รัฐอัดงบเพิ่มอีก 2 พันล้าน ชุบชีวิตธุรกิจ‘เอสเอ็มอี’

10 ต.ค. 2559 | 04:00 น.
รัฐบาลเตรียมอัดงบประมาณอีก 2,000 ล้านบาท เพื่อชุบชีวิตธุรกิจคืนชีพระลอก 2 จ่อคลอดหลักเกณฑ์ภายใน 1 เดือน

นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารศูนย์ช่วยเหลือเอสเอ็มอี (SME Rescue Center) เผยถึงความคืบหน้าเกี่ยวกับเงินกองทุนพลิกฟื้นวิสาหกิจขนาดย่อมวงเงิน 2,000 ล้านบาท หลังผ่านการพิจารณาจากคณะรัฐมนตรีว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการกำหนดหลักเกณฑ์ที่มีกระทรวงการคลังเป็นประธาน โดยคาดว่าจะใช้เวลาไม่เกิน 1 เดือนต่อจากนี้เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่มีปัญหาผ่านช่องทางของศูนย์ SME Rescue Center

"ศูนย์ SME Rescue Center มีงบประมาณ 1,000 ล้านบาทจากกองทุนพลิกฟื้นฯ เพื่อช่วยเหลือเอสเอ็มอีที่มีปัญหาด้านการเงิน ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการดำเนินการ 500 กว่าเรื่อง คาดว่าจะช่วยผู้ประกอบการได้ 1,500-2,000 ราย สำหรับรายที่พร้อมและผ่านหลักเกณฑ์การพิจารณา นอกจากนี้ยังได้รับข่าวดีคือ รัฐบาลได้เตรียมจัดสรรงบประมาณเพิ่มเติมให้อีก 2,000 ล้านบาท โดยคาดว่าภายใน 1 เดือนจากนี้จะสามารถจัดทำหลักเกณฑ์ และกรอบขั้นตอนเสร็จ เพื่อให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีมาขอรับความช่วยเหลือ โดยเบื้องต้นจะเน้นในกลุ่มที่มีศักยภาพแต่ขาดสภาพคล่องทางการเงิน ส่วนผู้ประกอบการรายที่ประสบปัญหาขั้นรุนแรง ทางศูนย์ SME Rescue Center ก็จะเก็บข้อมูลไว้ และหาช่องทางช่วยเหลือต่อไป"

นายสนธิรัตน์กล่าวต่อว่า ในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมามีผู้ประกอบการเอสเอ็มอีซึ่งประสบปัญหาต่างๆติดต่อขอรับบริการจากศูนย์ SME Rescue Center ทั่วประเทศรวมทั้งสิ้น 1,435 ราย จำนวน 2,711 เรื่อง ดำเนินการแล้วเสร็จ 129 ราย โดยเป็นปัญหาทางด้านการเงินมากที่สุด 46% รองลงมาเป็นปัญหาทางด้านการตลาด 20% ด้านการผลิต 13% การบริหารจัดการ 8% และอื่นๆ (14%) คาดว่าภายใน 1 ปี จะมีผู้มาขอรับบริการประมาณ 20,000 ราย

ด้านนายมงคล ลีลาธรรม กรรมการผู้จัดการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย หรือ SME Developing Bank กล่าวเสริมว่า การจัดตั้งศูนย์ช่วยเหลือเอสเอ็มอี เราประสงค์ให้ธุรกิจเดินหน้าต่อไปได้โดยไม่ต้องเสียเวลาและเงินในการถูกดำเนินคดี บางรายเป็นคดีความแล้วกว่าจะสิ้นสุดกลับมาทำธุรกิจได้ต้องใช้เวลา 7-10 ปี ซึ่งเป็นความสูญเสียทางเศรษฐกิจอย่างมาก จากสถิติของเอสเอ็มอี 2-3 ล้านรายในปัจจุบันมีและเคยมีปัญหาด้านการเงินคิดเป็น 16-17% ส่วนหนึ่งผู้ประกอบการมักจะขาดความรู้ความเข้าใจด้านการเงิน พอธุรกิจมีปัญหาก็จะไม่ชำระเงินค่างวดค้างเกิน 4 เดือนกลายเป็นหนี้เสีย (NPL) เกิน 6 เดือนก็จะกลายเป็นคดีความขึ้นสู่ศาล ซึ่งระหว่างทางแบงก์กำลังคิดสร้างกลไกเพื่อลดจำนวนผู้ประกอบการที่มีปัญหาทางการเงินให้เหลือ 7- 8%

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,198 วันที่ 6 - 8 ตุลาคม พ.ศ. 2559