ทล.เร่งผลศึกษาร่วมทุนพีพีพีสร้างและบริหารจุดพักรถ 3 มอเตอร์เวย์รวม 25 จุด คาดลงทุนเกือบ 3,000 ล้าน เตรียมจัดมาร์เก็ตซาวดิงเส้นบางใหญ่-กาญจนบุรีและบางปะอิน-นครราชสีมา ปลายต.ค.นี้ โดยทล.กำหนดจุดและรูปแบบ ส่วนเอกชนลงทุน ลุ้นกฤษฎีกาตีความขัดกฎหมายเวนคืนหรือไม่ ก่อนเสนอ สคร.เคาะรูปแบบการลงทุนชงครม.อนุมัติ ด้านปตท.-บางจากปิ๊งร่วมประมูล
[caption id="attachment_105866" align="aligncenter" width="700"]
ตำแหน่งจุดแวะพัก[/caption]
นายอานนท์ เหลืองบริบูรณ์ รองอธิบดีกรมทางหลวง (ทล.) เปิดเผย "ฐานเศรษฐกิจ" ว่าช่วงปลายตุลาคมนี้จะจัดงานประเมินความสนใจของภาคเอกชน (Market Sounding) ในโครงการให้เอกชนร่วมลงทุนและบริหารจัดการสถานีบริการทางหลวง (Service Area) บนทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) เส้นทางบางปะอิน-นครราชสีมาและเส้นทางบางใหญ่-กาญจนบุรี เพื่อระดมความเห็นให้พร้อมนำเสนอควบคู่กับเส้นทางพัทยา-มาบตาพุด ที่ได้เปิดรับฟังความเห็นนักลงทุนไปแล้วเมื่อช่วงปลายกรกฎาคมที่ผ่านมาให้สำนักงานนโยบายรัฐวิสาหกิจ(สคร.)พิจารณารายละเอียดทั้ง 3 โครงการดังกล่าว ปัจจุบันอยู่ระหว่างเร่งสรุปผลการศึกษาความเป็นไปได้ทั้งรูปแบบการลงทุน ผลตอบแทนทางเศรษฐกิจและความคุ้มค่าการลงทุน โดยรูปแบบดำเนินโครงการจะใกล้เคียงกับเส้นทางกรุงเทพ-ชลบุรี
ทล.หาสถานที่/เอกชนลงทุน
ในเบื้องต้น ทล.จะจัดหาสถานที่ให้เอกชนไปลงทุน โดยกำหนดแนวทางปฏิบัติ อาทิ ขนาดพื้นที่ร้านค้า จุดจอดรถ พื้นที่เช่า พื้นที่โฆษณา เอกชนจะเป็นผู้ลงทุนก่อสร้างทั้งหมด พร้อมเปิดให้เอกชนสนใจร่วมลงทุนในแต่ละจุดโดยไม่จำเป็นต้องเป็นรายเดียวรับสิทธิ์บริหารจัดการทั้งเส้นทาง ขึ้นอยู่กับการเสนอเงื่อนไขรายละเอียดการลงทุน โดยเส้นทางบางปะอิน-นครราชสีมา มี 15 จุด ส่วนเส้นทางบางใหญ่-กาญจนบุรี จำนวน 6 จุด และเส้นทางพัทยา-มาบตาพุดมีจำนวน 4 จุด
"การบริหารแนวเส้นทางและบำรุงรักษา(O&M) มอเตอร์เวย์ ได้หารือไปยังสำนักงานกฤษฎีกาเพื่อตีความ เช่นเดียวกับเรื่องการนำที่ดินจากการเวนคืนไปพัฒนาเชิงพาณิชย์ว่าจะสามารถดำเนินการได้หรือไม่ รูปแบบยังเน้นการเปิดโอกาสให้เอกชนร่วมลงทุนแบบ PPP (Public Private Partnership) Gross Cost ให้เอกชนลงทุนก่อสร้างพร้อมบริหารจัดการ โดยจะต้องเสนอให้คณะกรรมการพีพีพี ที่มีนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธานพิจารณา เบื้องต้นต้องตรวจสอบระเบียบกฎหมายที่เกี่ยวข้องให้ชัดเจนก่อน เนื่องจากเวนคืนที่ดินมาเพื่อดำเนินการก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง ไม่ได้ดำเนินการเพื่อทางหลวงสัมปทานหรือเพื่อการพัฒนาเชิงพาณิชย์"
ทั้งนี้ เมื่อปลายกรกฎาคมที่ผ่านมา ทล.ได้จัดงานประเมินความสนใจภาคเอกชน ของมอเตอร์เวย์ หมายเลข 7 ช่วงชลบุรี-พัทยา และช่วงพัทยา-มาบตาพุด เป็นการนำร่องก่อนที่จะทยอยดำเนินการในอีก 2 เส้นทาง โดยเปิดโอกาสให้นักลงทุนรับฟังรายละเอียดพร้อมข้อเสนอแนะเพื่อกำหนดแนวทางการบริหารจัดการให้สอดคล้องกับความต้องการของภาคเอกชน ก่อนที่ ทล.จะนำเสนอไว้ในแนวทางปฏิบัติตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.)การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ.2556
เคาะเส้นชลบุรี-พัทยา-มาบตาพุดปี60
รองอธิบดี ทล.ระบุว่า มอเตอร์เวย์เส้นดังกล่าวมูลค่าการลงทุนประมาณ 1,000 ล้านบาท เมื่อผลการศึกษาแล้วเสร็จจะเห็นความชัดเจนว่าจะเปิดโอกาสให้เอกชนรายเดียวหรือหลายรายเข้ามาแข่งประมูลรับบริหารจัดการพื้นที่เชิงพาณิชย์ดังกล่าว โดยจะแยกย่อยออกไปเป็น 1-2 สัญญา ซึ่งทล.จะเร่งสรุปผลศึกษาให้แล้วเสร็จใน 1-2 เดือนนี้ เพื่อเสนอสำนักงานนโยบายรัฐวิสาหกิจ(สคร.)พิจารณารายละเอียดปลายปีนี้ จากนั้นจะนำเสนอคณะกรรมการนโยบายการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ(PPP) เพื่อเสนอคณะรัฐมนตรี(ครม.)อนุมัติดำเนินการในปี 2560 การร่วมลงทุนกำหนดเวลาไว้ไม่เกิน 30 ปี
"นอกจากนั้น ทล.จะปรับปรุงและพัฒนาสถานที่บริการทางหลวง(Service Area) ที่มีอยู่ ทั้งเตรียมเปิดในเส้นทางบางปะอิน-นครราชสีมา และบางใหญ่-กาญจนบุรี ที่จะใช้โมเดลเส้นทางพัทยา-มาบตาพุดเข้าไปดำเนินการโดยจะแบ่งการพัฒนาพื้นที่ออกเป็น 3 ระดับ คือ สถานที่พักริมทางหลวง (Rest Area) พื้นที่ประมาณ 25 ไร่ สถานที่บริการทางหลวง พื้นที่ประมาณ 40 ไร่ และศูนย์บริการทางหลวง (Service Center) ประมาณ 80 ไร่"
โดยเส้นทางพัทยา-มาบตาพุด จะแบ่งสถานที่บริการทางหลวงออกเป็น 4 จุดให้เอกชนพิจารณาการลงทุน ส่วนเส้นทางบางปะอิน-นครราชสีมา มีจำนวน 8 จุด(ศูนย์บริการทางหลวง 1 จุด สถานที่บริการทางหลวง 2 จุด สถานที่พักริมทาง 5 จุด) สำหรับเส้นทางบางใหญ่-กาญจนบุรี มี 3 จุด(สถานที่บริการทางหลวง 2 จุด และสถานที่พักริมทาง 1 จุด) โดยทั้ง 3 เส้นทางจะเปิดให้เอกชนร่วมลงทุนทั้งหมดใช้โมเดลใหม่ของเส้นทางพัทยา-มาบตาพุด ดำเนินการในอีก 2 เส้นทางดังกล่าวด้วย
ทั้งนี้เซอร์วิสแอเรียเส้นทางพัทยา-มาบตาพุด จะใช้พื้นที่มากสุดฝั่งละประมาณ 50 ไร่ แบ่งสิ่งอำนวยความสะดวกออกเป็น 3 กลุ่ม ภาคเอกชนจะจัดหาระบบสาธารณูปโภค อาทิ ไฟฟ้า ประปาเข้าไปในสถานที่เอง แยกสัดส่วนจอดรถชัดเจนทั้งรถผู้ประกอบการและประชาชนทั่วไป ปัจจุบันอยู่ระหว่างก่อสร้างจะเปิดใช้บริการปี 2563
"ล่าสุดพบว่าปริมาณรถยนต์ใช้เส้นทางมอเตอร์เวย์หมายเลข 7 ช่วงวันที่ 1 ตุลาคม 2558 ถึงปัจจุบันมีจำนวน 87 ล้านเที่ยวคัน โดยเส้นทางช่วงพัทยา-มาบตาพุดคาดว่าจะมีรถใช้เส้นทางราว 2 หมื่นคันต่อวันในปี 2564 และจะเพิ่มเป็น 5.7 หมื่นคันในปี 2584 รูปแบบการลงทุนที่จะนำเสนอจะใช้รูปแบบผู้รับสัมปทานเป็นผู้ลงทุนโครงการเมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จยกเป็นกรรมสิทธิ์ของรัฐบาล (Build Transfer and Operate : BTO) โดย ทล.เตรียมพื้นที่ไว้รองรับ เอกชนเพียงออกแบบมานำเสนอทล. พิจารณา โดยจะเร่งจัดหาผู้ลงทุนให้แล้วเสร็จภายในปี 2560"
เปิดทางท้องถิ่นร่วมบริหารหารายได้
ด้านดร.ดุษฎี สถิรเศรษฐทวี อาจารย์ประจำคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ในฐานะที่ปรึกษาโครงการเส้นทางบางใหญ่-กาญจนบุรี กล่าวว่า การที่จะให้เอกชนลงทุนก่อสร้างโครงการโดยทล.กำหนดรูปแบบมาตรฐานนั้น เบื้องต้นรูปแบบการลงทุนที่ชัดเจนจะต้องนำเสนอสคร.พิจารณาว่ารายได้ที่ทล.ได้รับจะมาจากทางไหนบ้างทั้งค่าสัมปทานและเปอร์เซ็นต์ส่วนแบ่ง ระยะเวลาไม่เกิน 30 ปี
ในการจัดมาร์เก็ตซาวดิ้ง ทล.จะไม่นำเสนอรูปแบบให้เอกชนเลือก แต่จะนำเสนอรูปแบบหลากหลายให้เอกชนเสนอความเห็น ดังนั้นจึงยังไม่วางกรอบชัดเจนจนกว่าจะได้ความเห็นที่ครอบคลุมมากที่สุดแล้ว ส่วนแนวคิดของกระทรวงคมนาคมที่จะให้นำโมเดลมาปรับใช้นั้นสามารถให้ท้องถิ่นหรือนิติบุคคลเข้ามามีส่วนร่วมในการดูแลและบริหารโครงการเพื่อนำภาษีไปบำรุงท้องถิ่นต่อไป แต่จะมีสัดส่วนเข้ามาได้มากน้อยแค่ไหนนั้นจะต้องพิจารณาต่อไป อาทิ เอกชนรายใหญ่จะต้องไปจดทะเบียนบริษัทในพื้นที่นั้นๆ หรือแบ่งพื้นที่ร้านค้าให้แต่ละพื้นที่ไปดำเนินการจำหน่ายสินค้าท้องถิ่นหรือโอท็อปตามอัตลักษณ์ของพื้นที่นั้นๆ
โดยรูปแบบเบื้องต้นนั้นคือทล.จะจัดเก็บค่าสัมปทานตามปริมาณจราจร หากมีจำนวนมากขึ้นก็จะปรับส่วนแบ่งรายได้ให้กับทล.เพิ่มขึ้นตามไปด้วย นั่นคือจะมีค่าแปรผันตามปริมาณการจราจร เส้นทางบางใหญ่-กาญจนบุรี มีระยะทางประมาณ 96 กิโลเมตรแต่มีความหนาแน่นด้านการจราจรที่ใกล้เคียงกับอีก 2 เส้นทาง อาจจะนำเสนอประมูลเพียง 1-2 รายเท่านั้น
ทั้งนี้จุดพักรถหรือที่พักริมทางและสถานีบริการทางหลวงของเส้นทางบางใหญ่-กาญจนบุรีมีขาออกเมือง 3 จุดคือคือจุดพักรถที่ท่ามะกา สถานีบริการทางหลวงนครปฐมฝั่งตะวันตก และสถานีบริการทางหลวงนครชัยศรี และฝั่งขาเข้าเมือง 3 จุด รวมทั้งสิ้น 6 จุด มูลค่าการลงทุนอยู่ในระดับ 1,000 ล้านบาท หรือจุดละประมาณหลัก 100 ล้านบาท
จ่ายสัมปทานระยะแรก 10-15 ปี
ด้าน ดร.ศิรดล ศิริธร ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีประยุกต์ด้านการขนส่งและโลจิสติกส์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ที่ทำหน้าที่ที่ปรึกษาเส้นทางบางปะอิน-นครราชสีมา กล่าวว่า ที่พักริมทางของเส้นทางนี้มี 3 รูปแบบ จำนวน 8 จุดหลัก จุดละ 2 ฝั่ง (รวมจำนวน 15 จุด แบ่งเป็นขาออกเมือง 8 จุด ขาเข้าเมือง 7 จุด) ยกเว้นจุดลำตะคองจะมีเพียงฝั่งเดียว
โดยทั้ง 8 จุดได้แก่ ที่พักริมทางหลวงวังน้อย ที่พักริมทางหลวงหนองแค จ.สระบุรี สถานีบริการทางหลวงสระบุรี ที่พักริมทางหลวงทับกวาง ศูนย์บริการทางหลวงปากช่อง ที่พักริมทางหลวงลำตะคอง สถานีบริการทางหลวงสีคิ้ว และที่พักริมทางหลวงขามทะเลสอ รวมวงเงินลงทุนทั้ง 15 จุดคิดเป็นประมาณ 900-1,000 ล้านบาท
"ยังไม่ระบุว่าจะให้เป็นสัญญาเดียวหรือหลายสัญญาที่จะนำออกประมูล จะให้เอกชนร่วมลงทุนแบบ Net Cost เอกชนจะเป็นผู้รับความเสี่ยงทางธุรกิจทั้งหมด รัฐดูแลการเวนคืนพื้นที่และระบบสาธารณูปโภคบางส่วน เอกชนจ่ายค่าสัมปทานให้ทล. ระยะเวลาประมาณ 10-15 ปี ส่วนระยะต่อไปจะประเมินใหม่ โดยจะพิจารณาปริมาณการจราจรประกอบซึ่งปัจจุบันมีประมาณ 6 หมื่นคันต่อวัน"
ปตท-บางจากสนใจร่วมประมูล
แหล่งข่าวจากบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ขณะนี้ปตท.อยู่ระหว่างรอความชัดเจนของเงื่อนไขทีโออาร์เข้าพัฒนาพื้นที่จุดพักรถของถนนมอเตอร์เวย์ทั้ง 3 สายว่าจะออกมาในรูปแบบใด ซึ่งหากแบ่งแยกออกมาจากผู้รับสัมปทานเส้นทาง ปตท.ก็มีความสนใจที่จะเข้าไปลงทุนพัฒนาแบ่งเป็นพื้นที่ให้เช่า นอกเหนือจากการลงทุนก่อสร้างสถานีบริการน้ำมันและร้านค้าที่ร่วมกับพันธมิตรต่างๆ โดยรูปแบบการลงทุนจะต้องมาดูว่าทีโออาร์ จะเปิดประมูลในรูปแบบใด แต่ทั้งนี้ต้องขึ้นอยู่กับเงื่อนไขโออาร์ที่จะออกมา ซึ่งปตท.พร้อมที่จะเข้าไปลงทุนพัฒนาพื้นที่
นายชัยวัฒน์ โควาวิสารัช กรรมการผู้จัดการ บริษัท บางจากปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า บางจากสนใจเข้าร่วมประมูลพัฒนาพื้นที่จุดพักรถในถนนมอเตอร์เวย์ 3 สาย เนื่องจากบางจากเป็นผู้ให้บริการสถานีบริการน้ำมัน ดังนั้นเชื่อว่าจะเป็นการเปิดโอกาสทางธุรกิจ รวมทั้งเป็นการให้บริการผู้เดินทางด้วย อย่างไรก็ตามบางจากต้องการทราบรายละเอียดทีโออาร์ก่อน หากมีความเหมาะสมและตรงกับการดำเนินธุรกิจของบางจาก ก็พร้อมเข้าร่วมประมูล ส่วนแผนลงทุนนั้นคงสนใจทั้ง 3 เส้นทาง แต่ต้อรอความชัดเจนทีโออาร์ก่อน
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,200 วันที่ 13 - 15 ตุลาคม พ.ศ. 2559