อังกฤษ-อเมริกันต้องสู้เพื่อเสรี

15 ต.ค. 2559 | 00:00 น.
การค้าเสรีคือหลักการที่ถูกต้องเหมาะสมที่สุดสำหรับโลกทุกวันนี้ การคิดจะกีดกันทางการค้าเป็นแนวคิดเห็นแก่ตัวของคนคนหนึ่ง หรือประเทศประเทศหนึ่ง ซึ่งวันนี้ทั่วโลกเปิดให้ทำการค้าเสรีและลงทุนเสรีกันแล้ว อุดมการณ์การค้าเสรีจะต้องคงอยู่ และการลงทุนเสรียังคงอยู่ รวมถึงการเคลื่อนย้ายเสรีของมนุษย์พึงจะมีด้วย ภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศ
นับเวลาเป็นร้อยๆ ปีมาแล้วที่โลกทำการค้าขายระหว่างกัน และเครื่องมือสำคัญในการทำการค้านั้นอาศัยทอง หรือสิ่งของแลกเปลี่ยน จนกระทั่งเกิด "เงินตรา" หรือพันธบัตรขึ้นมา แต่ตอนนี้ คนอังกฤษ คนอเมริกัน มีบางกลุ่มกลับต่อต้านการค้าเสรี เพราะเขาว่า "เขาเสียเปรียบ" ความจริงแล้ว เขาไม่สามารถบริหารต้นทุนของตนเองได้ต่างหาก เขาเลยคิดต่อต้าน

โดยอังกฤษแยกตัวเองออกจากสหภาพยุโรป หวังจะทำการค้าแบบที่ตนเองพอใจ ไม่ต้องขึ้นกฎเกณฑ์อะไรกับใคร ขอเพียงมีข้อตกลงระหว่างตนกับคู่ค้าของตนเองเท่านั้น ขณะที่สหรัฐอเมริกาก็มีผู้คนจำนวนมากเห็นว่า "การค้าเสรี" นำหายนะมาสู่เศรษฐกิจประเทศ และผู้สมัครรับเลือกตั้งประธานาธิบดีคนต่อไป คือ นายโดนัลด์ ทรัมป์ กลับมีนโยบายไม่ส่งเสริมการค้าเสรี เพียงเพราะหวังผลการเลือกตั้งเท่านั้น

นี่เป็นแนวความคิดที่ "ย้อนยุค" เอามากๆ ความจริงแล้วยุคสมัยได้เปลี่ยนไปแล้ว เราไม่สามารถใช้ปืน ใช้อาวุธ เพื่อข่มขู่คู่ค้าได้อีกต่อไป จะสร้างอิทธิพลและใช้อิทธิพลนั้นเอาเปรียบประชาชนที่อ่อนแอกว่าไม่ได้ อุดมการณ์ระดับโลกเขายกเลิกแนวคิดแบบเถื่อนๆ ไปแล้ว

โลกยุคปัจจุบันคือโลกยุคการค้าเสรี การลงทุนเสรี การเคลื่อนย้ายเสรี การผลิตสินค้าเมื่อผลิตออกมาก็ต้องค้าขายได้อย่างเสรี ไม่มีเงื่อนไขไม่ว่าจะเป็น "ภาษี" หรือ "ศุลกากร" มาเป็นอุปสรรคในการกีดกันทางการค้า เราก็เห็นความพยายามในด้านนี้มานานแล้วตั้งแต่ตั้งปี 2490 ที่นานาชาติร่วมทำความตกลงทั่วไปว่าด้วยภาษีศุลกากรและการค้า (General Agreement on Tariffs and Trade : GATT) ก่อนจะเปลี่ยนมาเป็นองค์กรการค้าโลก (World Trade Organization) เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2538 แน่นอน...เป็นที่เข้าใจได้ว่า การเจรจาไม่ว่าทวิภาคีหรือพหุพาคี ย่อมอ่อนข้อให้กันบ้าง เพราะศักยภาพแตกต่างกันระหว่างคู่เจรจา มีหลายสิ่งหลายอย่างที่ฝ่ายหนึ่งมีความพร้อมมูล อีกฝ่ายยังด้อยอยู่ แต่สุดท้ายก็ยอมที่จะตกลงกันภายใต้เงื่อนไข อย่างทุกวันนี้ จีนแม้จะยอมรับการค้าเสรี แต่จีนก็ไม่ได้เปิดสินค้าทุกชนิดหมด เพราะจีนยังสงวนไว้ 50% เป็นสินค้าอ่อนไหว ส่วนอาเซียนมีความตกลงระหว่างกันและปฏิบัติต่อกันในการค้าเสรี โดยเปิดสินค้าทุกชนิดเสียภาษี 0% สำหรับสินค้าจำนวน 80% ของสินค้าทั้งหมด เหลือไว้ 20% เป็นสินค้าอ่อนไหว แล้วทยอยลดภาษีเหลือภาษีเป็น 0% สำหรับสินค้าอ่อนไหวใน 10 ปีข้างหน้า หรือบางประเทศพร้อมมากกว่านี้ก็ลดเวลาให้เหลือ 0% เร็วขึ้น เป็นต้น

ประเทศไทยเองก็รู้สึกเจ็บปวดในการค้าเสรีบางกรณี เพราะการค้าเสรีและการลงทุนเสรี ทำให้เกิดการเคลื่อนย้ายลงทุนไปลงในประเทศอื่นที่ต้นทุนถูกกว่า เพราะหลักการตลาดสมัยนี้เขามองที่จะผลิตสินค้าอะไรและผลิตที่ไหนที่ออกมาได้ต้นทุนต่ำที่สุด จึงจะมีโอกาสมากที่สุด ราคาก็ต้องถึงผู้บริโภคในอัตราที่ต่ำที่สุดด้วยจึงจะประสบความสำเร็จได้ การเคลื่อนย้ายฐานผลิตออกไป เท่ากับตำแหน่งการจ้างงานในประเทศลดลงไป การที่เงินเคยสะพัดจากการลงทุนก็พร่องลงไป แรงงานเดิม หรือพนักงานในระบบเดิมที่เคยทำก็ต้องเสาะหางานใหม่ทำ ซึ่งสภาพนี้ก็ไม่แตกต่างกับคนอังกฤษกับคนอเมริกันแต่อย่างใด

อังกฤษเคยใช้ปืนล่าอาณานิคมไปทั่วโลก สหรัฐฯเองก็ไม่แพ้กัน และยังเคยใช้ทาสมาอย่างหนักเพื่อกอบโกยผลประโยชน์ แล้วอังกฤษและอเมริกันสมัยนี้กลับไปหวนคิดถึงหนหลังๆ ผมว่าคิดแบบนี้ผิดทางจริงๆ ผมว่าคนอังกฤษกับคนอเมริกันต้องยืนหยัดในการค้าเสรีและการลงทุนเสรีอย่างเดิม ต้องเรียนรู้ที่จะยืนหยัดอยู่ให้ได้ด้วยพลังพลเมืองที่มีอยู่ และตลาดทั่วโลกยังมีอยู่ไม่ได้สูญหายไปไหน ผมว่าอังกฤษกับอเมริกันก็ต้องหาทางรอดด้วยการทำการค้าเสรีและลงทุนเสรีระหว่างกันครับ

Photo : Pixabay
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,200 วันที่ 13 - 15 ตุลาคม พ.ศ. 2559