ยุทธศาสตร์อุตสาหกรรม 20 ปี

01 ต.ค. 2559 | 03:00 น.
การชูนโยบายขับเคลื่อนประเทศไทย 4.0 ภายใต้รัฐบาลของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ต้องการนำพาประเทศให้ก้าวสู่การเป็นประเทศหนึ่ง ที่กาวพ้นกับดักประเทศรายได้ปานกลาง และเปลี่ยนจากเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยประสิทธิภาพเป็นเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม ก็ดูเหมือนว่าจะเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมาบ้าง เมื่อกระทรวงอุตสาหกรรม ซึ่งมีดร.อรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กำลังจะเสนอยุทธศาสตร์การพัฒนาอุตสาหกรรมระยะ 20 ปี(2560-2579) ให้นายสมคิด จาจุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เห็นชอบภายในเร็วๆนี้ ก่อนนำเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาภายในเดือนตุลาคมนี้ ซึ่งถือเป็นแผนที่นำทางในการพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศ เพื่อขับเคลื่อนไปสู่ประเทศไทย 4.0 ให้ได้

ทั้งนี้ เท่าที่เห็นแผนยุทธศาสตร์ดังกล่าว จะประกอบไปด้วย 3 ยุทธศาสตร์หลัก ได้แก่ 1.การปฏิรูปภาคอุตสาหกรรมไทยสู่อุตสาหกรรมที่ขับเคลื่อนด้วยปัญญา ที่มีเป้าหมายในการเพิ่มจำนวนผู้ประกอบการและมูลค่าของการลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตของอุตสาหกรรมเป้าหมาย ลดของเสียจากภาคอุตสาหกรรม และเพิ่มอัตราการใช้เทคโนโลยีดิจิตอลในการดำเนินการของผู้ประกอบการจะประกอบไปด้วย 3 กลยุทธ์ ที่สำคัญได้แก่ 1.1 การสร้างเครือข่ายเชื่อมโยงคลัสเตอร์อุตสาหกรรม ซึ่งจะมีการสร้างความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องตลอดห่วงโซ่อุตสาหกรรม ตั้งตี่การพัฒนาวัตถุดิบ การผลิต และจำหน่าย สร้างการเชื่อมโยงผู้ประกอบการรายใหญ่กับรายย่อยในคลัสเตอร์ เป็นต้น

1.2 การเสริมสร้างเศรษฐกิจฐานรากและสังคมผู้ประกอบการ ที่จะเข้าไปส่งเสริมผู้ประกอบการกลุ่มธุรกิจเกิดใหม่ในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายโดยเฉพาะ และให้เกิดการยกระดับด้วยนวัตกรรม เป็นต้น และ 1.3 การยกระดับผลิตภาพ มาตรฐาน และนวัตกรรม เช่น การพัฒนาเทคโนโลยีต่างๆ เพื่อปรับปรุงคุณภาพของสินค้า เป็นต้น

ยุทธศาสตร์ที่ 2 เป็นการปฏิรูปนิเวศอุตสาหกรรมรองรับอุตสาหกรรมที่ขับเคลื่อนด้วยปัญญา มีเป้าหมายในการเพิ่มการลงทุนในด้านการวิจัยและพัฒนา เพิ่มจำนวนนักวิจัยในอุตสาหกรรมเป้าหมาย เพิ่มมูลค่าเพิ่มของผลผลิตของอุตสาหกรรมกลุ่มเป้าหมาย เพิ่มจำนวนแรงงานคุณภาพเพื่อรองรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย และปฏิรูปองค์กรภาครัฐเพื่อรองรับการพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมาย ซึ่งประกอบไปด้วย 3 กลยุทธ์ที่สำคัญได้แก่ 2.1 การพัฒนาระบบนิเวศรองรับการเติบโตของอุตสาหกรรม ให้เอื้อต่อการประกอบกิจกรรมด้านอุตสาหกรรม เช่น การจัดตั้งเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษในรูปแบบคลัสเตอร์ พัฒนาเขตนิคมอุตสาหกรรม และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดานดิจิตอลมารองรับ

2.2 การปฏิรูปองค์กรภาครัฐให้ยืดหยุ่นต่อการเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะการปรับโครงสร้างของกระทรวงอุตสาหกรรมให้มีความยืดหยุ่น ที่จะปรับเปลี่ยนจากหน่วยงานกำกับดูแล มาเป็นหน่วยงานที่ช่วยอำนวยความสะดวกมากขึ้น การปรับปรุงการจัดตั้งและยุบหน่วยงานรัฐให้ง่ายขึ้น และการปรับเปลี่ยนโครงสร้างหน่วยงานตามบทบาทหน้าที่ และ2.3 การพัฒนาทักษะ องค์ความรู้รองรับการเปลี่ยนแปลง เช่น การยกระดับทักษะและองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยี การสร้างผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีและนวัตกร การเชื่อมโยงนวัตกรรมและอง๕ความรู้ด้วยเทคโนโลยีดิจิตอล เป็นต้น

ยุทธศาสตร์ที่ 3 เป็นการเชื่อมโยงอุตสาหกรรมไทยกับเศรษฐกิจโลก โดยมีเป้าหมายในการเพิ่มการลงทุนในผู้ประกอบการไทยและนักลงทุนต่างชาติในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย และเพิ่มการขยายตัวของอุตสาหกรรมกลุ่มเป้หมาย ประกอบด้วยไปด้วย 3 กลยุทธ์ ได้แก่ 3.1 การเชื่อมโยงการผลิตและการตลาดด้วยดิจิตอล 3.3 ส่งเสริมการลงทุนขยายฐานการผลิตในและนอกประเทศ และการส่งเสริมอุตสาหกรรมไทยเชื่อมโยงห่วงโซ่การผลิตของโลก

ทั้งนี้ หมดนี้ถือเป็นยุทธศาสตร์ภาพกว้างๆในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรม 4.0 ที่มีเป้าหมายว่า จะเพิ่ม GDP ภาคอุตสาหกรรมไม่น้อยกว่าร้อยละ 4.5 ต่อปี และผลิตภาพรวม เติบโตไม่น้อยกว่าร้อยละ 2.0 ต่อปี

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,196
วันที่ 29 กันยายน - 1 ตุลาคม พ.ศ. 2559