ส่องลู่ทางเจาะตลาดเยอรมนี ฮับโลจิสติกส์ระดับเวิลด์คลาส

01 ต.ค. 2559 | 02:00 น.
เนื่องด้วยศักยภาพที่แข็งแกร่งของเยอรมนีในฐานะประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในยุโรปและตำแหน่งทางภูมิศาสตร์ที่ทำให้เยอรมนีเป็นหนึ่งในฮับทางการค้าและการลงทุนที่สำคัญในภูมิภาค การส่งเสริมโอกาสสำหรับผู้ประกอบการไทยเข้ามายังเยอรมนีจึงเป็นหนึ่งในเป้าหมายที่ท่านทูต“ธีรวัฒน์ ภูมิจิตร” เอกอัครราชทูต ณกรุงเบอร์ลิน ให้ความสำคัญเป็นลำดับต้นๆ

[caption id="attachment_101893" align="aligncenter" width="700"] Logistic เยอรมนี Logistic เยอรมนี[/caption]

ธุรกิจหนึ่งที่ท่านทูตธีรวัฒน์เล็งเห็นโอกาสสำหรับผู้ประกอบการไทยในการรุกเข้าสู่เยอรมนี คือ ธุรกิจด้านโลจิสติกส์ ที่จะสามารถเข้ามาช่วยส่งเสริมการประกอบอาชีพของชาวไทยที่มีอยู่ในเยอรมนีเป็นจำนวนมาก ซึ่งจำนวนไม่น้อยประกอบธุรกิจประเภทร้านอาหาร อย่างไรก็ดี เมื่อมองไปยังซัพพลายเชนของธุรกิจดังกล่าว ตั้งแต่ผู้ค้าปลีก ค้าส่ง ผู้นำเข้า และผู้ให้บริการโลจิสติกส์ พบว่าแทบจะไม่มีผู้ประกอบการของไทยอยู่เลย เป็นเหตุให้สินค้าไทยที่นำเข้ามามีราคาสูง โดยส่วนใหญ่ผู้นำเข้าอาหารและวัตถุดิบจากเอเชียจะเป็นผู้ประกอบการชาวจีนและเวียดนาม

ด้วยเหตุนี้ ท่านทูตจึงมองว่าหากมีผู้ประกอบการไทยเข้ามามีบทบาทในส่วนนี้ นอกจากจะเป็นโอกาสในการขยายตลาดของนักลงทุนไทยแล้ว ยังสามารถช่วยลดต้นทุนสินค้า และสร้างงานให้ชาวไทยในเยอรมนีได้อีกทอดหนึ่งด้วย

เยอรมนีนับเป็นประเทศที่มีความแข็งแกร่งทางด้านโลจิสติกส์ โดยเป็นอุตสาหกรรมที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 3 ของประเทศ และเป็นตลาดโลจิสติกส์ขนาดใหญ่ที่สุดในยุโรปด้วยรายได้ 2.35 แสนล้านยูโรเมื่อปี 2557 อยู่ในตำแหน่งที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ที่เป็นศูนย์กลางระหว่างยุโรปตะวันตกและตะวันออกด้วยชายแดนที่ติดต่อกับประเทศต่างๆ ถึง 9 ประเทศ มีโครงสร้างพื้นฐานที่ยอดเยี่ยม อีกทั้งยังมีเมืองต่างๆ ที่เป็นศูนย์กลางที่สำคัญสำหรับการขนส่งสินค้าทางอากาศ อาทิ แฟรงก์เฟิร์ต ไลป์ซิก และโคโลญจน์ และทางเรือ อาทิ ฮัมบวร์ก และเบรเมน รวมถึงมีผู้ให้บริการด้านโลจิสติกส์ชั้นนำจำนวนมาก

[caption id="attachment_101892" align="aligncenter" width="500"] ตลาดค้ากลาง ณ กรุงเบอร์ลิน แหล่งกระจายสินค้าเกษตรและอาหารที่สำคัญของกรุงเบอร์ลิน ตลาดค้ากลาง ณ กรุงเบอร์ลิน แหล่งกระจายสินค้าเกษตรและอาหารที่สำคัญของกรุงเบอร์ลิน[/caption]

นายมิชาเอล คูเชนเบคเกอร์ ผู้อำนวยการโลจิสติกส์ อัลไลแอนซ์ เยอรมนี (แอลเอจี) องค์กรความร่วมมือระหว่างรัฐและเอกชนที่ทำหน้าที่ส่งเสริมธุรกิจโลจิสติกส์ของเยอรมนี กล่าวกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า ด้วยเครือข่ายขนาดใหญ่ของบริษัทโลจิสติกส์ ทางองค์กรสามารถให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการที่สนใจจะเข้ามาขยายธุรกิจในยุโรป ด้วยการหาหุ้นส่วนในเยอรมนีที่มีความเหมาะสมมาจับคู่ธุรกิจ โดยสมาชิกของแอลเอจีไม่ได้มีเพียงแต่ผู้ให้บริการรายใหญ่ แต่ยังมีบริษัทขนาดเล็กลงมาที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน

"เราพบว่าตามธรรมดาแล้วบริษัทขนาดเล็กต้องการการสนับสนุนมากกว่าผู้เล่นรายใหญ่ ซึ่งเราสามารถช่วยเหลือด้วยการหาพาร์ตเนอร์ที่มีขนาดหรือโครงสร้างใกล้เคียงกัน จากประสบการณ์ของเรา บริษัทที่เข้ามามักจะมองหาหุ้นส่วนที่โครงสร้างคล้ายกัน เช่น บริษัทที่บริหารงานภายในครอบครัวก็มักจะมองหาผู้ให้บริการโลจิสติกส์ที่บริหารงานภายในครอบครัว เป็นต้น"

ที่ผ่านมาแอลเอจีมีบทบาทในการจับคู่ธุรกิจให้กับบริษัทจากจีน ตุรกี อเมริกาใต้ สิงคโปร์ และแอฟริกาใต้ เป็นต้น อีกทั้งยังมีการจัดกิจกรรมส่งเสริมธุรกิจโลจิสติกส์ในต่างประเทศ เช่น การไปออกบูธในงานแสดงสินค้า และจัดอีเวนต์ต่างๆ อย่างไรก็ดี นายคูเชนเบคเกอร์ กล่าวว่า แอลเอจีไม่ได้มองเพียงแต่ผู้เล่นรายใหญ่ แต่มองไปถึงประเทศขนาดเล็กลงมาด้วย "ถ้ามีบริษัทจำนวนมากพอที่มองหาการสนับสนุน ก็มีเหตุผลที่เราจะโฟกัสไปที่ประเทศนั้นๆ และไทยก็เป็นฮับในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เราจึงให้ความสนใจเช่นเดียวกัน และเชื่อว่าอาเซียนจะเข้ามาอยู่ในแผนงานกิจกรรมของเราในอนาคตอันใกล้"

ทั้งนี้ ไทยเป็นประเทศที่เข้ามาลงทุนในเยอรมันสูงสุดเป็นอันดับ 3 ของอาเซียนรองจากสิงคโปร์และมาเลเซีย และเป็นอันดับ 7 ในเอเชีย โดยปีที่ผ่านมาถือเป็นปีแรกที่การลงทุนจากไทยเข้าไปยังเยอรมันมีมูลค่าสูงกว่าการลงทุนจากเยอรมนีเข้าสู่ประเทศไทย สาเหตุหลักมาจากการเข้ามาซื้อกิจการห้างสรรพสินค้าหรู 3 แห่งในเยอรมนีของเซ็นทรัล กรุ๊ป คือ ห้างคาเดเว ในกรุงเบอร์ลิน ห้างโอเบอร์โพลลิงเกอร์ ในมิวนิค และห้างอัลสเตอร์เฮาส์ ในฮัมบวร์ก เพื่อขยายธุรกิจในยุโรปอย่างต่อเนื่อง หลังจากเซ็นทรัลรุกเข้ามาสู่อิตาลีและเดนมาร์กก่อนหน้านี้

แม้จะมีปัจจัยท้าทายการเข้ามาลงทุนในเยอรมนีที่สำคัญของผู้ประกอบการไทย คือด้านกฎระเบียบ แรงงาน สิ่งแวดล้อม ภาษี รวมไปถึงช่องทางในการจับคู่กับหุ้นส่วนท้องถิ่น แต่เยอรมนีก็มีนโยบายส่งเสริมการลงทุนที่น่าสนใจสำหรับภาคธุรกิจ

นอกจากนี้ เยอรมนียังมีเมืองที่มีศักยภาพที่น่าสนใจสำหรับการเข้ามาลงทุน อย่างเมืองหลวงเบอร์ลิน ที่นับได้ว่ายังเป็นแหล่งลงทุนน้องใหม่และเป็นจุดมุ่งหมายที่บริษัทสตาร์ทอัพให้ความสนใจอย่างยิ่งจนกลายมาเป็นเมืองที่บริษัทสตาร์ทอัพเข้ามาเปิดกิจการมากที่สุดในยุโรป โดยธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจดิจิตอลที่เยอรมนีถือเป็นประเทศต้นแบบก็เป็นอีกหนึ่งช่องทางที่ทางการไทยมองว่าน่าจะเป็นโอกาสอันดีสำหรับผู้ประกอบการชาวไทยในการเข้ามาขยายช่องทางการค้าและการลงทุนได้

มุมมองจากผู้ประกอบการไทย

ไพรัช บูรพชัยศรี รองประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย

เมื่อก่อนเรามองเบอร์ลินว่าเป็นเมืองหลวง เมืองสำคัญทางด้านการเมืองการปกครอง ไม่ใช่ในเชิงพาณิชย์ แต่หลังจากได้เดินทางมาสัมผัสแล้วก็พบว่าเบอร์ลินเป็นเมืองที่มีขนาดใหญ่และมีศักยภาพสูงมากสำหรับการเข้ามาทำธุรกิจ อีกทั้งค่าครองชีพก็ถูกกว่าเมืองอื่นๆ ในเยอรมนีอย่าง แฟรงก์เฟิร์ตหรือมิวนิก ขณะเดียวกันก็มีชุมชนคนไทยอยู่เป็นจำนวนมาก ซึ่งจะช่วยเอื้อให้ธุรกิจเดินหน้าไปได้รวดเร็วขึ้น

นอกจากนี้ตลาดในเบอร์ลินยังเป็นตลาดน้องใหม่ ยังไม่มีผู้เล่นรายใดที่เรียกว่าเป็นรายใหญ่จนเราไม่สามารถเข้ามาชนหรือแข่งขันได้ และยังเป็นเมืองที่มีโอกาสเติบโตได้ง่ายกว่าเมื่อเทียบกับเมืองอื่นๆ ที่ธุรกิจเข้ามาลงทุนกันเยอะแล้ว ฉะนั้นโอกาสยังเปิดอยู่แต่ก็ต้องรีบเพราะโอกาสรอเราไม่นาน

ธุรกิจที่น่าจะมีโอกาสมาก คือธุรกิจด้านอาหาร ซึ่งเป็นสิ่งที่เราถนัดและทำได้ดี ชาวเยอรมันเองเดินทางไปท่องเที่ยวประเทศไทยปีละ 8 แสนคน คนเหล่านี้เมื่อกลับมาประเทศของตัวเองก็ต้องการระลึกถึงวัฒนธรรมไทย และอาหารไทย เมื่อคนไทยเข้ามาทำเองคนอื่นจะแข่งขันได้ยาก คนไทยมีความเข้มแข็งในด้านการให้บริการ มีเซอร์วิสมายด์ที่หลายๆ ประเทศสู้ไม่ได้อยู่แล้ว

ทั้งนี้ ทางหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยได้รวมกลุ่มผู้ประกอบการด้านสินค้าเกษตรและอาหารเดินทางมาเข้าร่วมงานแสดงสินค้า ANUGA ซึ่งเป็นงานแสดงสินค้าอาหารและเครื่องดื่มที่ใหญ่ที่สุดในโลก ที่จัดขึ้นที่เมืองโคโลญ ประเทศเยอรมนี เป็นประจำทุกๆ 2 ปี โดยได้รับความสนใจจากผู้ประกอบการชาวไทยจำนวนเพิ่มมากขึ้นทุกครั้ง นับเป็นโอกาสการเปิดตลาดที่สำคัญสำหรับผู้ประกอบการในธุรกิจดังกล่าวของไทย

นอกจากนี้ผมยังมองเห็นศักยภาพในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับชุมชนมุสลิม อย่างเช่นอาหารฮาลาล เนื่องจากในเยอรมนีมีชุมชนชาวตุรกีขนาดใหญ่มาก ซึ่งน่าจะเป็นโอกาสสำหรับเรา เรามีสภาธุรกิจไทย-ตุรกีที่เราจัดตั้งขึ้นมาร่วมกับภาคเอกชนของตุรกี เชื่อว่าจะเป็นช่องทางที่อำนวยความสะดวกให้เราเข้าถึงตลาดในส่วนนี้ได้

อย่างไรก็ตาม การเข้ามาเจาะตลาดจะต้องเป็นการทำงานร่วมกันของทั้งภาครัฐและเอกชน ถ้าภาคเอกชนได้มีโอกาสเดินทางมาศึกษาดูงานถึงโอกาสและช่องทางการทำธุรกิจจะเป็นประโยชน์มาก โดยหลังจากนี้ผมตั้งใจว่าจะจัดสัมมนาโดยเชิญผู้ประกอบการจากทุกภาคส่วน เพื่อเผยแพร่ข้อมูลที่เราได้เดินทางไปเห็นและพูดคุยมาให้กับผู้ประกอบการที่สนใจต่อไป

เตชะ บุณยะชัย รองประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย

ปัจจุบันผู้ส่งออกมีปัญหาสำคัญอยู่ 2 เรื่อง คือการเจาะตลาด และต้นทุนด้านโลจิสติกส์ ซึ่งถ้าไทยสามารถจัดตั้งศูนย์กระจายสินค้าในเยอรมนีได้ก็จะเป็นประโยชน์อย่างมากต่อผู้ส่งออก โดยที่ผ่านมาการส่งออกเป็นการส่งไปให้เอเย่นต์ในต่างประเทศขายต่อโดยที่ทางผู้ส่งออกไม่รู้จักตลาด เป็นเหตุให้อัตรากำไรต่ำ แต่ถ้าเราสามารถเจาะเข้าไปขายได้เองจนสุดเส้นทาง คือ ถึงร้านค้าปลีกหรือผู้บริโภคโดยตรงในลักษณะของการจัดตั้งศูนย์กระจายสินค้าแบบครบวงจร ซึ่งไม่ได้หมายถึงแค่โกดังสินค้า แต่ยังรวมถึงเครือข่ายค้าปลีก นอกจากจะช่วยเพิ่มอัตรากำไรแล้ว อีกทางหนึ่งจะเป็นการช่วยเหลือผู้ประกอบการไทยรายอื่นๆ ให้รู้จักกับตลาดและการเจาะตลาดได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

ขณะเดียวกัน การมีศูนย์กระจายสินค้าอยู่ในมือผู้ประกอบการไทยจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบการขนาดกลางและขยาดย่อม (เอสเอ็มอี) ที่อาจจะส่งออกสินค้ามาได้ไม่เต็มตู้ การรวมตัวกันมาพร้อมๆ กันก็จะช่วยในเรื่องของ economy of scale ทำให้ลดต้นทุนลงได้

เยอรมนีเป็นศูนย์กลางด้านโลจิสติกส์ที่ดี เราสามารถเข้าไปใช้ประโยชน์จากโครงข่ายโลจิสติกส์ที่เข้มแข็งของเขาได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่เรายังไม่เคยทำ และเชื่อว่าถ้าทำแล้วจะเป็นประโยชน์มากโดยเฉพาะกับเอสเอ็มอี ขณะเดียวกันมองว่ารัฐบาลเยอรมนีเองก็ต้องการเปิดให้ต่างชาติเข้ามาลงทุน แต่ต้องศึกษาให้ดีว่าที่ไหนเหมาะกับการเข้าไปลงทุน อย่างเบอร์ลินมีการส่งเสริมที่ดี อยู่ในตำแหน่งที่ดีที่จะเป็นประตูไปสู่ยุโรปตะวันออกและประเทศในกลุ่มอดีตสหภาพโซเวียต ซึ่งเป็นตลาดที่ผู้ประกอบการไทยให้ความสนใจ

อย่างไรก็ดี การจะตัดสินใจเข้าไปลงทุนจะต้องทำการศึกษาให้ลึกลงไปกว่านี้ว่าโครงสร้างภาษีเป็นอย่างไร โครงสร้างค่าแรงเป็นอย่างไร อาจจะเป็นในลักษณะของการทำกรณีศึกษาดูว่าการลงทุนจะต้องมีค่าใช้จ่ายในส่วนใดบ้าง มีต้นทุนเมื่อเทียบกับราคาขายเป็นอย่างไรและคุ้มค่าหรือไม่ ทั้งนี้ จะต้องร่วมมือกันทุกฝ่ายทั้งภาครัฐและเอกชน โดยภาคเอกชนพร้อมที่จะรุกเข้าไปถ้ามีโอกาส แม้ยุโรปจะไม่ใช่เศรษฐกิจที่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว แต่ยังมีศักยภาพในการขยายตลาดอยู่อีกมาก

หมายเหตุ...บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของการเดินทางไปดูงานในโครงการเปิดลู่ทางการลงทุนด้านการกระจายสินค้าไทยในสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมันนี จัดโดยกรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ 

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,196
วันที่ 29 กันยายน - 1 ตุลาคม พ.ศ. 2559