สทบ.วอนรัฐเดินหน้าระยะ 2 ลงทุนต่อปลุกศก.ฐานราก

18 ตุลาคม 2559
15 ปีของกองทุนหมู่บ้านกว่า 7 หมื่นกองทุนทั่วประเทศ เพื่อเป็นสถาบันการเงินของชุมชน ที่บริหารจัดการโดยคนในพื้นที่ โดยมีสำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ(กทบ.) เป็นหน่วยงานอำนวยการนั้น ทำหน้าที่ธนาคารปล่อยกู้และรับฝากเงินออมแก่สมาชิกกว่า 13.8 ล้านคน แล้วนั้น ล่าสุดตามแผนขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากตามแนวทางประชารัฐ รัฐบาลตั้งงบ 3.5 หมื่นล้านบาท ให้กองทุนไปใช้ทำโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจระดับฐานราก เฉลี่ยกองทุนละ 5 แสนบาท "นที ขลิบทอง" ผู้อำนวยการ สทบ. ชี้ กองทุนเข้มแข็งและพร้อมผลักดันมาตรการของรัฐอย่างเต็มประสิทธิภาพ เสนอให้เดินหน้าลงทุนเศรษฐกิจฐานราก ระยะที่ 2 ต่อ มีรายละเอียดต่อไปนี้

 ปีหน้าเห็นผลทั่วประเทศ

รัฐบาลตั้งงบ 3.5 หมื่นล้านบาท ให้กองทุนนำไปลงทุน ไม่ใช่เงินไปให้กู้ยืมอย่างเดิม เฉลี่ยกองทุนละ 5 แสนบาท ในโครงการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก ซึ่งเปิดโครงการเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2559 ได้รับเงินโอนจากสำนักงบฯปลายเดือนมีนาคม เงินทยอยถึงกองทุนในเดือนถัดมา และเมื่อสิ้นสุดเดือนกันยายนนี้ มีกองทุนรับโอนไปดำเนินโครงการได้ทั้งสิ้น 64,909 กองทุน หรือกว่า 90 % อย่างไรก็ตามมีมติครม.ให้ขยายโครงการนี้ไปถึงวันที่ 30 พฤศจิกายนนี้ ซึ่งเชื่อมั่นว่า ที่เหลืออีก3,000 ล้านบาทนั้นน่าจะเบิกใช้ได้ทั้งหมด สะท้อนว่ากองทุนหมู่บ้านที่ตั้งมา 15 ปี มีตัวตนทำงานได้และพร้อมรองรับมาตรการภาครัฐได้อย่างเข้มแข็ง

โดยที่โครงการลงทุนของกองทุนเป็นตัวเสริมการให้สมาชิกกู้เป็นรายคน เพื่อนำไปประกอบอาชีพต่าง ๆ ซึ่งเมื่อทำการผลิตแล้วต้องการหาตลาด หรือแปรรูปเพิ่มมูลค่า แต่ละคนไม่ต้องลงทุนเอง เปลี่ยนมาให้กองทุนลงทุนแล้วให้สมาชิกเช่าไปใช้งาน

ทั้งนี้ โครงการลงทุนเพื่อเศรษฐกิจฐานรากนี้ตรงจุดกับความต้องการของชุมชนจริง เพราะเขาเป็นคนเสนอกันเอง และมั่นใจได้ว่าจะไม่รั่วไหล ไม่หายไปไหน เพราะกองทุนตั้งมา 15 ปี เป็นนิติบุคคล มีธุรกรรมปล่อยกู้แก่สมาชิกที่ต้องติดตามต่อเนื่องกันอยู่แล้ว อีกทั้งยังสร้างประโยชน์โดยส่วนรวม ต่างจากการให้สินเชื่อที่ประโยชน์เกิดเป็นรายบุคคล ผลที่ได้จึงมีมากกว่า

โดยที่โครงการนี้เริ่มดำเนินการมา 4-5 เดือน บางแผนงานขึ้นโครงการแล้ว กำลังเริ่มดำเนินการ และเริ่มเกิดดอกออกผลงอกเงยขึ้นบ้างแล้ว และน่าจะเห็นผลอย่างชัดเจนทั่วถึงกันทั้งประเทศตั้งแต่ปลายปีนี้ หรืออย่างแน่นอนในปีหน้า

 ขึ้นร้านค้าพรึบ"สมคิด"สั่งต่อยอด

รศ.นทีกล่าวอีกว่า ในกว่า 6.4 หมื่นกองทุนนั้น เสนอทำร้านค้าถึง 1.8 หมื่นแห่งทั่วประเทศ สะท้อนว่าในระดับชุมชนเขาผลิตแล้วไม่มีที่ขาย จึงขอเปิดร้านค้าประชารัฐมากเป็นอันดับ 1 ซึ่งรองนายกฯสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ให้นโยบายต่อยอด นำหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปช่วยพัฒนายกระดับร้านค้าประชารัฐเหล่านี้แล้ว

โดยกระทรวงพาณิชย์ให้ช่วยอบรมด้านการตลาด และนำสินค้าต้นทุนถูกเข้าร้านค้า เกิดการซื้อขายหมุนเวียน มีการจ้างงานในพื้นที่ ขณะเดียวกันให้ร้านเป็นจุดขายให้ชุมชน โดย ใช้บริษัท ไปรษณีย์ไทยฯ เป็นโลจิสติกส์ และเชื่อมโยงให้ 1.8 หมื่นร้านเชื่อมโยงกันแทนที่จะแข่งขันกันเอง บัตรสมาชิกของกองทุนที่สงขลา ใช้ที่กองทุนจังหวัดเชียงใหม่ได้
ได้ประสานกระทรวงไอซีที ให้ใช้ระบบเดียวกันเพื่อเชื่อมโยงกันได้ รวมทั้งเสนอให้ร้านค้ากองทุนเป็นจุดรองรับอินเตอร์เน็ตหมู่บ้าน ซึ่งต้องรอความพร้อมของกระทรวงดิจิทัลฯก่อน

เพื่อความยั่งยืน เป้าหมายคือสินค้าชุมชนที่ต้องได้มาตรฐาน ผอ.สทบ.กล่าวขยายความว่า มีโครงการจัดทำมาตรฐานสทบ.สำหรับสินค้าชุมชนขึ้น โดยการวางหลักเกณฑ์และตรวจสอบโดยหน่วยงานด้านมาตรฐาน ซึ่งได้ประสานกับทั้งสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) และสำนักงานมาตรฐานสินค้าอุตสาหกรรม(มอก.) เพื่อให้ช่วยออกเกณฑ์มาตรฐานแบบขั้นบันได เพราะสินค้าชุมชนคงไม่สามารถขึ้นถึงมาตรฐานระดับมหาวิทยาลัยได้ แต่ขอให้ทำเกณฑ์มาตรฐานเป็นขั้น เช่น มาตรฐาน กทบ. 1 ดาว 2 ดาว 3 ดาว จนสูงสุดที่ขึ้นไปเทียบกับมาตรฐานชาติได้ เพื่อให้กองทุนพัฒนาไปอย่างยั่งยืนและมั่นคง

ขณะนี้สทบ.อยู่ระหว่างการจัดทำแผนการอบรม จะเสร็จภายในเดือนต.ค.นี้ และหลังเดือนพ.ย.หลังเสร็จสิ้นการประเมินผลกองทุนทั่วประเทศ จะเริ่มลุยงานนี้ต่อทันที ซึ่งจะได้จำนวนร้านค้ากองทุนที่แน่นอนอีกครั้ง เพราะอาจมีบางกองทุนที่ได้ทำร้านค้าอยู่แล้วหรือที่ตัดสินใจจะลงทุนเอง นอกเหนือจากโครงการตามงบขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก

  การรวมกลุ่มป้องกันความเสี่ยง

การที่กองทุนปรับเปลี่ยนภารกิจ จากบทนายทหารปล่อยเงินกู้ มาเพิ่มงานด้านลงทุนและพัฒนา รศ.นทีเชื่อมั่นว่า กองทุนมีทักษะพอจะรับมือได้ โดยที่ผ่านมากองทุนมีดอกผลก็นำไปทำโครงการสวัสดิการในชุมชน อาทิ สวัสดิการคนพิการ เงินช่วยเหลือยังชีพคนชรา ทุนการศึกษาเด็ก เป็นต้น เขารู้ระดับว่ารับความเสี่ยงได้แค่ไหน และที่ลงทุนไม่ได้มากมายอะไร และยังร่วมมือกันเพื่อลดความเสี่ยง

อาทิ ที่ตำบลคลองท่อมเหนือ จ.กระบี่ มีกองทุนหมู่บ้าน 8 กองทุน รวมเงินกันได้ 4 ล้านบาท คิดทำโครงการจุดพักรถและบริการนักท่องเที่ยวที่บริเวณแยกคลองท่อมเหนือ ซึ่งเป็นเส้นทางไปสระมรกตและน้ำพุร้อน มีนักท่องเที่ยวใช้เงินปีละหลายร้อยล้านบาท แต่ไม่ตกถึงชาวบ้าน เพราะไม่มีจุดพักบริการ รวมทั้งไปเชิญชวนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่จัดงบประมาณมาโครงการมาร่วมด้วย เช่น จัดชกมวยไทย จัดเวทีการแสดง เพื่อให้อยู่ในโปรแกรมท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยว เป็นต้น

ขณะเดียวกันการสนับสนุนจากหน่วยงานภายนอก เช่น การจะจัดทำมาตรฐานสินค้าและผลิตภัณฑ์ชุมชน จะทำให้ชุมชนสามารถสร้างโรงน้ำดื่ม อาหาร หรือสมุนไพร โดยมีการให้เกณฑ์มาตรฐานระดับต่าง ๆ เพื่อเป็นการให้ข้อมูลและทางเลือกกับผู้บริโภคได้

ไม่เพียงเกณฑ์มาตรฐานการผลิตเท่านั้น ด้านการพัฒนายกระดับการศึกษาและคุณธรรมก็อยู่ในแผน โดยได้คุยกับศูนย์คุณธรรม ออกเกณฑ์มาตรฐาน เพื่อจะได้ส่งกองทุนหมู่บ้านเข้าประกวดกัน ว่าใครจะได้มาตรฐานคุณธรรมระดับกี่ดาว หรือคุยกับกศน. เนื่องจากกองทุนมีสถาบันการเรียนรู้ที่ให้การอบรมต่าง ๆ ขอให้ทำหลักสูตรเทียบกับกศน. เพื่อให้ผู้ผ่านการอบรมสามารถเทียบหน่วยกิจ เป็นการยกระกับการเรียนรู้คนชุมชน ไม่ต้องอบรมแล้วสูญเปล่า พร้อมไปกับยกระดับมาตรฐานคนสอนด้วย

 การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเศรษฐกิจฐานราก ระยะที่ 2

ในฐานะสทบ.ขอเรียกร้องแทนกองทุนให้มีการลงทุนต่อ เหตุผลเพราะเราได้ปลุกกองทุนตื่นขึ้นมาแล้วทั่วประเทศ คือเราบอกเขาว่าอย่าทำโครงการแบบตีหัวเข้าบ้าน ทำปีเดียวแล้วเลิก ทำโรงอะไรมาแล้วเป็นโรงร้าง และขอให้เปิดบัญชีประชารัฐ ให้เป็นบัญชีหมุนเวียน เราจะตรวจบัญชีประชารัฐเขาว่าเงินเข้าออกอย่างไร เพื่อดูว่าเขาสามารถดูแลเงินของรัฐอย่างไร เหมือนกับ 15 ปีของกองทุนหมู่บ้าน ที่มีเงินเหลือและทำให้งอกเงย

เราเชื่อว่าจะมีกองทุนที่ทำได้ดี และกองทุนที่ต้องปรับปรุงแก้ไข เราอยากให้ประชารัฐรอบ 2 มาให้กำลังใจกับกองทุนที่ทำได้ดี มาต่อเติมกับเขา ซึ่งมีกองทุนที่ทำได้ดีไม่มีความจำเป็นต้องได้เงินรอบ 2 แล้ว สามารถเติบโตเข้มแข็งขึ้นไปได้แล้ว พึ่งตนเองได้แล้ว แต่อย่างน้อยในระยะต้น อยากขอกำลังใจขอของขวัญให้เขาสักนิดหนึ่ง ให้เขาที่กำลังไปได้ดีแล้วมีกำลังยิ่งขึ้น

ประเด็นที่ 2 กองทุนสแตนด์อะโลน ต่างคนต่างทำ เราอยากให้เขามาร่วมกันทำ แต่การจะมาร่วมกันต้องมีต้นทุน เราอยากเอาประชารัฐรอบ 2 มากระตุ้นให้เกิดการรวมตัวกัน อย่างที่เรียนว่า 1.8 หมื่นร้านที่ว่า ถ้ามีเงินประชารัฐรอบ 2 เข้ามากระตุ้นให้เกิดการทำงานร่วมกันของ 1.8 หมื่นร้านค้าประชารัฐที่เกิดขึ้นแล้ว

 ความอึดอัดของกทบ. หาประโยชน์มิชอบใน"ประชารัฐ"

ผมอยากให้ทุกฝ่ายมองกระบวนการขับเคลื่อนประชารัฐ ที่กำลังดำเนินการอยู่ให้เกิดประโยชน์ร่วมกัน สิ่งที่ผมไม่สบายใจ คือมีการเข้ามาแสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบ เข้ามาเพื่อเสนอขายของโดยไม่สนใจในคุณภาพของสินค้า บอกซื้อของนี้สิมีเงินลงทุนแล้วนี่ แล้วล่อชาวบ้านให้ซื้อโดยมีเงินทอนให้ หรือเอาของไปแจกชาวบ้านล่อให้รับ เพื่อให้ตัดสินใจลงทุน เอาเปอร์เซ็นต์ไปให้ เพื่อหวังผลกำหรของตนเอง โดยไม่ได้เน้นถึงคุณภาพหรือความยั่งยืนของโครงการที่เกิดขึ้น หรือรับจ้างทำโดยไม่มีความยั่งยืน

สิ่งเหล่านี้จะทำให้เขามีปัญหาในระยะต่อไป เช่น ไปซื้อปุ๋ยก็เจอปุ๋ยปลอม ถูกล่อด้วยของแถมด้วยของแจก เมื่อเอาปุ๋ยปลอมไปใช้ ผลิตผลก็ไม่ได้ โครงการก็พัง

อยากให้ทุกฝ่ายช่วยกัน ว่าโครงการนี้เป็นความตั้งใจดีของชาวบ้านที่เขาช่วยกันทำมา การแสวงหาผลประโยชน์มิชอบของฝ่ายใดก็แล้วแต่ อยากให้ทุกฝ่ายเข้าไปตรวจสอบดูแล อย่าให้กลายเป็นปัญหากับชาวบ้านในอนาคตโดยที่เขาไม่ได้เจตนาหรือตั้งใจ

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,201 วันที่ 16 - 19 ตุลาคม พ.ศ. 2559