเทรนด์ตลาดขาขึ้น

นายชัยรัตน์ วัฒนโชติวัฒน์ กรรมการ บริษัท เซเลเบรท เว็ลธ จำกัด ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายสินค้าแฟชั่นแบรนด์ “เอราวอน” (era-won) เครือสหพัฒน์ เปิดเผยว่า นโยบายของเครือสหพัฒน์ต้องการขยายธุรกิจกางเกง จึงได้พัฒนาแบรนด์เอราวอนขึ้นมาทำตลาดตั้งแต่ปี 2555 โดยมุ่งเน้นทำตลาดผ่านช่องทางออนไลน์ควบคู่กับช่องทางห้างสรรพสินค้าอื่นๆ ซึ่งถือว่าได้รับผลตอบรับที่ดีโดยเฉพาะกลุ่มลูกค้าต่างจังหวัด ในช่วง 2 ปีแรกมียอดขายกางเกงมากถึง 2 แสนตัว ทำลายสถิติทุกแบรนด์กางเกงในเครือสหพัฒน์ ซึ่งยอดขายดังกล่าวบางแบรนด์ อาทิ แอร์โรว์ต้องใช้เวลาขายสินค้ามากถึง 10-15 ปี ปัจจุบันแบรนด์เอราวอนได้พัฒนาสินค้าใหม่ออกมาทำตลาดอย่างต่อเนื่อง ทั้งกลุ่มเสื้อเชิ้ตและกลุ่มสินค้าสตรี

นอกจากนี้ ในช่วงกลางปีที่ผ่านมาบริษัทยังได้ขยายตลาดไปสู่สินค้ากลุ่มยีนส์ ซึ่งหลังเปิดตัวช่วงกลางปีที่ผ่านมา ก็ได้ผลตอบรับที่ดีมียอดายกว่า 1,000 ตัวต่อเดือน จากการทำตลาดผ่านช่องออนไลน์ และล่าสุดยังขยายสินค้ากลุ่มยีนส์ไปยังกลุ่มลูกค้าองค์กร ที่ใช้ยีนส์เป็นชุดพนักงาน (ยูนิฟอร์ม) ด้วย ซึ่งที่ผ่านมาได้รับการตอบรับที่ดีมีคำสั่งซื้อตั้งแต่บริษัทละ 50-500 ตัว ทั้งบริษัทในธุรกิจเพลง ธุรกิจเอนเตอร์เทนเมนต์ ธุรกิจจำหน่ายสินค้า รวมถึงหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ ปัจจุบันมีลูกค้าที่อยู่ระหว่างรอการพัฒนาสินค้าให้กว่า 100 ราย

สำหรับกลยุทธ์ที่ถือว่าประสบความสำเร็จ นอกเหนือจากการผลิตสินค้าที่ตรงตามความต้องการของผู้บริโภคแล้ว การทำตลาดออนไลน์ร่วมกับพันธมิตรทางธุรกิจทำกิจกรรมออนไลน์ การซื้อสื่อโฆษณาออนไลน์ ก็ส่งผลให้ยอดขายของบริษัทเติบโตตามมาด้วย ปัจจุบันเฟสบุ๊คของเอราวอนมีแฟนเพจมากกว่า 3.5 แสนราย ซึ่งนอกจากการโปรโมตสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์แล้ว ในช่องทางเฟสบุ๊คบริษัทยังจัดกิจกรรมการตลาดอย่างต่อเนื่อง อาทิ การจัดโปรโมชั่นลดราคา 10-15% การจัดส่งสินค้าฟรี เป็นตัน นอกจากเฟสบุ๊คแล้ว บริษัทยังเปิดเว็บไซต์ www.erawonthailand.com ที่รวบรวมเอาสินค้าของเอราวอนทั้งหมดไว้ในที่เดียวด้วย ส่วนเป้าหมายยอดขายในปีนี้คาดว่าจะทำได้ 200 ล้านบาท และภายในปี 2563 คาดว่าจะทำยอดขายได้ 500 ล้านบาทต่อปี

ด้านนางประวรา เอคราพานิช กรรมการบริหาร บริษัท บูติคนิวซิตี้ จำกัด (มหาชน) ผู้นำเข้าและทำตลาดเสื้อผ้าแฟชั่นสตรี อาทิ แบรนด์กีลาโรช (Guy Laroche) จีเอสพี (GSP) และซีแอนด์ดี (C&D) เป็นต้น ในเครือสหพัฒน์ กล่าวว่า บริษัทให้ความสำคัญกับช่องทางออนไลน์ เนื่องจากเป็นโอกาสทางตลาด สอดคล้องกับพฤติกรรมผู้บริโภคในยุคปัจจุบัน รวมถึงเป็นการรับมือกับภาวะการแข่งขันของธุรกิจแฟชั่นในปัจจุบันที่รุนแรงด้วย จึงได้จัดทีมงาน “ดิจิตอล มาร์เก็ตติ้ง” ขึ้นมาดูแลอย่างจริงจัง เพื่อทำตลาดในช่องทางออนไลน์โดยเฉพาะ ล่าสุดยังได้นำธุรกิจรับสั่งตัดชุดยูนิฟอร์ม มาทำตลาดผ่านช่องทางออนไลน์ด้วย โดยเปิดเว็บไซต์ www.uniformbtnc.com เพื่อรับสั่งผลิตชุดยูนิฟอร์ม พร้อมกับปรับรูปแบบการทำตลาด ด้วยการรับสั่งผลิตขั้นต่ำเพียง 60 ตัว โดยบริษัทกำหนดแบบมาตรฐานและขนาดไว้ 4 ขนาด และสามารถปรับเปลี่ยนรูปแบบได้เล็กน้อย จากปกติที่จะรับสั่งผลิตสินค้าตั้งแต่ 500 ตัวขึ้นไป

ขณะที่นางสาวสุณี เสรีภาณุ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แม็คกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายกางเกงยีนส์ “แม็ค” (MC) กล่าวว่า ด้วยข้อจำกัดเรื่องของพื้นที่หน้าร้าน ทำให้บริษัทหันมาให้ความสำคัญกับช่องทางขายผ่านออนไลน์ เพราะสามารถนำเสนอสินค้าได้หลากหลายรูปแบบ โดยบริษัทจะเริ่มพัฒนาสินค้าและวางจำหน่ายเฉพาะช่องทางออนไลน์เป็นหลัก โดยเริ่มจากแบรนด์แม็ค พลัส ผลิตภัณฑ์ยีนส์สำหรับสาวอวบ

“การเน้นวางจำหน่ายผ่านช่องทางออนไลน์ เนื่องจากมีข้อจำกัดในพื้นที่ขายหน้าร้าน อีกทั้งการโชว์สินค้าจะไม่โดดเด่น และสวยงามเมื่อเทียบกับไซซ์ปกติ ขณะที่ภาพรวมของบริษัทในอนาคตจะเน้นการทำตลาดผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้น รวมทั้งใช้กลยุทธ์ออมนิ มาร์เก็ตติ้ง เช่น การดูสินค้าหน้าร้าน และสั่งซื้อสินค้าผ่านทางแทปเลต หรือการสั่งซื้อสินค้าผ่านทางแทปเลต และเลือกรับสินค้าที่ช้อป หรือจะจัดส่งไปที่บ้านก็ได้”

นางสาวแพรพรรณ ธรรมวัฒนะ กรรมการบริหาร บริษัท เพลย์เฮ้าส์ จำกัด ผู้บริหารร้านของเล่น และการ์ตูนคาแรคเตอร์ลิขสิทธิ์ “เพลย์เฮ้าส์” กล่าวว่า บริษัทมีแผนในการขยายช่องทางจำหน่ายไปยังรูปแบบแอพพลิเคชั่นบนสมาร์ทโฟนเพื่อให้สามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้มากขึ้น เนื่องจากปัจจุบันประชาชนหันมาใช้สมาร์ทโฟนมากขึ้นส่งผลให้ช่องทางแอพพลิเคชั่นสามารถเข้าถึงและได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นตามไปด้วย สวนทางกับช่องทางการจำหน่ายผ่านเว็บไซต์ไม่เป็นที่นิยมของกลุ่มลูกค้าในระยะหลังเมื่อเทียบกับในอดดีตที่ใช้งานผ่านคอมพิวเตอร์ เนื่องจากช่องทางแอพลิเคชั่นมีความสะดวกสบายกว่าและง่ายต่อการใช้งาน

ทั้งนี้ทำให้บริษัทต้องหันมาปรับตัวเพื่อรองรับการเติบโตในช่องทางดังกล่าวด้วยการพัฒนาแอพพลิเคชั่นเพลย์เฮ้าส์ เพื่อใช้เป็นช่องทางในการเข้าถึงผ่านทางบนโทรศัพท์มือถือ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการพัฒนาแล้วเสร็จกว่า 90% ซึ่งจะเปิดให้ดาว์นโหลดฟรีบนโทรศัพท์มือถือได้ภายในปีนี้ ขณะที่แนวทางการทำตลาดของบริษัทนับจากนี้จะให้ความสำคัญกับการจัดแคมเปญและกิจกรรมส่งเสริมการขายในรูปแบบต่างๆ ทั้งการออกบูธจำหน่ายสินค่าในรูปแบบป็อปอัพสโตร์ตามโรงภาพยนตร์ต่างๆในช่วงที่มีการ์ตูนคาร์แร็คเตอร์ออกมาล้อกับภาพยนตร์ที่ฉาย ภายใต้งบประมาณทางการตลาด 10-15 ล้านบาท

นอกจากนี้ยังเตรียมแผนในการขยายสาขาร้านเพลย์เฮ้าส์เพิ่มอีก 1 แห่ง จากปัจจุบันที่มีอยู่ 1 สาขาที่ศูนย์การค้าสยามสแคว์วัน โดยสาขาใหม่ที่จะเปิดต่อจากนี้ คาดว่าจะเปิดในพื้นที่ชานเมือง หรือในหัวเมืองท่องเที่ยว ซึ่งอยู่ระหว่างพิจารณาอยู่ 2 ทำเล คือ โซนตะวันออกของกรุงเทพฯ และย่านรังสิต คาดว่าจะเปิดให้บริการได้ในช่วงปีหน้า ภายใต้งบประมาณการลงทุนเบื้องต้นคาดว่าไม่เกิน 10 ล้านบาท โดยวางเป้าหมายเพื่อต้องการเจาะกลุ่มลูกค้าชาวไทยและนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่เดินทางท่องเที่ยว

พร้อมกันนี้ยังจะให้ความสำคัญกับการพัฒนาและสร้างคาแรคเตอร์การ์ตูนภายใต้ลิขสิทธิ์ของตัวเองมาอย่างต่อเนื่อง หรือปีละ 1-2 คาแรคเตอร์ ซึ่งเป็นการร่วมกับมือกับพาร์ทเนอร์ต่างๆ โดยเฉพาะนักดีไซน์เนอร์คาร์แรคเตอร์ระดับโลก รวมถึงค่ายผู้ผลิตของเล่นชั้นนำต่างๆ ภายใต้แผนงานที่วางไว้ว่าจะพัฒนาให้ได้อย่างน้อยปีละ 6-7 คาแรคเตอร์ ปัจจุบันมีคาแรคเตอร์ที่พัฒนาขึ้นเอง ได้แก่ ทศกัณฐ์,หนุมาน และน้องควาย ซึ่งได้การตอบรับอย่างดีจากกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,202 วันที่ 20 - 23 ตุลาคม พ.ศ. 2559