ลุ้น3กลุ่มทุนชิงเค้กก้อนใหม่ 250 เส้นทางเดินรถกทม.-ปริมณฑล

10 ต.ค. 2559 | 00:00 น.
แม้ว่าคณะรัฐมนตรี(ครม.) จะอนุมัติให้โอนย้ายรถร่วมบริการองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ(ขสมก.) ไปขึ้นตรงกับกรมการขนส่งทางบก(ขบ.) แล้วก็ตามแต่ดูเหมือนเรื่องจะยังไม่จบลงง่ายเนื่องจากมีอีกหลายประเด็นที่การเจรจาไม่จบไปก่อนที่ครม.จะอนุมัติออกมาโดยเฉพาะประเด็นภาระหนี้รถร่วมเอกชนที่ยังติดค้างขสมก.อยู่กว่า 400 ล้านบาทโดยจะมีการหารือร่วมระหว่างขบ.กับรถร่วมเอกชนในวันที่ 4 ตุลาคมนี้ ซึ่งเมื่อรายงานนี้ปรากฏผลการเจรจาคงจะได้ข้อสรุปในระดับหนึ่งแล้ว

แต่ประเด็นที่จะต้องติดตามกันต่อไปหลังผลการเจรจาคือ "การประมูลเส้นทางเดินรถ" ที่ขบ.ว่าจ้างให้สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง(สจล.)ศึกษา เบื้องต้นคาดว่าจะมีจำนวน 250-260 เส้นทางใหม่ครอบคลุมพื้นที่กรุงเทพฯ-ปริมณฑล

 2 กลุ่มใหญ่เล็งผนึกทุนเดิมสู้ประมูล

ประเด็นที่น่าสนใจคือเส้นทางสายใหม่จะสามารถแก้ไขปัญหาการเดินรถและการบริการได้อย่างที่เป็นปัจจุบันนี้มากน้อยแค่ไหน ผู้ประกอบการรายเดิมจะผ่านเงื่อนไขการประมูลไปได้สักกี่ราย จะมีการร่วมกันระหว่างรายเดิมกับรายใหม่เกิดขึ้นหรือไม่ และรายใหม่ที่เป็นยักษ์ใหญ่ในวงการผู้ผลิตรถอย่างกลุ่ม ช.ทวี ดอลลาเซียน กลุ่มเบสท์รินกรุ๊ป และกลุ่มล็อกซเล่ย์ ที่ล่าสุด "คณิสสร์ ศรีวชิระประภา" หรือ "เค่อ นั่ว หลิน" ผู้บริหารระดับสูงของกลุ่มเบสท์รินกรุ๊ปและ "สุรเดช ทวีแสงสกุลไทย" ของกลุ่มช.ทวี ดอลลาเซียนยืนยันหนักแน่นว่าจะเข้าร่วมแข่งขันในครั้งนี้อย่างแน่นอน ส่วน"โกศล สุรโกมล" ของกลุ่มล็อกซเล่ย์ ยังอุบไต๋ และไม่ขอเปิดเผยในช่วงนี้จนกว่าจะใกล้ช่วงเวลาการประมูลจึงจะขอเปิดเผยว่าจะสู้หรือจะถอย

กรณีทั้ง 3 กลุ่มใหญ่ที่ได้รับการคาดหมายว่าจะเข้าร่วมแข่งขันประมูลเดินรถทั้งกว่า 250 เส้นทางนั้นต้องจับตากันต่อไปว่าจะแบ่งเค้กกันลงตัวอย่างไร มีรายไหนร่วมกับใครกันบ้าง ทั้งรายใหม่อย่างเบสท์รินกรุ๊ปที่สายสัมพันธ์ระหว่างนายบรรยง อัมพรตระกูล หนึ่งในหุ้นส่วนผู้ประกอบการเดินรถรายใหญ่ในพื้นที่ลาดกระบัง-พระโขนงกับเบสท์รินกรุ๊ป หรือกลุ่มช.ทวี ดอลลาเซียนที่ "สุรเดช" มีนัดร่วมกับผู้ประกอบการรถร่วมเอกชนกลุ่มหนึ่งทานข้าวกลางวันเมื่อวันที่ 3 ตุลาคมที่ผ่านมาคาดว่าจะเจรจาผนึกทุนเข้าร่วมแข่งขันในครั้งนี้

การผนึกพันธมิตรเพื่อเปลี่ยนโฉมการให้บริการและเดินรถโดยสารสาธารณะภายใต้บริบทใหม่ที่มีขบ. เป็นผู้ควบคุมในเขตพื้นที่กทม.-ปริมณฑลคงจะแข่งขันกันดุเดือดแน่ๆและท่าไม่ผิดเพี้ยนออกไปคงจะมีผู้ประกอบการ 2 รายคือกลุ่มช.ทวีฯและกลุ่มเบสท์รินเข้าไปแข่งขันกันในช่วงโค้งสุดท้าย ซึ่งอาจจะต้องมีกรณีความล่าช้าให้ได้เห็นกันอีกกับอมตะคดีที่เกิดขึ้นในหน่วยงานขสมก.กับปมการฟ้องร้องของทั้ง 2 ค่ายดังกล่าวที่เป็นไม้เบื่อไม้เมากันมาโดยตลอด ซึ่ง "บิ๊ก"ในกระทรวงคมนาคมและหน่วยงานขบ.หรือขสมก.ได้แต่ทำตาปริบๆเท่านั้น

ปัจจัยหนึ่งนั้นคือศักยภาพด้านเงินทุนของผู้ประกอบการรายใหม่จะมีมากกว่ารายเดิมที่ดูเหมือนว่าแต่ละรายมีภาระหนี้ผูกพันกันมานาน ทั้งหนี้ที่เกิดจากภาครัฐนำมาข้อให้รับไปก่อน และหนี้ที่เกิดขึ้นจากการลงทุนทางธุรกิจของแต่ละบริษัทเอง จนส่งผลกระทบให้หลายบริษัทไม่มีเครดิตที่แม้จะกู้สถาบันการเงินมาเพิ่มสภาพคล่อง แต่ว่ายังมีทุนทางธุรกิจอยู่บ้าง อาทิ มีรถในสังกัดหลายร้อยคัน มีอู่จอดรถ มีพนักงานขับรถที่พร้อมจะเข้าไปรับหน้าที่ได้ทันที

สจล.เร่งเปิดฟังความเห็นเส้นทางใหม่

โจทย์ใหญ่ที่ขบ.ควรต้องคิดให้รอบคอบคือจะทำอย่างไรถึงจะให้มีรถบริการทุกเส้นทางได้เหมือนเดิม ไม่ขาดช่วง มีรถใหม่ จำนวนเที่ยวเพียงพอ เส้นทางไม่ซ้ำซ้อนอีกต่อไป และหากต้องหักดิบกับรายเดิมเพื่อเปิดช่องให้รายใหม่แล้วศักยภาพการลงทุนมีมากก็จริงแต่อู่จอดรถ พนักงานขับรถจะหาได้รวดเร็วนี้ได้จากไหน ดังนั้นจึงต้องจับตาว่าคนขับ-กระเป๋าของผู้ประกอบการรายเดิมที่หลายรายในปัจจุบันขาดแคลนอยู่แล้วนั้นจะถูกซื้อตัวไปอยู่รายใหม่มากน้อยแค่ไหน ด้วยการประเคนรายได้สวัสดิการที่ดีขึ้นกว่าปัจจุบันนี้ ซึ่งหากทำได้ตามนี้จึงดูไม่ออกเลยว่าผู้ประกอบการรายเดิมจะมีทางออกอย่างไร อีกทั้งหากขบ.กำหนดเงื่อนไขที่เข้มข้นอีกมากมายจนอาจส่งผลให้รายเดิมท้อใจขายกิจการทิ้งผลกระทบที่ตามมาจะมีมากน้อยขนาดไหน สิ่งเหล่านี้ผู้บริหารกระทรวงคมนาคม กรมการขนส่งทางบกคงจะไม่มองข้ามไปแน่ๆ

ขณะนี้สจล.อยู่ระหว่างการเปิดรับฟังความเห็นประชาชนต่อกรณีเส้นทางเดินรถที่จะปรับปรุงใหม่ทั้งกว่า 250 เส้นทางพร้อมกับปรับปรุงแผนแม่บทการให้บริการเดินรถโดยสารสาธารณะในเขตพื้นที่กทม.-ปริมณฑล หลังจากนั้นจึงจะนำเสนอขบ.และกระทรวงคมนาคมเร่งผลักดันต่อไป ส่วนกระบวนการสุดท้ายว่าจะมีผู้ประกอบการสักกี่รายได้เข้าไปเดินรถ ใครผนึกกับใครบ้าง บริการจะเป็นมิติใหม่มากน้อยแค่ไหนอย่างไร ปี 2560 นี้คงจะได้เห็นภาพชัดเจนยิ่งขึ้นกับมติใหม่ของการให้บริการรถโดยสารสาธารณะในกทม.-ปริมณฑลที่ขึ้นตรงกับขบ.ภายใต้แผนแม่บทใหม่ที่คาดว่าจะประกาศใช้ในปี 2560 นี้ แต่ที่แน่ๆอัตราค่าโดยสารยังคงต้องติดตามกันต่อไป

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,198 วันที่ 6 - 8 ตุลาคม พ.ศ. 2559