‘เอไอเอส’ปรับทัพ สร้างกองเรือเล็กขยายธุรกิจใหม่

12 ตุลาคม 2559
ค่ายมือถือเบอร์หนึ่ง เอไอเอส หรือ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) ประกาศปรับโครงสร้างแต่งตั้งให้ นายฮุย เวง ชอง นั่งตำแหน่งกรรมการผู้อำนวยการ รับผิดชอบงานด้านการตลาด,การดูแลลูกค้าและบริการ และ การพัฒนาโครงข่าย รวมทั้งพัฒนาโซลูชั่นใหม่ๆ โดยรายงานตรงต่อประธานเจ้าหน้าที่บริหาร หรือ (CEO- AIS) มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคมที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม "ฐานเศรษฐกิจ" ได้มีโอกาสสัมภาษณ์ นายสมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ของ เอไอเอส เกี่ยวกับการปรับโครงสร้าง และ ทิศทางของ เอไอเอส ติดตามอ่านได้จากบรรทัดถัดจากนี้

[caption id="attachment_105063" align="aligncenter" width="700"] โครงสร้างองค์กรของ เอไอเอส โครงสร้างองค์กรของ เอไอเอส[/caption]

 ผู้ถือหุ้นเป็นคนปรับหรือเปล่า

เปล่าปรับครั้งนี้ ผม ทำเองวางแผนร่วมกับทีมงานภายใน LDCC( leadership development and compensation committee) มาตั้งแต่สองเดือนแล้ว พอครบรอบการทำงาน 2 ปีที่ได้รับตำแหน่ง อยากเปลี่ยนแปลง (Transform) จากที่เป็นผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ มาเป็น Digital Life Service Provider (โลกของดิจิทัล ไปสู่การใช้ชีวิตได้ดีขึ้นในโลกยุคดิจิทัล) ภายใน 3-5 ปี ต้องแล้วเสร็จ และ ต้องทำด้วยกัน 2 ส่วน ทั้งฮาร์ดแวร์ และ ซอฟต์แวร์

 โครงสร้างต้องปรับ

ในอดีตผมเป็นซีอีโอ ดูในแนวระนาบ และ รักษาการด้านซีเอ็มโอ (Chief Marketing Officer) ด้านการตลาด วันหนึ่งธุรกิจขยายตัวมากขึ้น คุณฮุย ที่ผ่านมาดูด้านปฏิบัติการทั้งหมด แต่ไม่ได้รับผิดชอบด้านการตลาด เพราะฉะนั้นเราอยากเอาส่วนนี้ให้ คุณฮุย รับผิดชอบ (ดูตารางประกอบ) ให้ครบถ้วน

 เหตุผลที่ปรับ

เพราะคุณฮุย สามารถควบคุมงานได้ทั้งหมด ทำให้การทำงานคล่องแคล่วรวดเร็วมากขึ้น ขณะที่ภาพรวมองค์กร ผม ก็ไปดูอย่างอื่นมากขึ้นเพราะโลกของดิจทัลฯไม่ใช่แค่โมบายเท่านั้น แต่จริง ๆ แล้วทุกโอกาสของธุรกิจยังมีอะไรอีกมากมาย เช่น สตาร์ทอัพฯ และ ธุรกิจใหม่ๆ ผม ก็จะไปดูในส่วนนั้น แต่ต้องรายงานตรงผ่านมายังซีอีโอ

พร้อมกันนี้ยังตั้งให้ คุณวีรัวัฒน์ (วีรวัฒน์ เกียรติพงษ์ถาวร) ขึ้นมาดูด้านกฏหมายและรัฐกิจสัมพันธ์

นอกจากนี้แล้วโครงสร้างภายนอกไม่เท่าไหร่ แต่โครงสร้างภายในตั้งแต่ EVP (Executive Vice President : รองกรรมการผู้อำนวยการ) จาก 5 คนเหลือ 4 คน จะต้องหาผู้เชี่ยวชาญจากทั้งคนในและคนนอกเข้ามาประกบผู้บริหารอีกด้วย ทุกต้องหาผู้เชี่ยวชาญจากคนข้างในและคนข้างนอกมาหนึ่งคน เพื่อหาเลือดใหม่เข้ามา

" ทุกองค์กรต้องเปลี่ยนแปลงถ้าไม่เปลี่ยนแปลงวันนี้องค์กรอยู่ไม่ได้ เพราะเทคโนโลยีเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว เอไอเอส แข็งแรงขนาดนี้จำเป็นต้องเปลี่ยน แต่การจะเปลี่ยนด้วยโครงสร้างของเรานั้นกระบวนการแน่นมาก ดังนั้นถ้า เอไอเอส หมุนเร็ว ๆ อาจจะล้ม หรือ พังก็ได้ คอนเซ็ปของเรา คือ ให้เรือใหญ่เดินออกไปตามแผนธุรกิจ แต่การเปลี่ยนแปลงด้วยการสร้างเรือเล็กขึ้นมาก็เพื่อให้เกิดความคล่องตัว หันซ้าย หันขวา ได้รวดเร็วกว่า"

 เอดับบลิวเอ็นใครดูแล

สำหรับ เอดับบลิวเอ็น หรือ บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด บริษัทลูกของ เอไอเอส ที่ได้ใบอนุญาตจาก กสทช. เพื่อให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบ 4 จี บนคลื่นความถี่ 900 เมกะเฮิตร์นั้น ในส่วนนี้ผม ก็ยังนั่งเป็น กรรมการผู้จัดการมีการย้ายพนักงานบางส่วนเข้ามารับผิดชอบเพราะตอนนี้ฐานลูกค้าเริ่มเพิ่มขึ้น ปัจจุบัน เอไอเอส มีพนักงานจำนวน 1.2 หมื่นคน ดังนั้นงานบางอย่างก็ย้ายคนมาร่วมรับผิดชอบ

คู่แข่งรุกการทำตลาดแบบผสมผสาน

ต่างคนก็ต่างมีทางของตัวเองไม่มีอะไรผิดอะไรถูก เอไอเอส เพิ่งมาทำเรืองฟิก บอร์ดแบนด์ (เอไอเอส ไฟเบอร์) และ เข้ามาสู่คอนเท้นต์ และ เอไอเอส เชื่อว่ามาถูกที่ถูกเวลา เรา ทำฟิกบอร์ดแบนด์ในวันนี้ถูกทาง ก็ตรงที่ว่าเราได้ทำบนยุคที่โมบายดาต้ากำลังเกิด และ เอไอเอส มีไฟเบอร์ออฟติกวางไว้ คือ โครงข่าย 3 จีบนคลื่น 2100 เมกะเฮิรตซ์ ทั่วประเทศ

" เป็นตลาดที่ยังขยายตัว ที่สำคัญฟิกบอร์ดแบนด์ ที่มีจำนวนผู้ใช้ 6 ล้านเลขหมาย แต่ใช้เทคโนโลยี ADSL (Asymmetric Digital Subscriber Line เป็นเทคโนโลยีที่ใช้ในการส่งข้อมูลแบบดิจิตอล) จำนวน 95% เพราะฉะนั้นช่วงเวลาตรงนี้เป็นช่วงเวลาที่สำคัญ ปัจจุบัน เอไอเอส ไฟเบอร์ มีลูกค้าใช้แล้ว 2 แสนราย เรายังเป็นเด็กอยู่เพิ่งเริ่มต้นจุดขายของเราคือ เทคโนโลยี FTTX (ไฟเบอร์ทูดิเอ็ก คือชื่อเรียกแบบรวมๆของโครงสร้างของโครงข่ายบรอดแบนด์ที่ใช้สายไฟเบอร์ออฟติกเป็นสื่อกลางทั้งหมดหรือบางส่วน) ที่ราคาเท่ากันกับคู่แข่ง มีความเร็วที่ดีกว่า และ ยังให้กล่อง เอไอเอส เพย์ บล็อก เพื่อเข้าไปดู ไอพีทีวี ได้ด้วย และ ระยาวเราจะทำ blundering (ตั้งราคาแบบแพ็คเก็จรวม) "

 หลังเป็นพันธมิตรกับทีโอที

การได้โรมมิ่งคลื่น 2100 เมกะเฮิรตซ์กับ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) จะทำให้ เอไอเอส มีขีดความสามารถดีขึ้นมีถนนใหญ่ขึ้น จากเดิมมี 40 เมกะเฮิรตซ์ แบ่งเป็น คลื่น900 เมกะเฮิรตซ์ จำนวน 10 เมกะเฮิรตซ์ และ คลื่น 1800 และ 2100 เมกะเฮิรตซ์ อีก 30 เมกะเฮิรตซ์ และ คลื่นความถี่ 2100 เมกะเฮิรตซ์ อีกจำนวน 15 เมกะเฮิรตซ์

ดังนั้น คลื่นความถี่ 900 เมกะเฮิรตซ์ ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบ 2 จี จำนวน 5 เมกะเฮิรตซ์ และ อีกจำนวน 5 เมกะเฮิรตซ์ ทำโทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบ 3 และ 4 จี ในบางพื้นที่ ส่วนคลื่น 1800 เมกะเฮิรตซ์ ทำระบบ 4 จี ส่วน 2100 เมกะเฮิรตซ์ ทำ 3 จีอย่างเดียว ส่วนการโรมมิ่งของ ทีโอที บนคลื่น 2100 เมกะเฮิรตซ์ จะทำมาเสริม 3 จี ค่อยๆ ไล่ทีละ 5 เมกะเฮิรตซ์จนเต็ม

 หลังปรับโครงสร้างเห็นอะไรเป็นรูปธรรม

ตั้งแต่ต้นปี 2560 ในด้านรายได้ความแข็งแรงของสินค้า และโครงสร้างด้านการตลาด ต้องยอมรับว่าในช่วงแรกๆเอไอเอส แกว่งไปในเรื่องการไม่ได้คลื่น 900 ในรอบแรก ทำให้ลูกค้าสับสน และในครึ่งปีแรก เอไอเอส มีระบบ 4 จีหลังคู่แข่ง ดังนั้นภายในปีนี้หลังได้ใบอนุญาตเมื่อปลายปีที่แล้ว ทำให้สิ้นปีนี้จึงมีเครือข่ายที่แข็งแรงไม่แพ้คู่แข่งเรียกได้ว่า อาวุธครบมือ เรามั่นใจว่าเราสู้ได้ไม่มีปัญหา

“ปีนี้เป็นปีที่ เอไอเอส มี 2 ปัจจจัยคือ ไม่ได้ประมูล 900 ในช่วงแรก และต้นปีเพิ่งได้ใบอนุญาต ซึ่งทั้ง 2 เหตุการณ์เราประคองได้ แต่ในปีหน้า เราพร้อมจะสู้ดังนั้น เวลาขึ้นชกเราไม่ถูกมัดมือ แต่ก็ประมาทคู่แข่งไม่ได้เช่นเดียวกัน”

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,199 วันที่ 9 - 12 ตุลาคม พ.ศ. 2559