ทิศทางสหรัฐฯขึ้น-ไม่ขึ้นดอกเบี้ย

18 ตุลาคม 2559
ข่าวเกี่ยวกับเฟดหรือธนาคารกลางสหรัฐอเมริกาจะปรับขึ้นดอกเบี้ยหรือไม่ นี่ยังเป็นคำถามที่น่าสนใจ เพราะอาจจะปรับขึ้นหรือไม่ขึ้น ก็มีโอกาสทั้งในเดือนพฤศจิกายน หรือเดือนธันวาคม (หลังได้ประธานาธิบดีคนใหม่แห่งสหรัฐอเมริกาไปแล้ว) โดยเฟดสาขาคลิฟแลนด์บอกเสมอว่าน่าจะปรับขึ้นดอกเบี้ยได้แล้ว และการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯไม่มีผลต่อการตัดสินใจของคณะกรรมการ FOMC ของเฟด โดยนางกล่าวว่า ตัวเลขการจ้างงานของสหรัฐถึงแม้ต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ แต่ก็ยังคงถือว่ามีความแข็งแกร่งเพียงพอที่จะทำให้เฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยได้

สำนักข่าวรอยเตอร์สบอกว่า ตัวเลขการจ้างงานที่แข็งแกร่งของสหรัฐฯ ในเดือนที่แล้ว ทำให้เกิดความคาดหมายมากขึ้นว่าระบบธนาคารกลางสหรัฐฯหรือเฟด น่าจะมีการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายก่อนสิ้นปีนี้ โดยผู้ตอบแบบสอบถามจากสถาบันการเงินใน Wall Street 14 ราย จากทั้งหมด 15 ราย ในการทำสำรวจโดยรอยเตอร์ส พยากรณ์ว่าการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของระบบธนาคารกลางสหรัฐฯ น่าจะมีขึ้นที่การประชุมเดือนธันวาคมนี้ Brett Ryan นักวิเคราะห์จากธนาคาร Deutsche Bank กล่าวในรายงานของรอยเตอร์สว่า ธนาคารของตนเห็นว่าการขึ้นดอกเบี้ยน่าจะเกิดขึ้นในเดือนธันวาคม ซึ่งเป็นไปตามกับที่เฟดเคยคาดหมายไว้ ในขณะที่นักวิเคราะห์จำนวนหนึ่งกล่าวว่า ยังมีความเป็นไปได้อยู่บ้างที่ เฟดจะขึ้นดอกเบี้ยที่การประชุมวันที่ 1-2 พฤศจิกายน แต่หากดูความไม่แน่นนอนทางการเมืองของสหรัฐฯ ระบบธนาคารกลางน่าจะชะลอการตัดสินใจเรื่องนโยบายดอกเบี้ยไปจนกว่าการประชุมเดือนธันวาคม หลังการเลือกตั้งประธานาธิบดี และถ้ามองไกลออกไปถึงปีหน้า นักวิเคราะห์สองในสามที่ตอบแบบสอบถามของรอยเตอร์สกล่าวว่า น่าจะมีการขึ้นดอกเบี้ยโดยเฟดอย่างน้อย 2 ครั้งในปี 2017

สรุปแล้วเสียงจากนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่มองว่าอาจมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือนธันวาคมศกนี้มากกว่าที่จะปรับในต้นเดือนพฤศจิกายนศกนี้ ทั้งหมดนี้ยังเป็นความเห็นครับ เพราะมีความเป็นไปได้ที่เฟดเองอาจลงความเห็นไม่ปรับขึ้นดอกเบี้ยไม่ว่าต้นเดือนพฤศจิกายนหรือเดือนธันวาคมก็ได้ คือ ถ้าขึ้นดอกเบี้ยแล้วก็คาดหวังว่าเงินทุนจะไหลเข้าสหรัฐฯมากขึ้น ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯแข็งค่าขึ้น แต่การขึ้นดอกเบี้ยก็มีผลทำให้ตราสารต่างๆ ที่คนอเมริกันลงทุนไว้แล้วมีราคาลดลง ดังนั้น เชื่อว่าเฟดคงจะตรึงดอกเบี้ยให้อยู่ในระดับเดิม เพราะความเสี่ยงเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกายังคงมีอยู่ ทั้งปัญหาความเสี่ยงภายในประเทศและความเสี่ยงจากปัญหาภายนอก ไม่ว่าเศรษฐกิจจีน เศรษฐกิจญี่ปุ่น เศรษฐกิจภาคพื้นยุโรป โดยเฉพาะจีนนั้นต้องเล็งให้ดี ปีที่แล้วฟองสบู่ตลาดหุ้นในจีนแตกแล้ว นักลงทุนหุ้นที่เคยร่ำรวยเดี๋ยวนี้ม้วนเสื่อกลับบ้านเก่กัน ขณะที่อสังหาฯของจีนมีแนวโน้มจะถึงจุดอิ่มตัวพร้อมที่จะทรุดตัวลงดังจะเห็นได้จากราคาอสังหาฯในหัวเมืองใหญ่ราคาพุ่งขึ้นไปมาก แต่หัวเมืองทั่วไปราคากับลดต่ำลง รวมถึงธุรกิจอสังหาฯจีนได้รุกไปลงทุนในที่ต่าง ๆ เพื่อกระจายความเสี่ยงกันแล้ว รวมทั้งมีเข้ามาลงทุนด้านธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในไทยด้วย

ผมว่าเจเน็ตเยนเลน น่าคงคงแนวคิดเดิมเรื่องระปรับดอกเบี้ยหรือไม่ คือ เธอจะมองปัญหาความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นกับเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกามากกว่าจะมองปัญหาเงินเฟ้อภายในประเทศ ซึ่งขณะนี้ก็อยู่ในระดับใกล้เคียงกับเป้าหมายเดิมที่ตั้งไว้ และว่าหากตัวเลขแตะถึงก็มีโอกาสที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย แต่ตัวเยนเลนเองมองว่าปัญหาเงินเฟ้อยังเป็นปัญหาที่มีทางออก เพราะหากเงินเฟ้อขึ้นชัดเจนก็ค่อยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยก็ได้ เป็นเรื่องที่ทำได้ไม่ยาก แต่หากเศรษฐกิจสหรัฐฯทรุดลงไปอีกตามทิศทางเศรษฐกิจโลก อย่างนี้เป็นปัญหาที่หนักกว่า และก็เห็นตัวอย่างของการใช้มาตรการคิวอีของญี่ปุ่นไปแล้วว่า ท้ายที่สุดคิวอีก็ไม่อาจช่วยให้เศรษฐกิจญี่ปุ่นฟื้นขึ้นมาอย่างต่อเนื่องได้ และอัตราดอกเบี้ยสหรัฐฯทุกวันนี้ก็อยู่ในระดับต่ำมากแล้ว และหากเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาตกต่ำลงอีกรอบ เมื่อถึงตอนนั้นก็ยากที่จะหาหนทางแก้ไขปัญหาได้ง่ายๆ นั่นเอง

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,201 วันที่ 16 - 19 ตุลาคม พ.ศ. 2559