ไทยต้องกล้าทำรถยนต์ไฟฟ้าใช้

10 ตุลาคม 2559
ผมว่าประเทศไทยจะมีความก้าวหน้าและทันยุคสมัยต้องกล้าตัดสินใจทำเรื่องใหญ่ๆ และเป็นเรื่องใหม่ๆ นั่นก็คือต้องกล้าตัดสินใจปรับอุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์เสียใหม่ หันไปผลิตรถยนต์ไฟฟ้าแบบเต็มสตรีม และตั้งเป้าผลิตรถยนต์ไฟฟ้าออกมาให้ได้ภายใน 5-10 ปีนับแต่บัดนี้เป็นต้นไป ส่วนรถยนต์แบบระบบเดิม คือ ระบบเครื่องยนต์แบบสันดาปภายในปล่อยให้ "คลื่นลูกใหม่" ซัดเข้าสู่ฝั่งเป็นไปตามธรรมชาติของมัน เหมือนกับหลายสิ่งอย่างที่ทุกวันนี้ได้เปลี่ยนแปลงไปแล้ว

ผมว่าทุกวันนี้คนในโลกยุคเปลี่ยนผ่านยังกล้าๆ กลัวๆ ต่อการเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะผู้ผลิตรถยนต์ไม่ว่าจะเป็นโลกตะวันตกหรือโลกตะวันออก อ้างเหตุผลต่างๆ นาๆ ถ่วงรั้งไม่ให้คิดอะไรที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมโดยสิ้นเชิง ทั้งๆ ที่ก็เห็นชัดแล้วว่ารถยนต์ไฟฟ้า 4 ล้อเล็ก ไร้ระบบสันดาปภายในสามารถวิ่งได้จริงบนพิภพนี้ เราไม่จำเป็นต้องพึ่งพาน้ำมันอีกต่อไปได้แล้ว และที่สำคัญแม้เรายังอยู่ในช่วงเริ่มแรกของการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ แต่ก็อยู่ในระดับที่น่าพอใจ ชาร์ตไฟฟ้าครั้งเดียวรถยนต์วิ่งได้ต่อเนื่องเป็นเวลา 160-200 กิโลเมตร ราคารถยนต์ก็ถูกแสนถูก จ่ายแค่ 1 ใน 3 ของราคารถยนต์ 4 ล้อเล็กในระบบสันดาปภายในเท่านั้น

รถยนต์ไฟฟ้าในสายตาคนทั่วไปคิดว่าเป็นเรื่องไกลตัว แต่ในความเป็นจริงแล้วไม่ใช่เรื่องไกลตัวแต่อย่างใด เพราะบริษัทคนไทยแท้ๆ หรือ ค่าย "ไทยซัมมิท" ผู้เติบโตธุรกิจมาตั้งแต่รับจ้างเย็บเบาะให้รถยนต์ดัทสัน (สมัยนี้เรียกนิสสัน) เดี๋ยวนี้เขารับจ้างผลิตชิ้นส่วนป้อนรถพลังงานไฟฟ้า "เทสลา" อเมริกาแล้ว รับออร์เดอร์ล็อตแรกมูลค่า 150 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯผลิตระบบสายไฟในรถยนต์และบอดี้พาร์ตส่งมอบงานปีหน้าครับ

โดยโรงงานผลิตบอดี้ พาร์ทที่ป้อนให้เทสลานั้น เป็นโรงงานที่ไทยซัมมิทกรุ๊ป เข้าไปเทคโอเวอร์กิจการของบริษัท โอกิฮาร่า คอร์เปอเรชั่น บริษัทผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์รายใหญ่ที่สุดของโลกในรัฐมิชิแกน ของสหรัฐอเมริกาเมื่อ 4 ปีก่อน โรงงานแห่งนี้ได้รับความไว้วางใจจาก เทสลา มอเตอร์ส สหรัฐอเมริกาผู้ออกแบบ ผลิตและจำหน่ายรถพลังงานไฟฟ้าและส่วนประกอบระบบส่งกำลังของยานพาหนะไฟฟ้าที่ก้าวหน้าที่สุดและทำตลาดได้ดีอยู่ในเวลานี้ จะเป็นรองแค่จำนวนขายที่น้อยกว่าผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าจากประเทศจีนเท่านั้น

อินเดียก็รุกคืบส่งรถยนต์ไฟฟ้าไปตลาดอังกฤษแล้ว ผมว่าอินเดียน่ากลัวกว่าจีน เพราะเขาทำได้ในราคาต้นทุนที่ต่ำกว่าจริงๆ ต่อไปถ้ามัวแต่คิดโน่นคิดนี่ห่วงหน้าพะวงหลัง อินเดียจะเอาไปกินเรียบ เพราะเป็นเรื่องเบสิกๆ เท่านั้น

ผมว่ากระทรวงคมนาคมต้องแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายเปิดทางให้รถยนต์ 4 ล้อเล็กส่วนบุคคลวิ่งได้บนท้องถนนเหมือนรถยนต์แบบระบบสันดาปภายใน รัฐวางกฎเกณฑ์ข้อกำหนดเกี่ยวกับระบบชาร์จแบตเตอรี่ให้ใช้ระบบเดียว อย่าปล่อยให้มีระบบแบบ 4-5 หัวชาร์จ จะเอาอะไรก็เลือกสักอย่าง ถ้าหลายอย่างปั๊มชาร์จแบตฯเกิดได้ลำบาก หรือวางกฎเกณฑ์อนุญาตให้ส่วนบุคคลชาร์จเองได้และปลอดภัยในการใช้งาน รัฐต้องสนับสนุนให้วิทยาลัยหรือมหาวิทยาลัยสร้างบุคลากรรองรับกับความรู้ใหม่ๆ ด้านรถยนต์ไฟฟ้าเพื่อรองรับอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าไทยเติบโต เรื่องใหญ่ที่คนห่วงมากที่สุดสำหรับรถยนต์ไฟฟ้าก็คือ จะทำอย่างไรกับแบตเตอรี่ที่ใช้แล้ว 2 ปีก็ต้องทิ้ง จะทิ้งอย่างไรถึงจะปลอดภัยไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม แต่เรื่องนี้ก็อย่าคิดมากเช่นกันครับ

น่าจะลองคุยกับคุณ ฮิเดโอะ ทซิรุมากิ วิศวกรออกแบบรถยนต์ ที่พัฒนารถยนต์ไฟฟ้าขนาดเล็กดูบ้างก็ได้ เคยบอกว่าต้นทุนรวมแล้วประมาณ 300,000 บาท/คันเท่านั้น เห็นว่าพัฒนาไปแล้ว 2-3 รุ่น รุ่นหนึ่งพัฒนาเป็นพิเศษ "ทำเพื่อแม่" เป็นรถก็ได้เรือก็ดี ถ้าใช้เป็นรถวิ่งได้ 150 กิโลเมตร และเป็นเรือวิ่งได้ 100 กิโลเมตร ที่คิดทำเป็นสะเทินน้ำสะเทินบกก็เพราะเหตุสึนามิเกิดขึ้นบ่อยที่ญี่ปุ่นให้คุณแม่ไว้ใช้งานหนีน้ำท่วมครับ

สิ่งใหม่มา สิ่งเก่าๆ ประดิษฐ์เก่าๆ ก็ต้องผ่านไป เหมือนสื่อสิ่งพิมพ์ เหมือนนาฬิกาข้อมือ เหมือนเครื่องพิมพ์ดีดนั่นหละครับ บางอย่างถึงมีสิ่งใหม่มา แต่สิ่งเก่าๆ ก็ยังอยู่ได้ บางอย่างของใหม่ก็ทดแทนกันได้ 100 % อย่าไปกลัวเลยครับ

Photo : Pixabay ภาพประกอบไม่เกี่ยวข้องกับเนื้อหา
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,199 วันที่ 9 - 12 ตุลาคม พ.ศ. 2559