เกษตรกรแห่พลิกที่ดินปลูก‘เมลอน’‘บ้านฟาง’ไฮเทคทำอักษร‘รักพ่อ’

01 ต.ค. 2559 | 04:00 น.
เกษตรกรยุคไอที ไอเดียเก๋ สวนเกษตร"บ้านฟาง"บนดอยผาตั้ง เชียงราย เปิดจองเมล่อนมีอักษรคำว่า"รักพ่อ"อยู่บนผล จับกลุ่มลูกค้ารับวันพ่อ5ธันวาคม เจ้าตัวเผยทำเพื่อดึงดูดความสนใจนักท่องเที่ยว ตั้งเป้าให้สวนเป็นศูนย์เรียนรู้สร้างอาชีพให้คนบนที่สูง ด้าน"รักจังฟาร์มเมล่อน"@ วังน้ำเขียว ดันผลผลิตขึ้นทะเบียนโอท็อป ทั้งผลเมล่อน/ไวน์/ไอศกรีม /บางระกำ พิษณุโลก เลิกทำนาแก้ปัญหาแล้ง ขณะที่มหาดไทย หนุน นโยบายประชารัฐ นำเทคโนโลยีมาใช้เพิ่มผลผลิตประหยัดพื้นที่-ลดใช้น้ำ

นายไพฑูรย์ ภักดีพงษ์ เกษตรกรเจ้าของสวนเกษตร "บ้านฟาง" บ้านร่มฟ้าหม่น ตำบลปอ อำเภอเวียงแก่น จังหวัดเชียงราย เจ้าของไอเดียสร้างตัวอักษรบนผลเมล่อน เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า "ขณะนี้ อยู่ระหว่างปลูกเมล่อนรุ่นใหม่ ซึ่งผลผลิตจะออกสู่ตลาดประมาณปลายเดือนพฤศจิกายน 2559 โดยจะสร้างอักษรคำว่า"รักพ่อ"ไว้บนผลเมล่อน เพื่อให้ลูกค้าสามารถนำไปเป็นของขวัญแสดงออกถึงความรักพ่อ เนื่องในปีมหามงคล 5ธันวาคม 2559ที่กำลังจะมาถึง ทั้งนี้เป็นสีสันดึงดูดลูกค้าล่าสุดมีผู้สนใจจองจำนวนมาก

อย่างไรก็ดีที่ผ่านมาสวนเกษตรบ้านฟางได้ผลิตเมล่อนออกสู่ท้องตลาดมาแล้ว2รุ่นซึ่งรุ่นที่ได้รับเสียงตอบรับจากลูกค้าที่เดินทางมาท่องเที่ยวภูชี้ฟ้า-ผาตั้ง คือรุ่นก่อนเทศกาลวันแม่แห่งชาติ ซึ่งมีตัวอักษรคำว่ารักแม่บนผลเมล่อน ต่อมาก็ทำอีกรุ่นด้วยอักษรรักเมียแต่เสียงตอบรับไม่มากเหมือนกับรุ่นรักแม่

เจ้าของส่วนเกษตรบ้างฟางเล่าต่อว่าจบด้านเทคโนโลยีการผลิตพืชผักจากสถาบันเทคโนโลยีการเกษตรแม่โจ้ และล่าสุดเมื่อ 2 ปีที่ผ่านมาได้มาบุกเบิกทำสวนเกษตรบ้านฟางให้เป็นแหล่งเรียนรู้และท่องเที่ยวเชิงเกษตร ซึ่ง มีกิจกรรมการผลิตพืชผักไม้ผลไม้ดอกหลายชนิดเพื่อทดสอบตลาด และส่งเสริมการท่องเที่ยว รวมถึงไอเดียวสร้างตัวอักษรลงบนผลเมล่อนอีกด้วย

ขณะที่ภาคอีสานมีเกษตรกรให้ความสนใจปลูกเมล่อนเช่นกัน สอบถาม นางฐิวรรณี กันหามาลา อายุ 48 ปี เจ้าของฟาร์ม รักจังฟาร์มเมล่อน@วังน้ำเขียว ตำบลไทยสามัคคี อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา เล่าว่า ได้นำพื้นที่ เดิมซึ่งเป็นสวนผลไม้เก่าจำนวน 10ไร่ มาปลูกเมล่อนจำนวน 18โรงเรือน รองรับนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาพักผ่อนที่อำเภอวังน้ำเขียว และได้เยี่ยมชมและซื้อผลเมล่อนกลับไป อย่างไรก็ดี มองว่าขณะนี้ เมล่อนกำลังเป็นที่นิยม และเป็นพืชเศรษฐกิจที่สร้างรายได้ให้เกษตรกร อีกทั้งยังเป็นพืชใช้น้ำน้อยแต่สามารถให้ผลผลิตทุกเดือน ซึ่งแต่ละโรงเรือนจะให้ผลผลิต 270-300 ผล ขายบริเวณหน้าฟาร์มกิโลกรัมละ 100 บาท นอกจากนี้ ยังเข้าโครงการ วิสาหกิจชุมชนประชารัฐ และ ยื่นลงทะเบียนนำเมล่อนที่ฟาร์มเป็นสินค้าโอท็อป อาทิ ผลเมลอน , ไวน์เมลอน และไอศกรีมเมลอนเป็นต้น

"เรามองว่าเมล่อนเป็นพืชเศรษฐกิจ และผลิตขึ้นเพื่อรองรับนักท่องเที่ยว อีกทั้งสามารถวางแผนการผลิตได้ โดยใช้หลักวิชาการทางเกษตร คือให้มีผลทุกเดือน เหมือนมนุษย์ และกำหนดมาตรฐานรสชาติ 14 บิต หรือ มาตรฐานความหวานระดับพรีเมียม"

และเนื่องจากผลตอบรับที่ดีต่อนักท่องเที่ยวส่งผลให้ เกษตรกรในพื้นที่ตำบลไทยสามัคคี อำเภอวังน้ำเขียว จำนวน 5-6 รายเริ่มนำที่ดินที่ทำการเกษตรเดิมมาปรับเป็นโรงเรือนปลูกเมล่อนจำหน่ายให้นักท่องเที่ยว

ได้สอบถาม เกษตรกรบ้านทุ่งใหญ่ อำเภอบางระกำ จังหวัดพิษณุโลก นายวิทยา เจนไชย ระบุว่า จากนโยบายแก้ปัญหาภัยแล้งช่วงที่ผ่านมา ของรัฐบาล ประกอบกับผลผลิตจากการทำนาข้าวที่ได้ผลผลิตที่ลดลง จึงนำที่นา มาสร้างโรงเรือนปลูกเมล่อน และขณะนี้ ทางเทศโกโลตัสได้รับซื้อผลผลิตไปจำหน่าย อย่างไรก็ดี นายพชรกมล เหลืองทอง เกษตรกรบ้านทุ่งใหญ่อีกรายกล่าวว่า ได้แปลงที่นา 40ไร่ และที่ดินของคนในพื้นที่เป็นศูนย์เรียนรูเศรษฐกิจพอเพียงชุมชนบ้านทุ่งใหญ่ ซึ่งมองว่าสร้างรายได้เป็นอย่างมากให้กับเกษตรกรในพื้นที่ และยังช่วยลดการใช้น้ำอีกด้วย

ด้านนายกฤษดา บุญราช ปลัดกระทรวงหมาดไทย กล่าวว่า ภาคเอกชนและรัฐได้ ช่วยผลักดันโครงการประชารัฐ โดยเฉพาะ ได้ช่วยให้เกษตรรู้จักวิธีการปลูกเมล่อนเพื่อจำหน่ายในประเทศและส่งออก รวมทั้ง นำผลผลิตไปแปรรูป เพิ่มมูลค่า ทั้งนี้ จะเน้นการใช้พื้นที่น้อยหรือทำเป็นชั้นๆ แต่สามารถพัฒนาโรงเรือนที่สามารถเพิ่มผลผลิตได้มาก ขณะเดียวกัน เริ่มมีเอกชนได้ ใช้เทคโนโลยี ทำลวดลายต่างๆไว้บนผลเมลอนสร้างสรรค์ เพิ่มมูลค่าและ นำหลักวิชาการทางการเกษตรมาเพิ่มน้ำหนัก รสชาติ เป็นต้น

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,195 วันที่ 25 - 28 กันยายน พ.ศ. 2559