เอเชียแสดงพลังผ่านเวที ACD Summit พร้อมเดินหน้าสู่ ‘Vision 2030’

13 ต.ค. 2559 | 03:30 น.
เมื่อวันที่ 8-10 ตุลาคมที่ผ่านมา ประเทศไทยได้มีโอกาสสำคัญในการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสุดยอดกรอบความร่วมมือเอเชีย (Asia Cooperation Dialogue) หรือ เอซีดี ครั้งที่ 2 โดยมีผู้นำและตัวแทนจาก 34 ประเทศสมาชิกเข้ารวมการประชุม ซึ่งการประชุมในครั้งนี้นับเป็นโอกาสของเอเชียในการแสดงศักยภาพว่าพร้อมจะก้าวขึ้นมาเป็นภูมิภาคหลักในการขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจ ด้วยความร่วมมือจากความแข็งแกร่งอันหลากหลายที่มีอยู่ในภูมิภาค ภายใต้หัวข้อหลักของการประชุม คือ "เอเชียหนึ่งเดียว หลากหลายในพลัง" (One Asia, Diverse Strengths)

[caption id="attachment_105595" align="aligncenter" width="500"] พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี[/caption]

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวในพิธีเปิดการประชุมว่า การวมตัวของสมาชิกเอซีดีทั้ง 34 ประเทศเป็นการส่งสัญญาณต่อประชาคมโลกว่าเอเชียพร้อมที่จะจับมือกันเดินหน้าและกำหนดทิศทางความร่วมมือกันในอนาคต โดยเอเชียนับเป็นภูมิภาคที่มีการเติบโตทางเศรษฐกิจที่เข้มแข็ง และมีศักยภาพที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลกท่ามกลางภาวะที่เศรษฐกิจและการเงินโลกชะลอตัว ด้วยจำนวนประชากรถึง 60% ของโลก ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) คิดเป็นสัดส่วน 1 ใน 3 ของโลก และมีเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ 60% ของโลก

  ขับเคลื่อน 6 เสาหลักสู่ประชาคมเอเชีย

ทั้งนี้ ก้าวสำคัญของการประชุมเอซีดีในครั้งนี้ คือการรับรองวิสัยทัศน์ความร่วมมือเอเชีย 2030 หรือ Vision 2030 ซึ่งจะผลักดันความร่วมมือระหว่างกันใน 6 เสาหลัก สอดคล้องกับวาระแห่งการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ (ยูเอ็น) เพื่อมุ่งหน้าสู่เป้าหมายของการรวมตัวเป็นประชาคมเอเชียในอนาคต ประกอบด้วย 1. ความมั่นคงทางอาหาร น้ำ และพลังงาน 2. ความเชื่อมโยง 3. วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม 4. การศึกษาและพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ 5. การท่องเที่ยวและวัฒนธรรม และ 6. การพัฒนาอย่างทั่วถึงและยั่งยืน

โดยแต่ละประเทศได้เสนอตัวเป็นผู้นำในการขับเคลื่อนเสาหลักต่างๆ อาทิ จีนและสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์เสนอตัวเป็นผู้ขับเคลื่อนเสาหลักด้านความมั่นคงทางอาหาร น้ำ และพลังงาน เกาหลีใต้เสนอตัวเป็นผู้ขับเคลื่อนด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม อิหร่านเสนอตัวเป็นผู้ขับเคลื่อนด้านวัฒนธรรมและการท่องเที่ยว ขณะที่ประเทศไทยเสนอตัวเป็นผู้ขับเคลื่อนด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึงและยั่งยืน

ที่ประชุมได้มีการกำหนดแผนงานระยะเวลา 5 ปี ระหว่างปี 2560-2564 เพื่อขับเคลื่อนวิสัยทัศน์ภายใต้กรอบของเสาหลักด้านต่างๆ ไปสู่การปฏิบัติให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม โดยจะมีการจัดตั้งคณะทำงานขึ้นมา และกำหนดให้รายงานผลความคืบหน้าของการดำเนินงานในการประชุมระดับรัฐมนตรีของเอซีดีในเดือนกันยายน 2560 ซึ่งจะจัดขึ้นคู่ขนานกับการประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ (UNGA) ครั้งที่ 72

 หนุนความร่วมมือครอบคลุมทุกภาคส่วน

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังเห็นพ้องให้มีการผลักดันความร่วมมืออย่างครอบคลุมในทุกภาคส่วน ผ่านความร่วมมือของทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาชน (Public-Private-People Partnership) โดยในการประชุมเอซีดีครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่มีการจัดการประชุมในส่วนของภาคเอกชน ภายใต้ชื่อเวที ACD Connect Business Forum 2016 และได้เปิดให้ผู้นำของภาคเอกชน นำโดยนายแจ๊ค หม่า ผู้ก่อตั้งและประธานกลุ่มอาลีบาบา ผู้ให้บริการอี-คอมเมิร์ซรายใหญ่ของจีน เข้ามานำเสนอความคิดเห็นต่อผู้นำประเทศในการประชุมสุดยอดกรอบความร่วมมือเอซีดีอีกด้วย

นายหม่ากล่าวว่า เพื่อจะทำให้โลกาภิวัตน์มีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น ควรมีการกระจายประโยชน์ออกไปสู่บริษัทขนาดเล็กและคนวัยหนุ่มสาว ถ้าสามารถเปิดโอกาสให้กับบริษัทขนาดเล็ก ซึ่งคิดเป็นประมาณ 80% ของภาคธุรกิจทั้งหมด เข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการโลกาภิวัตน์ได้ จะนำมาซึ่งประโยชน์อย่างมาก โดยได้เรียกร้องให้รัฐบาลกำหนดนโยบายและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อช่วยเหลือบริษัทขนาดเล็กและคนหนุ่มสาว ซึ่งจะมีบทบาทสำคัญต่อไปในอนาคต

สำหรับการอภิปรายบนเวที ACD Connect Business Forum 2016 ซึ่งจัดขึ้นภายใต้แนวคิด "ปลุกพลังเชื่อมโยงนวัตกรรมการเงินเพื่อเอเชียที่ยั่งยืน" แบ่งออกเป็น 2 หัวข้อหลัก หัวข้อแรก คือ การขับเคลื่อนเศรษฐกิจเอเชียด้วยฟินเทค (Driving Asian Economies with FinTech) ซึ่งกำลังเติบโตและมีบทบาทเพิ่มมากขึ้นในภูมิภาคเอเชีย โดยผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินจากทั่วเอเชียต่างเห็นพ้องว่าฟินเทค หรือเทคโนโลยีด้านการเงิน (Financial Technology) มีศักยภาพที่จะเข้ามาช่วยเร่งขับเคลื่อนการเติบโตของภูมิภาคเอเชียให้รวดเร็วได้ยิ่งขึ้น และจะนำมาซึ่งประโยชน์หลากหลายประการ อาทิ เพิ่มประสิทธิภาพของการทำธุรกรรมทางการเงิน ลดค่าใช้จ่ายด้านการจัดการธุรกรรมทางการเงินที่แต่ละปีมีมูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ตลอดจนจะเป็นการเปิดโอกาสให้กับผู้ประกอบการรุ่นใหม่

ส่วนหัวข้อที่ 2 เป็นเรื่องของการระดมทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานในเอเชีย (Financing Infrastructure in Asia) ซึ่งหลายภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกล่าวในทิศทางเดียวกันว่า เอเชียยังมีความจำเป็นด้านโครงสร้างพื้นฐานอยู่อีกมาก ขณะที่ปัจจุบันการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานยังไม่เพียงพอต่อความต้องการ โดย World Economic Forum ประเมินว่าปัจจุบันการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานทั่วโลกมีมูลค่าประมาณ 2.7 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปี แต่ความต้องการอยู่ที่ 3.7 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปี ยังมีช่องว่างอยู่อีก 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปี

ที่ผ่านมารัฐบาลมีบทบาทเป็นผู้ลงทุนหลักด้านโครงสร้างพื้นฐาน แต่ตัวแทนจากทั้งภาครัฐและเอกชนต่างเชื่อว่าถึงเวลาแล้วที่เอกชนจะต้องเข้ามามีบทบาทในการลงทุนมากขึ้น เนื่องจากการลงทุนจากรัฐบาลหรือธนาคารเพื่อการลงทุนไม่เพียงพอต่อความต้องการอีกต่อไป ซึ่งเวลานี้นับเป็นเวลาที่เหมาะสมอย่างยิ่งที่เอกชนควรเข้ามามีบทบาท ด้วยปัจจัยที่เอื้อต่อการลงทุนทั้งในด้านอุปสงค์และอุปทาน

การประชุมสุดยอดกรอบความร่วมมือเอซีดีครั้งที่ 2 ปิดฉากลงด้วยการรับรองปฏิญญากรุงเทพ ซึ่งเน้นย้ำถึงความร่วมมืออันจะนำมาซึ่งความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของประเทศสมาชิกทั้ง 34 ประเทศ เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ทั่วถึงและยั่งยืน พร้อมแสดงความเชื่อมั่นว่าเอเชียมีศักยภาพและความเข้มแข็งที่จะเป็นกลไกขับเคลื่อนการเติบโตของเศรษฐกิจโลก โดยอาศัยจุดแข็งและพลังที่หลากหลาย

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,200 วันที่ 13 - 15 ตุลาคม พ.ศ. 2559