โครงข่ายเชื่อมโทลล์เวย์/ด่วนศรีรัช-วงแหวนรอบนอก ร่นระยะทางสู่จุดหมายได้รวดเร็ว

19 ต.ค. 2559 | 09:00 น.
โครงข่ายเชื่อมทางยกระดับอุตราภิมุข (ดอนเมืองโทลล์เวย์) โทลเวลล์)กับทางด่วนศรีรัช-วงแหวนรอบนอก ด้านตะวันตก จะมีการก่อสร้างทางเชื่อมพิเศษด้านเหนือ(มุ่งหน้าแจ้งวัฒนะ) ระยะทาง 140 เมตร วงเงินลงทุนราว 275 ล้านบาทเพิ่มเข้ามาด้วย โครงการนี้สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร(สนข.) อยู่ระหว่างการเร่งรัดที่ปรึกษาที่ประกอบไปด้วยบริษัท เอพซิลอน จำกัด บริษัทอินเตอร์เนชั่นแนล เอ็นจิเนียริ่ง คอนซัลแต้นส์ จำกัด บริษัท ดีเคด คอนซัลแตนท์ จำกัด และบริษัท แมคโครคอนซัลแตนท์ จำกัด ดำเนินการศึกษาความเหมาะสมทางวิศวกรรมและออกแบบรายละเอียดเพื่อให้โครงข่ายทางเชื่อมระหว่างทางยกระดับอุตราภิมุขและทางพิเศษศรีรัช-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครพัฒนาโครงข่ายอย่างเป็นระบบ ร่นระยะทางสู่จุดหมายเชื่อมต่อปลายทางได้รวดเร็ว เพื่อให้เป็นการบรรเทาปัญหาจราจรของพื้นที่เขตเมืองในกรุงเทพฯที่จะทำให้โครงข่ายถนนและทางพิเศษ(ทางด่วน)สามารถเชื่อมโยงได้อย่างเป็นระบบ เสริมโครงข่ายให้สอดรับกับความต้องการเดินทางได้อย่างสะดวกและลดความแออัด คับคั่งของปริมาณจราจรในเขตเมือง

[caption id="attachment_106526" align="aligncenter" width="700"] ทางเชื่อมระหว่างดอนเมืองโทลล์เวย์กับทางด่วนศรีรัช-วงแหวนรอบนอกกทม. ทางเชื่อมระหว่างดอนเมืองโทลล์เวย์กับทางด่วนศรีรัช-วงแหวนรอบนอกกทม.[/caption]

โครงการนี้เริ่มดำเนินการศึกษามาตั้งแต่เดือนมกราคม กำหนดแล้วเสร็จเดือนกรกฎาคม 2559 ที่ผ่านมา โดยจุดเริ่มต้นโครงการซึ่งเป็นจุดเชื่อมต่อกับทางยกระดับอุตราภิมุข ตั้งอยู่บนพื้นที่ช่วงทางแยกต่างระดับรัชวิภา(จุดตัดถนนวิภาวดีรังสิตกับถนนรัชดาภิเษก) ซึ่งมีพื้นที่ที่เป็นของหน่วยงานกรมทางหลวง กรุงเทพมหานคร และการรถไฟแห่งประเทศไทย โดยจะก่อสร้างให้เป็นรูปแบบทางแยกต่างระดับ แนวเส้นทางโครงการจะวางตัวตามแนวถนนกำแพงเพชร 2 เพื่อลดผลกระทบจากการเวนคืน โดยมีด่านจัดเก็บค่าผ่านทางซึ่งเปลี่ยนระบบระหว่างทางพิเศษศรีรัช-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร กับทางยกระดับอุตราภิมุข ส่วนจุดสิ้นสุดโครงการจะอยู่บริเวณจุดเชื่อมต่อกับทางพิเศษศรีรัช-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร ที่ปัจจุบันเปิดให้บริการแล้วโดยการทางพิเศษแห่งประเทศไทยเป็นเจ้าของโครงการ

ล่าสุดนั้นนายพีระพล ถาวรสุภเจริญ รองปลัดกระทรวงคมนาคมได้สั่งให้สนข.ไปศึกษาแนวทางการให้เอกชนร่วมลงทุนโครงการดังกล่าวนี้ให้ได้ข้อสรุปภายในเดือนพฤศจิกายนนี้ หลังจากนั้นจะเสนอสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ(สคร.)พิจารณาตามขั้นตอนต่อไป คาดว่าจะใช้ระยะเวลาก่อสร้าง 3 ปี(2561-2563) โดยโครงข่ายเชื่อมโทลล์เวย์กับทางด่วนศรีรัช-วงแหวนรอบนอก ด้านตะวันตก ระยะทางประมาณ 3 กิโลเมตร และทางเชื่อมพิเศษด้านเหนือ(มุ่งหน้าแจ้งวัฒนะ) ระยะทาง 140 เมตรคาดว่าจะใช้งบราว 6,000 ล้านบาท

แม้จะมีระยะทางสั้นๆไม่ถึง 10 กิโลเมตรแต่ก็ยังต้องมีลุ้นว่าท้ายที่สุดแล้วหน่วยงานไหนจะเป็นเจ้าภาพรับไปดำเนินการ ใช้งบประมาณจากไหน จำนวนเท่าไหร่ และจะเริ่มก่อสร้างได้เมื่อใด ส่วนเมื่อเปิดให้บริการแล้วจะเพิ่มประสิทธิภาพการจราจรทั้งโครงข่ายทางด่วนและถนนด้านล่าง รวมทั้งการเชื่อมต่อระหว่างพื้นที่กรุงเทพฯด้านตะวันตกกับกรุงเทพฯด้านเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือได้มากน้อยเพียงใดต้องติดตามกันต่อไป คาดว่าปี 2560 คงมีคำตอบจากกระทรวงคมนาคมว่าจะตั้งงบไปดำเนินการในปี 2561 หรือ ปี2562 โปรเจ็กต์นี้ต้องติดตาม

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,201 วันที่ 16 - 19 ตุลาคม พ.ศ. 2559