จับตา3ค่ายชิงทางเดินรถใหม่ ล็อกซเล่ย์-ช.ทวี-เบสท์รินฯแห่ประมูลสายกทม.-ปริมณฑล

05 ต.ค. 2559 | 04:00 น.
จับตาค่าย ช.ทวี-เบสท์รินกรุ๊ป –ล็อกซเล่ย์ ชิงประมูลเส้นทางเดินรถสายใหม่ในกทม.-ปริมณฑล 5 ต.ค.นี้ ขณะที่ขบ.เรียกรถร่วมเอกชนถกปมภาระหนี้ 400 ล้านหลังรมช.คมนาคมขู่เร่งเคลียร์หนี้ก่อนแข่งประมูลเส้นทางเดินรถ ด้านผู้ประกอบการหวั่นถูก "ขบ."โยนหนี้ก้อนโตรอบ 2 จากเงื่อนไขโหดให้ปรับปรุงสภาพรถ

แหล่งข่าวระดับสูงของกรมการขนส่งทางบก(ขบ.) เปิดเผย "ฐานเศรษฐกิจ" ว่าจากกรณีคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบยกเลิกมติ ครม. เดิมเมื่อวันที่ 11 มกราคม 2526 ที่ระบุให้องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) เป็นผู้ประกอบการเดินรถเพียงรายเดียว และรถร่วมฯ เอกชนจะต้องทำสัญญาเข้าร่วมเดินรถกับ ขสมก. โดยหลังจากที่มติ ครม. เดิมดังกล่าวยกเลิกไปแล้ว รถร่วม ขสมก. จะต้องมาขอใบอนุญาตกับขบ.นั้นซึ่งจากกรณีนี้ได้ส่งผลต่อการทำความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนในการนำเสนอข่าวต่อกรณีที่ว่าหากรถร่วมเอกชนไม่เคลียร์ภาระหนี้ต่อขสมก.ที่พบว่ามีราว 400 ล้านบาทนั้นก็จะไม่สามารถมาร่วมแข่งประมูลเดินรถในเส้นทางต่างๆ ได้

"ในสัปดาห์หน้าจะเชิญรถร่วมเอกชนทั้งหมดมาประชุมชี้แจงพร้อมหารือถึงรายละเอียดเพื่อนำไปกำหนดไว้ในเงื่อนไขการประมูลเดินรถในเส้นทางต่างๆที่ขบ.ศึกษาเอาไว้แล้ว ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความชัดเจนในบทบาทและแนวทางกำกับดูแลการเดินรถโดยสารในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล โดยกำหนดให้ขบ.เป็นผู้กำกับดูแล แต่เพียงผู้เดียว และให้ ขสมก. เป็นเพียงผู้ประกอบการเดินรถรายหนึ่ง ซึ่งจะทำให้เกิดการแข่งขันด้านการให้บริการเดินรถประจำทางในกรุงเทพมหานครอย่างเป็นธรรม"

ปัจจุบันรถร่วมเอกชนที่มีสัญญากับ ขสมก.มีทั้งสิ้น 111 สัญญา โดยมีเส้นทางให้บริการรวมทั้งรถ ขสมก. และรถร่วม 225 เส้นทาง แต่จะมีการปรับเส้นทางใหม่เพิ่มเป็น 250-260 เส้นทางโดยสัญญารถร่วมเอกชนจะครบกำหนดในปี 2561

ด้านนางภัทรวดี กล่อมจรูญ นายกสมาคมผู้ประกอบการรถโดยสารประจำทาง กล่าวว่า จนถึงขณะนี้ยังไม่มีความมั่นใจว่าภาครัฐจริงใจให้ความช่วยเหลือต่อรถร่วมเอกชน เห็นได้จากการที่ผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงคมนาคมออกมาระบุว่ารถร่วมเอกชนจะต้องไปเคลียร์ภาระหนี้ราว 400 ล้านบาทกับขสมก.ให้เรียบร้อยก่อนจึงจะมีสิทธิ์เข้ามาร่วมประมูลเดินรถเส้นทางใหม่ที่ขบ.จัดเตรียมไว้ ทั้งอาจระบุให้ปรับปรุงสภาพรถแต่ละคันอีกด้วย นั่นคือภาระหนี้ก้อนใหม่ที่จะถาโถมเข้ามาให้เป็นภาระกับรถร่วมเอกชน

"วันที่ 5 ตุลาคมนี้ได้รับเชิญเข้าหารือร่วมกับขบ.ซึ่งจะต้องขอรอดูก่อนว่าเมื่อเซ็นรับสภาพภาระหนี้แล้วจะส่งผลกระทบอย่างไรต่อไป จะนำไปเป็นประเด็นในการฟ้องร้องให้ขาดคุณสมบัติในการเข้าร่วมแข่งประมูลเดินรถเส้นทางใหม่หรือไม่ และจะมีเงื่อนไขอะไรออกมากีดกันรถร่วมเอกชนไม่ให้เข้าร่วมประมูลเดินรถในเส้นทางใหม่อีกหรือไม่ ประการสำคัญให้จับตา กลุ่มบริษัทช.ทวีดอลลาเซียน กลุ่มบริษัทล็อกซเล่ย์ และกลุ่มบริษัทเบสท์รินกรุ๊ป ว่าจะได้รับเชิญเข้ามาร่วมประมูลเดินรถเส้นทางสายใหม่นี้หรือไม่ ซึ่งทั้ง 3 กลุ่มมีความพร้อมทั้งสิ้น"

นางภัทรวดีกล่าวอีกว่าหากผลการเจรากับขบ.ไม่สามารถสรุปความชัดเจนจะขอเข้าพบนายออมสิน ชีวะพฤกษ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เพื่อนำเสนอถึงปมปัญหาหนี้สินราว 400 ล้านบาทที่เกิดจากภาครัฐประเคนมาให้รถร่วมเอกชนทั้งสิ้น เนื่องจากขณะนั้นภาครัฐขอชะลอเรื่องการปรับราคาค่าโดยสารกับรถร่วมเอกชน แต่วันนี้กลับนำเรื่องดังกล่าวมาเป็นประเด็นเงื่อนไขกับรถร่วมเอกชนจึงเห็นว่าไม่ยุติธรรมกับรถร่วมเอกชน

"ณ วันนี้ยังคงยืนยันว่าไม่มีความพร้อมที่จะผ่อนชำระหนี้ดังกล่าว อีกทั้งยังไม่มีงบก้อนใหม่ไปลงทุนแน่ๆหากมีการกำหนดเงื่อนไขที่ยุ่งยากระบุไว้ในการแข่งประมูลเดินรถเส้นทางตามแผนแม่บทฉบับใหม่"นางภัทรวดีกล่าว

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,197 วันที่ 2 - 5 ตุลาคม พ.ศ. 2559