คลอดแล้วเกณฑ์ใหม่‘ไอพีโอ’ ที่ปรึกษาเผยไม่กระทบเหตุลูกค้ามีทุนเกิน 50 ล้านบาท

30 ก.ย. 2559 | 01:00 น.
ตลาดหลักทรัพย์ฯ ปรับเกณฑ์การรับบริษัทจดทะเบียนเข้าใหม่ทั้งกระดาน SET และ mai ย้ำเน้นพัฒนาคุณภาพของหุ้น เสริมสภาพคล่องการซื้อขาย เริ่มมีผลบังคับใช้ 1 ม.ค. 60 กำหนดพาร์ขั้นต่ำ 0.5 บาท เริ่ม 1 ต.ค. นี้ เดินหน้าศึกษาช่วยสตาร์ตอัพ เอพีเอ็ม เจ้าพ่อหุ้นเอสเอ็มอี เผยไม่กระทบเหตุลูกค้าในมือมีทุนเรียกชำระเกิน 50 ล้านบาท

[caption id="attachment_102046" align="aligncenter" width="700"] เกณฑ์หุ้นไอพีโอใหม่ ตลาดหลักทรัพย์ เอ็มเอไอ เกณฑ์หุ้นไอพีโอใหม่ ตลาดหลักทรัพย์ เอ็มเอไอ[/caption]

นางเกศรา มัญชุศรี กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(ตลท.) เปิดเผยว่า ตลท.ได้ปรับปรุงคุณสมบัติของบริษัทที่จะเข้าจดทะเบียนทั้งในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) และตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) ให้เป็นหลักทรัพย์ที่มีคุณภาพและมีสภาพคล่อง สอดรับกับสถานการณ์ในปัจจุบันที่ธุรกิจเข้าจดทะเบียนมีขนาดใหญ่ขึ้น

เกณฑ์ที่ปรับ อาทิ กำหนดให้บริษัทที่จะเข้าจดทะเบียนจะต้องมีส่วนผู้ถือหุ้นเป็นบวก ก่อนการเสนอขายหุ้นต่อประชาชน (IPO) โดยบริษัทที่จะจดทะเบียนใน mai จะต้องมีทุนชำระแล้วและส่วนของผู้ถือหุ้นไม่น้อยกว่า 50 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิปีล่าสุดไม่น้อยกว่า 10 ล้านบาท เป็นต้น (ดูตารางประกอบ)

การปรับหลักเกณฑ์หุ้นไอพีโอ เพื่อให้มีหุ้นหมุนเวียนในตลาดมากขึ้น รวมทั้งปรับคุณสมบัติของบริษัทที่จะจดทะเบียนด้วยเกณฑ์มูลค่าหุ้นสามัญตามราคาตลาด (มาร์เก็ตแคป) ต้องเป็นบริษัทที่มีขนาดใหญ่ขึ้น เป็นต้น โดยมีผลบังคับใช้ วันที่ 1 มกราคม 2560

นอกจากนี้ยังกำหนดให้หุ้นสามัญของบริษัทจดทะเบียนต้องมีมูลค่าที่ตราไว้ (พาร์) ขั้นต่ำไม่น้อยกว่าหุ้นละ 0.50 บาท เพื่อให้ง่ายต่อความเข้าใจของผู้ลงทุน อย่างไรก็ดี จะมีการยกเว้นพาร์ขั้นต่ำดังกล่าวสำหรับหุ้นของบริษัทจดทะเบียนที่มีราคาพาร์ต่ำกว่า 0.50 บาทในปัจจุบัน รวมถึงในบางกรณีที่บริษัทจดทะเบียนมีความจำเป็นในการลดมูลค่าที่ตราไว้ให้ต่ำกว่า 0.50 บาท เช่น บริษัทที่มีราคาตลาดไม่น้อยกว่า 100 บาทต่อเนื่องในระยะเวลาหนึ่ง หรือบริษัทอยู่ระหว่างการปรับโครงสร้าง เป็นต้น โดยการกำหนดมูลค่าที่ตราไว้ขั้นต่ำนี้ มีผลบังคับใช้วันที่ 1 ตุลาคม 2559

“เหตุผลในการปรับหลักเกณฑ์หุ้นไอพีโอครั้งนี้ เพื่อมุ่งพัฒนาคุณภาพของหลักทรัพย์และเสริมสภาพคล่องการซื้อขาย เพื่อส่งเสริมการพัฒนาตลาดทุนไทยให้มีรากฐานที่แข็งแกร่ง” นางเกศรากล่าวและว่า

นอกจากนี้ เพื่อส่งเสริมให้ธุรกิจขนาดเล็กที่ปัจจุบันมีอยู่จำนวนมากทั่วประเทศ สามารถเข้าถึงแหล่งระดมทุนได้ง่ายขึ้น ตลาดหลักทรัพย์ฯ อยู่ในระหว่างการศึกษาเพื่อพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกอย่างอื่นเพิ่มเติม เพื่อส่งเสริมให้วิสาหกิจตั้งต้น (สตาร์ตอัพ) และวิสาหกิจขนาดเล็กสามารถพัฒนาธุรกิจได้ง่ายขึ้น

ด้านนายสมภพ ศักดิ์พันธ์พนม ประธานกรรมการ บริษัท แอสเซสโปรแมเนจเม้นท์ จำกัด หรือ APM ซึ่งเป็นบริษัทที่ปรึกษาทางการเงิน ซึ่งลูกค้าส่วนใหญ่มีแผนเข้าจดทะเบียนในตลาดเอ็ม เอ ไอ เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่าการปรับเกณฑ์นั้นไม่ส่งผลกระทบต่อลูกค้าที่มีอยู่ในมือ เนื่องจากทุกบริษัทมีทุนจดทะเบียนชำระแล้วเกิน 100 ล้านบาท

ปัจจุบัน APM มีลูกค้าในมือที่มีแผนเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(SET) และตลาดหลักทรัพย์เอ็ม เอ ไอ รวม 35 บริษัท ในช่วง 5 ปี (2559-2561) หรือเข้าจดทะเบียนปีละ 7 บริษัท ผู้ประกอบการที่จะเข้าสู่ตลาดหุ้นเพื่อระดมนั้น ประมาณ 60% เป็นธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือเอสเอ็มอี ที่จะเข้าจดทะเบียนในตลาดเอ็ม เอ ไอ ส่วนอีก 30-40% มีแผนเข้าจดทะเบียนในตลาด SET มีขนาดการระดมทุน 300 -1,000 ล้านบาทต่อบริษัท

สอดคล้องกับนายวิชา โตมานะ กรรมการผู้จัดการ สายงานวาณิชธนกิจ บล.ฟิลลิป (ประเทศไทย)ฯ กล่าวว่าตามเกณฑ์เดิมบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เอ็ม เอ ไอ จะต้องมีทุนจดทะเบียนชำระแล้ว 20 ล้านบาทในทางปฏิบัติไม่น่าจะมีอยู่แล้ว จะต้องขยายฐานอื่นขึ้นไปเพื่อรองรับจำนวนสภาพคล่องของหุ้นด้วย เนื่องจากฐานทุนจดทะเบียน 20 ล้านบาทในความคิดเห็นส่วนตัวมองว่าน้อยเกินไป ดังนั้นการปรับเกณฑ์หุ้นไอพีโอครั้งนี้จึงไม่ส่งผลกระทบต่อลูกค้า

ทั้งนี้ลูกค้าของบริษัทฯส่วนใหญ่มีทุนจดทะเบียนมากกว่า 50 ล้านบาทอยู่แล้ว เพราะในทางปฏิบัติการที่มีทุนจดทะเบียน 20 ล้านบาท สภาพคล่องในตัวหุ้นจะมีน้อยมาก ซึ่งจะทำให้มูลค่าในการระดมทุนมีไม่มาก ดังนั้นจึงอาจจะมองว่าไม่คุ้มกับค่าใช้จ่าย

สำหรับบล.ฟิลลิปฯ ปี 2560 มีลูกค้าหุ้นไอพีโอ 3-4 บริษัท มาจากหลากหลายอุตสาหกรรมที่จะเข้าระดมทุน ไม่ว่าจะเป็นค้าปลีก บริการ และอุตสาหกรรมไฟฟ้ากำลัง เป็นต้น โดยจะมีทั้งที่เข้าตลาด SET และตลาดเอ็ม เอ ไอ

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,196
วันที่ 29 กันยายน - 1 ตุลาคม พ.ศ. 2559