‘อานนท์’ ปั้นแอพ ‘เล่นดิน-เล่นนํ้า’ เป็นเพื่อนคู่กายเกษตรกร

08 ตุลาคม 2559
ถึงตอนนี้ต้องบอกว่าเป็นยุคทองของคน "เจน ซี" ก็ว่าได้เพราะถือว่าเป็นยุคการใช้โซเชียลมีเดียในการเชื่อมต่อเป็นหลัก

นั่นจึงเป็นที่มาที่คนยุคเจนซี นำเทคโนโลยีมาพัฒนาสินค้าเพื่อต่อยอดธุรกิจ ที่สำคัญคนยุคนี้ต้องการเป็นเจ้าของธุรกิจมากกว่าการเป็นลูกจ้าง เพราะมีตัวอย่างให้เห็นอย่าง มาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก ที่ประสบความสำเร็จกับการเปิดเฟดบุ๊ก
ขณะที่ประเทศไทยรัฐบาลมีนโยบายผลักดันสตาร์ทอัพฯ ยิ่งเกิดกระแสให้คนรุ่นใหม่อยากประสบความสำเร็จด้วยการนำเทคโนโลยีมาต่อยอด

[caption id="attachment_103981" align="aligncenter" width="335"] อานนท์ บุณยประเวศ อานนท์ บุณยประเวศ[/caption]

เช่นเดียวกับ นายอานนท์ บุณยประเวศ ชายหนุ่มวัย 23 ปี นักศึกษาปริญญาโท ชั้นปีที่ 2 คณะเทคโนโลยีสารเทศ มหาวิทยาลัยศรีปทุม รั้งตำแหน่ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และ ผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท เทคฟาร์ม จำกัด พัฒนาแอพพลิเคชั่นภายใต้ชื่อ LenNam (เล่นน้ำ) อุปกรณ์วัดคุณภาพน้ำสำหรับประมงเลี้ยงกุ้ง โดยมีทีมร่วมพัฒนาจำนวน 5 คน

อานนท์ บอกถึงเหตุผลที่พัฒนาแอพฯ ขึ้นมา เนื่องจากสนใจเริ่มต้นในปัญหาการเกษตรเมื่อตอนเรียนอยู่ปี 3 และได้คิดค้นผลิตภัณฑ์ตัวนึงขึ้นมาชื่อว่า LenDin (เล่นดิน) เป็นอุปกรณ์ฮาร์ดแวร์ที่ใช้ตรวจสอบคุณภาพดินขนาดพกพา จึงทำให้ผมได้มีโอกาสพบเจอกับเกษตรกรในแขนงต่างๆในหลายๆจังหวัด เลยทำให้ได้รู้ความจริงว่า นอกจากปัญหาต้นทุนที่สูงของการปลูกพืชบนดินแล้วนั้น ทางฝั่งของเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ โดยเฉพาะการเลี้ยงสัตว์น้ำระบบปิดนั้น ก็ประสบปัญหาในเรื่องของความเสียงอันเกิดจากคุณภาพน้ำด้วยเช่นกัน จึงได้นำเอาองค์ความรู้เดิมที่ได้คิดค้นไว้จากดิน มาพัฒนาต่อยอดให้เหมาะสม และมีประสิทธิภาพต่อการแก้ปัญหาของผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ และได้ตั้งชื่อว่า LenNam(เล่นน้ำ) อุปกรณ์ตรวจสอบคุณภาพน้ำขนาดพกพา

"พัฒนาแอพฯ ขึ้นมามีจุดประสงค์เดียวคือ "ช่วยเหลือ และแก้ปัญหาของเกษตรกร" พวกเราล้วนแล้วแต่มีภูมิหลังครอบครัวที่เป็นเกษตรกร เลยรู้ว่าเกษตรกรได้พบเจอปัญหาอะไรบ้าง ผนวกกับความรู้ทางเทคโนโลยีที่ได้เรียนรู้ และเล็งเห็นว่าเราสามารถนำองค์ความรู้เหล่าน้ำมาแก้ปัญหานั้นได้ และเราก็ทำมันขึ้นมาด้วยความมุ่งมั่น ตั้งใจ เพื่อประโยชน์ต่อเกษตรกรในวงกว้าง โดยผ่านการสนับสนุนจากทั้ง ภาครัฐ เอกชน ทั้งในประเทศ และต่างประเทศ"

อานนท์ บอกว่า ขณะนี้กำลังเจรจากับนักลงทุนอยู่เพื่อจะนำเงินมาผลิตตัวฮาร์ดแวร์ออกจัดจำหน่าย ซึ่งกำลังวิจัย พัฒนาเพิ่มเติมในส่วนของคุณภาพ และประสิทธิภาพ ให้เกษตรกรสามารถได้ประโยชน์จากผลิตภัณฑ์นี้ให้ได้มากที่สุด และในเร็ววันนี้ กำลังเตรียมตัวเปิดตัวแอพลิเคชันออกสู่ตลาดก่อน เพื่อเป็นสื่อสังคมออนไลน์สำหรับเกษตรกร และถือว่าเป็นการเตรียมพร้อมก่อนการผลิตขายฮาร์ดแวร์ในอนาคต

ในส่วนของผลงานนั้น เขา เคยคว้ารางวัลชนะเลิศUSAID (United States Agency for International Development) และ รางวัลรองชนะเลิศ ในงานประกวด ImagineCup Thailland 2015 และ Digital Winner จากโครงการ "ดีแทค แอคเซอเรเรจ" ปีที่ 3

ไม่เพียงเท่านี้ อานนท์ ยังแสดงความคิดเห็นต่อกรณีที่ภาครัฐสนับสนุนสตาร์ทอัพฯ ถือว่าเป็นเรื่องที่ดี และเป็นโอกาสที่ดีที่ประเทศไทยจะได้ขับเคลื่อน ด้วยหน่วยเศรษฐกิจเล็ก ๆที่เริ่มต้นด้วยความคิดสร้างสรรค์ และทำให้คนไทยได้เริ่มกล้าที่จะพัฒนาตนเอง และสร้างนวัตกรรมใหม่ๆออกสู่ตลาด จากอดีตอาจจะเป็นงานนวัตกรรมต่างๆออกสื่อมากมาย แต่กลับไม่ประสบความสำเร็จ เพราะองค์ความรู้ และแรงสนับสนุนไม่เพียงพอ แต่สำหรับยุคนี้ ยุคที่องค์ความรู้ต่างๆเข้าถึงได้ง่าย ยุคที่ภาครัฐเริ่มให้การสนับสนุนที่มากขึ้น นับว่าเป็นโอกาสที่ดีมากๆ โดยเฉพาะสำหรับเยาวชนคนรุ่นใหม่ ที่จะได้มีความกล้าคิด กล้าทำ สิ่งที่สร้างสรรค์ออกมาสู่สังคมในภายภาคหน้า

อานนท์ ทิ้งท้าย

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,198 วันที่ 6 - 8 ตุลาคม พ.ศ. 2559