เตือนอย่ามองแค่จีดีพี ‘วิรไท’แนะ4 แนวทางพัฒนายั่งยืน-รับมือกับดักเชิงโครงสร้าง

30 ก.ย. 2559 | 02:15 น.
ผู้ว่าการธปท. “ดร.วิรไท” เตือนอย่าชะล่าศก.ไทยเผชิญกับดักเชิงโครงสร้างสังคมผู้สูงอายุ เสนอ 4 แนวทางพัฒนาประเทศยั่งยืน แนะรัฐเปลี่ยนวิธีการทำงานยึดเป้าหมายแทน,สร้างภูมิคุ้มกัน , ปรับตัวให้ทันการเปลี่ยนแปลง ลั่นอย่าให้นํ้าหนักตัวเลขศก.ระยะสั้นมองข้ามรากฐานศก.ระยะยาว ด้านดร.เศรษฐพุฒิ ชี้เกินดุลบัญชีเดินสะพัด สะท้อนไทยรับความเสี่ยงตํ่ากว่าเป็นจริง เอกชนไม่กล้าลงทุน ห่วงระยะยาวอัตราเติบโตชะลอตัวลงเร็ว

[caption id="attachment_102028" align="aligncenter" width="335"] ดร. วิรไท สันติประภพ  ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ดร. วิรไท สันติประภพ
ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)[/caption]

ดร. วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ปาฐกถาพิเศษ "Thailand Agenda 2030: วิสัยทัศน์การพัฒนาใหม่สู่ประเทศไทยที่ยั่งยืน" ในงาน "Thailand SDGs Forum # 3: Thailand Sustainability Journey" จัดโดยมูลนิธิมั่นพัฒนา ร่วมกับสำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้า

ผู้ว่าการธปท. กล่าวตอนหนึ่งว่า การจะไปสู่เป้าหมายการพัฒนาประเทศไทยที่ยั่งยืน ( Sustainable Development Goals :SDGs) ไม่ใช่แค่การให้ความสำคัญในเรื่องการ เติบโตของเศรษฐกิจ ( จีดีพี)ในปีนี้หรือปีหน้า แต่ต้องมองไปถึงอัตราการขยายตัวตามศักยภาพของระบบเศรษฐกิจในระยะปานกลางถึงระยะยาวด้วย และต้องยอมรับความจริงว่า ระบบเศรษฐกิจไทยกำลังเผชิญกับกับดักเชิงโครงสร้างใน หลายด้าน

ไม่ว่าจะเป็นระดับความสามารถทางเทคโนโลยีทั้งในภาคอุตสาหกรรม เกษตร และบริการ กรอบ กฎเกณฑ์กติกาที่ไม่ทันต่อสถานการณ์ปัจจุบัน ไม่เอื้อต่อการทำธุรกิจยุคใหม่ การขาดประสิทธิภาพของ ระบบราชการ และที่สำคัญคือโครงสร้างของประชากรไทยที่กำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ โดยอีก 15 ปีจำนวนประชากรจะทรงตัวเทียบเท่าปัจจุบัน แต่หลังจากนั้นจะปรับลดลง สัดส่วนผู้สูงอายุจะ เพิ่มขึ้นจาก16% ในปัจจุบัน เป็น 27% ในอีก 15 ปีข้างหน้า กล่าวคือในปี 2573 ประชากรทุก ๆ 4 คน จะเป็นผู้สูงอายุ 1 คน

โครงสร้างประชากรเช่นนี้จะสร้างปัญหาอีกหลายด้าน ทั้งในเรื่องฐานะการออมของประเทศ ค่าใช้จ่ายของทั้งภาครัฐและประชาชนในการ รักษาพยาบาล การขาดแคลนบุคลากรในภาคสาธารณสุข และแรงงาน ตลอดไปจนถึงระบบการเมืองที่ผู้สูงอายุจะเป็นกลุ่มฐานเสียงสำคัญ รัฐบาลและพรรคการเมืองจะให้ ความสำคัญกับการดูแลผู้สูงอายุ มากกว่าการขับเคลื่อนนโยบายปฏิรูปเศรษฐกิจไปข้างหน้า เหมือนกับที่หลายประเทศอุตสาหกรรมกำลังติดกับดักอยู่ในเวลานี้

"ภายใต้สภาวะที่ระบบเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก การดูแล ให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวได้ต่อเนื่องในระยะสั้น ๆ เป็นสิ่งที่จำเป็น แต่ต้องระมัดระวังไม่ให้ปัญหาเฉพาะหน้ามา มากไปจนบดบังเรื่องสำคัญในระยะยาว เพราะประสบการณ์ในช่วงที่ผ่านมาได้แสดงให้เห็นว่าการให้น้ำหนักกับการใช้ ทรัพยากรเพื่อแก้ปัญหาในระยะสั้นมากเกินควร ซึ่งอาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงไม่พึงประสงค์และส่งผลให้ปัญหาระยะยาวไม่ได้รับการแก้ไขอย่างที่ควร"

พร้อมได้เสนอมุมมอง 4 ประเด็นเพื่อขับเคลื่อนไทยสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน 1.ภาครัฐต้องเปลี่ยนวิธีการทำงาน โดยการยึดเป้าหมายเป็นที่ตั้ง “ประชาชนและสังคมไทยจะได้ประโยชน์อย่างไร” แทนมองในเรื่องข้อจำกัดหรือกรอบกติกา 2.ให้น้ำหนักกับการพัฒนารากฐานทั้งระบบเศรษฐกิจ สังคม และการเพิ่มศักยภาพของระบบเศรษฐกิจในระยะยาว 3.สร้างภูมิคุ้มกันในทุกมิติ เช่น มิติประเทศ รัฐต้องรักษาสัดส่วนระดับหนี้สาธารณะให้เหมาะสม, ธนาคารกลางต้องรักษาทุนสำรองให้เพียงพอรองรับความผันผวนของเงินทุนเคลื่อนย้าย, ภาคธุรกิจ ต้องไม่ให้สัดส่วนหนี้สินต่อทุนสูงเกิน กระจายหรือประกันความเสี่ยง เป็นต้น และ 4. สร้างระบบนิเวศที่ส่งเสริมการเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นพลวัต ให้เท่าทันสภาวะแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลง การส่งเสริมให้เกิดความเข้าใจซึ่งกันและกัน ลดช่องว่างด้านความรู้และโอกาส

ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิประธานกรรมการบริหาร สถาบันอนาคตไทยศึกษา กล่าวว่า ขณะนี้ไทยเกินดุลบัญชีเดินสะพัดต่อจีดีพีถึง 12-13% สูงที่สุดในโลกก็ว่าได้ ซึ่งสะท้อนว่าภาคเอกชนไม่กล้าลงทุน จึงไม่มีการนำเข้าเครื่องจักร หรือในเรื่องการวิจัย R&D เรื่องการลงทุนนวัตกรรมยังตํ่า และสะท้อนว่าแรงงานไทยหดตัว จากโครงสร้างประชากรไทยที่กำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ประสิทธิภาพการผลิตตํ่า ปัญหาที่ตามมาจะทำให้เศรษฐกิจไทยเข้าสู่ภาวะการชะลอลงเร็วเป็นพิเศษ และวิธีเดียวที่จะทำให้เศรษฐกิจไทยมีอัตราการขยาย ก็มาจากการที่เอกชนต้องลงทุน

“จีดีพีไทยโตเฉลี่ย 3% ซึ่งหากเศรษฐกิจไทยยังโตช้า จะกระทบการเติบโตอย่างยั่งยืน เกิดปัญหาความเหลื่อมลํ้าความขัดแย้งในสังคม เพราะก้อนเค้กที่มีอยู่ไม่โต” ดังนั้นถ้าหากปล่อยให้ความเสี่ยงในภาคธุรกิจ ภาคบุคคลเพิ่มขึ้นบ้างก็ไม่ได้หมายความว่าจะทำให้ภาพรวมแย่ลง โดยเฉพาะหากเป็นเซ็กเตอร์ที่แข็งแรงกลับยิ่งช่วยเพิ่มในเรื่องการแข่งขัน ทำให้แข็งแรงขึ้นกว่าเดิม”

ดร.เศรษฐพุฒิ กล่าวต่อประเด็นสำคัญคือภาครัฐหรือภาคเอกชนก็ดี ต้องมีระบบการบริหารจัดการความเสี่ยงที่ดียกตัวอย่างบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ในตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่มีหน่วยบริหารจัดการความเสี่ยง 1. เป็นแบบบูรณาการ 2.เป็นการแก้ปัญหามองไปข้างหน้าและ 3.มีเจ้าภาพหน่วยงานที่รับผิดชอบชัดเจน แต่ในระดับประเทศช่องโหว่ใน 3 มิติที่กล่าวยังมี

“ยกตักอย่างการมอนิเตอร์ดูแลความเสี่ยงจะแยกจากกัน เช่น ธปท.ดูความเสี่ยงสถาบันการเงิน, ก.ล.ต.ดูความเสี่ยงของบริษัทจดทะเบียน ขณะที่คปภ.ก็ดูของระบบธุรกิจประกัน ทั้งที่ต้นตออาจมาจากแหล่งเดียวกัน และยกตัวอย่างหากลูกหนี้รายใหญ่มีปัญหาก็อาจกระทบหรือลามเป็นลูกโซ่ทั้งระบบ ดังนั้นในระดับประเทศ Risk ManagementCommittee ที่ดูแลบริหารความเสี่ยงอย่างบูรณาการเป็นระบบยังไม่มี”

นอกจากนี้เราจะทำอย่างไรให้เกิดการสร้างวัฒนธรรม และต้องยอมรับในกรณีที่เกิดความผิดพลาดด้วย ไม่ใช่จับผิดอย่างเดียว อย่างการที่ภาครัฐสนับสนุนในเรื่องสตาร์ตอัพ /นวัตกรรม อีกด้านหนึ่งก็มีโอกาสเป็นความเสี่ยง การล้มละลายจึงต้องปรับวัฒนธรรมให้ยอมรับความผิดพลาดได้ เพื่อการขับเคลื่อนให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,196
วันที่ 29 กันยายน - 1 ตุลาคม พ.ศ. 2559