เรียงร้อย‘ดวงตราไปรษณียากร’ พระราชกรณียกิจในหลวง70 ปี 70 ชุด

20 ต.ค. 2559 | 05:00 น.
ธ สถิตอยู่ในใจไทยทั้งปวง วลีที่คนไทยคุ้นหูกันดีด้วยพระราชกรณีกิจและพระปรีชาสามารถของสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ตลอดระยะเวลา 70 ปีที่ทรงครองสิริราชสมบัติเพื่อบำบัดทุกข์บำรุงสุขให้แก่พสกนิกรทุกหมู่เหล่าทรงทุ่มเททั้งพระวรกายและพระปรีชาสามารถเพื่อพัฒนาให้พสกนิกรของพระองค์ได้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ดังนั้นหลายหน่วยงานจึงได้มีการจัดทำผลงานหรือสิ่งของที่ระลึกเพื่อร่วมสร้างการระลึกถึงพระมหากษัตริย์ที่ยิ่งใหญ่ของปวงชนชาวไทยอยู่เสมอโดยที่ผ่านมา พระราชกรณียกิจและพระปรีชาสามารถของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ได้รับการถ่ายทอดผ่านดวงตราไปรษณียากรจำนวนมากเพื่อให้พสกนิกรได้ซาบซึ้งถึงพระมหากรุณาธิคุณอันล้นพ้น

[caption id="attachment_107229" align="aligncenter" width="700"] ฉลองสิริราชสมบัติ 50 ปี ชุด 2 ฉลองสิริราชสมบัติ 50 ปี ชุด 2[/caption]

ตีพิมพ์กว่า 2 พันล้านดวง

นายวิบูลย์ เสรีชัยพร ผู้จัดการฝ่ายตลาดไปรษณียากร บริษัท ไปรษณีย์ไทยจำกัด หรือ ปณท. เปิดเผยว่า ปณท. ได้จัดทำตราไปรษณียากรขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชตลอด 7 ทศวรรษที่ผ่านมาของพระองค์มีจำนวนทั้งสิ้น 70 ชุด 349 แบบจำนวนพิมพ์กว่า 2 พันล้านดวงโดยสามารถจำแนกกลุ่มการจัดทำได้ดังนี้ ตราไปรษณียากรพระบรมฉายาลักษณ์ 10 ชุดหรือการจัดทำแสตม์ทั่วไป (definitive stamp) ซึ่งโดยปกติจะจัดทำเป็นพระบรมฉายาลักษณ์ในพระมหากษัตริย์ของประเทศโดยจัดทำขึ้นชุดแรกเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 เมื่อปี2490 ในชื่อชุดชุดพระบรมฉายาลักษณ์ร.9 ชุด 1 (สยาม)และ หลังจากนั้นมีการจัดทำขึ้นอย่างต่อเนื่องอีกจำนวน 9 ชุดได้แก่ชุดปีพ.ศ2494 พ.ศ.2504 พ.ศ. 2506 พ.ศ. 2515 พ.ศ. 2516 พ.ศ. 2523 พ.ศ. 2531พ.ศ.2539จนถึงชุดสุดท้ายในปีพ.ศ. 2553 รวมทั้งสิ้น 10 ชุดชุดที่ 10 คือเมื่อปีพ.ศ 2553

[caption id="attachment_107231" align="aligncenter" width="500"] ฉลองสิริราชสมบัติ 60 ปี ชุด2 ฉลองสิริราชสมบัติ 60 ปี ชุด2[/caption]

ตราไปรษณียากรฉลองครบรอบพระชนมายุจำนวน 24 ชุดเป็นการจัดทำตราไปรษณียากรขึ้นเพื่อเฉลิมฉลองวันคล้ายวันพระราชสมภพ 5ธันวาคม ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 โดยเริ่มต้นจัดทำชุดแรกในวโรกาสที่ทรงสามารถใช้สิทธิตามกฎหมาย เมื่อทรงพระชนมายุ 20พรรษา และจากนั้นมีการจัดทำทุก1 รอบ (12ปี) ในปีพ.ศ. 2506 พ.ศ. 2518 พ.ศ. 2530 พ.ศ. 2542 พ.ศ. 2554 ซึ่งหลังจากชุดปี พ.ศ. 2554 ก็จัดทำขึ้นเป็นประจำทุกปีและชุดสุดท้ายคือ ชุดที่ระลึกวันเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเมื่อพระชนมายุ 88 พรรษา ในปี พ.ศ. 2558

นอกจากนี้ยังมี ตราไปรษณียากรพระราชพิธีฉลองสิริราชสมบัติ 13 ชุดตราไปรษณียากรที่ระลึกเพื่อเฉลิมฉลองวโรกาสพระราชพิธีฉลองสิริราชสมบัติในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 โดยจัดทำขึ้นครั้งแรกในวโรกาสที่ระลึกพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ในปี พ.ศ. 2493 และจากนั้นเป็นการจัดทำตราไปรษณียากรที่ระลึกในวโรกาสครองสิริราชสมบัติครบ 25 ปีในชื่อชุด ที่ระลึกรัชดาภิเษก และชุดครบรอบ 28ปี 50 ปี จนถึงชุดสุดท้ายครบรอบ 60 ปีที่จัดทำขึ้นในปีพ.ศ. 2553

ตราไปรษณียากรพระราชกรณียกิจและพระอัจฉริยภาพ 5 ชุดเป็นการจัดทำตราไปรษณียากรขึ้นเพื่อให้ประชาชนได้ตระหนักถึงพระราชกรณียกิจที่ทรงทุ่มเทปฏิบัติด้วยพระอัจฉริยภาพเพื่อให้เกิดประโยชน์อันสูงสุดแก่คนไทยและประเทศไทยโดยชุดแรกที่จัดทำคือตราไปรษณียากรที่ระลึกโครงการที่ดำเนินการตามพระราชดำริเพื่อเผยแพร่ให้ความรู้เกี่ยวกับโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริและชุดอื่นๆได้แก่ ที่ระลึกพระราชอัจฉริยภาพด้านโทรคมนาคม ที่ระลึกการเกษตรทฤษฎีใหม่ ที่ระลึกพระบิดาแห่งมาตรฐานการช่างไทย และชุดสุดท้ายชื่อชุด ที่ระลึกพระผู้ทรงเป็นครูแห่งแผ่นดินเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ในพระราชกรณียกิจด้านการศึกษา ที่จัดทำขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2555

[caption id="attachment_107230" align="aligncenter" width="333"] ที่ระลึกพระผู้ทรงเป็นครูแห่งแผ่นดิน ที่ระลึกพระผู้ทรงเป็นครูแห่งแผ่นดิน[/caption]

ตราไปรษณียากรราชาภิเษกสมรส 4 ชุด ตราไปรษณียากรที่ระลึกเพื่อร่วมบันทึกความประทับใจและร่วมเฉลิมฉลองวโรกาสราชาภิเษกสมรสระหว่างพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ โดยจัดทำชุดแรกคือตราไปรษณียากรที่ระลึกราชาภิเษกสมรส 15 ปีในปีพ.ศ. 2508 และครบรอบ25ปี 50ปี และ 60 ปี โดยมีไฮไลท์เป็นชุดพิเศษคือตราไปรษณียากรที่ระลึก 60 ปีราชาภิเษกสมรสซึ่งประดับด้วยคริสตัลแท้จากออสเตรียเป็นภาพ 2 ชุดพระบรมสาทิสลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชและสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถที่ทรงฉายไว้เมื่อครั้งพระราชพิธีราชาภิเษกสมรสพื้นแบคกราวน์สีชมพูและพระบรมสาทิสลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถในพระชนมพรรษาปัจจุบัน พื้นแบคกราวน์สีเหลืองประดับด้วยวัสดุทางการพิมพ์เป็นภาพเพชรรูปหัวใจจำนวน 6 เม็ด

ตราไปรษณียากรที่ระลึกอื่นๆที่เกี่ยวข้อง 17 ชุด เป็นตราไปรษณียากรที่จัดทำขึ้นเนื่องในวโรกาสต่างๆโดยแต่ละชุดล้วนแสดงถึงพระปรีชาสามารถของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ทั้งสิ้นและเป็นพระราชกรณียกิจและพระราชอัจฉริยภาพที่มีความสำคัญต่อประชาชนชาวไทยและประเทศไทย อาทิตราไปรษณียากรที่ระลึกเอเชี่ยนเกมส์ครั้งที่ 6 ตราไปรษณียากรที่ระลึกงานชุมนุมลูกเสือแห่งชาติครั้งที่ 9 พ.ศ. 2520 ตราไปรษณียากรที่ระลึกงานสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปีตราไปรษณียากรที่ระลึกครบรอบ 100 ปีธนบัตรไทยตราไปรษณียากรที่ระลึก 100 ปีงานวิจัยข้าวไทย

ทั้งนี้การจัดสร้างตราไปรษณียาการที่เกี่ยวข้องกับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทุกชุดนั้น ไปรษณีย์ไทยใส่ใจทุกรายละเอียดในการออกแบบ รวมถึงยังประยุกต์ใช้เทคโนโลยีการพิมพ์ที่ทันสมัย เพื่อให้ตราไปรษณียากรที่ระลึกดังกล่าวให้มีความเหมาะสมกับการอัญเชิญพระบรมฉายาลักษณ์หรือพระบรมสาทิสลักษณ์เพื่อจัดทำตราไปรษณียากร โดยตัวอย่างของตราไปรษณียากรพิเศษ ได้แก่ ตราไปรษณียากรชุดที่ระลึกมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 5 รอบ จัดทำขึ้นโดยใช้เทคนิคการปั๊มทองคำแท้ดุนนูน ตราไปรษณียากรชุดที่ระลึก 60 ปี ราชาภิเษก ที่มีการใช้เทคนิคประดับวัสดุทางการพิมพ์เป็นภาพเพชรรูปหัวใจจำนวน 6 เม็ด และยังมีเทคนิคพิเศษต่างๆอีกมากมาย อาทิ การปั๊มดุนนูน เคลือบเงา ปั๊มฟอยล์ทอง เงิน นาก พิมพ์แบบสามมิติ ฮาโลแกรม รวมไปถึงการใช้วัสดุพิเศษเพิ่มเติมให้ตราไปรษณียากรมีคุณค่ามากขึ้น อาทิ คริสตัล ทองคำ เมล็ดข้าวเปลือก

100 ปีงานวิจัย

อย่างไรก็ตามตราไปรษณียากรเฉลิมพระเกียรติชุดล่าสุดและถือเป็นชุดสุดท้ายที่จัดทำขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 คือชุด 100 ปีงานวิจัยข้าวไทยกำหนดออกจำหน่ายเมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2559 ซึ่งเป็นภาพพระบรมฉายาลักษณ์ของพระพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถเมื่อครั้งเสด็จพระราชดำเนินไปยังพระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระสุริโยทัย ทุ่งมะขามหย่อง จังหวัดพระนครศรีอยุธยาเพื่อทรงเกี่ยวข้าวในนาที่ใช้น้ำจากอ่างเก็บน้ำในพื้นที่รอบพระราชานุสาวรีย์ฯ ตามโครงการส่งเสริมอาชีพปลูกข้าวนาปรังเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2539 แสตมป์ชุดนี้เป็นชนิดราคา 3 บาทเต็มแผ่น 10 ดวง 30 บาทซองวันแรกจำหน่าย 11 บาทส่วนจะมีการจัดทำตราไปรษณียากรที่ระลึกพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่9 อีกหรือไม่นั้นต้องพิจารณาตามวโรกาสที่เหมาะสมต่อไป

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,202 วันที่ 20 - 23 ตุลาคม พ.ศ. 2559