ลดการผลิตน้ำมันของกลุ่ม OPEC บทสรุปที่เหนือคาด

29 ก.ย. 2559 | 11:45 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ออกบทวิเคราะห์เรื่อง  ลดการผลิตน้ำมันของกลุ่ม OPEC บทสรุปที่เหนือคาด

ประเด็นสำคัญ

•ผลของการประชุมของกลุ่มโอเปกในวันที่ 26-28 ก.ย. 59 ที่สามารถตกลงกันในการลดกำลังการผลิตไปที่ 32.5-33.0 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ถ้าการประชุมของกลุ่มโอเปกอย่างเป็นทางการในช่วงปลายเดือน พ.ย. ที่จะถึงนี้ สามารถบรรลุผลสำเร็จในการกำหนดเพดานการผลิตของแต่ละประเทศ และการผลิตน้ำมันของกลุ่มโอเปกลดลงไปที่ระดับ 33.0 ล้านบาร์เรลต่อวัน ก็อาจจะไม่มีผลต่อมุมมองราคาน้ำมันดิบดูไบที่คาดการณ์ไว้ก่อนหน้าที่ระดับเฉลี่ย 48 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรลในปี 2560 แต่ถ้ากลุ่มโอเปกสามารถบรรลุผลสำเร็จในการลดการผลิตน้ำมันไปสู่ระดับ 32.5 ล้านบาร์เรลต่อวันได้ ราคาน้ำมันดิบดูไบน่าจะสามารถขึ้นไปยืนอยู่ได้ที่ระดับเฉลี่ย 50 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรลในปี 2560

•ยังต้องติดตามการกำหนดเพดานการผลิตของกลุ่มโอเปกอย่างใกล้ชิด ซึ่งอาจจะมีประเทศในกลุ่มโอเปกบางประเทศที่ได้รับการยกเว้น เช่น ลิเบียและไนจีเรีย ที่อาจเพิ่มกำลังการผลิตได้ ถ้าสถานการณ์ความไม่สงบในประเทศคลี่คลายลง ขณะที่ประเทศอื่นๆ โดยเฉพาะซาอุดีอาระเบียที่ต้องลดกำลังการผลิตลง รวมไปถึงยังมีประเด็นการผลิตน้ำมันจากประเทศนอกกลุ่มโอเปกโดยเฉพาะรัสเซียว่าจะให้ความร่วมมือในการลดกำลังการผลิตได้แค่ไหน

•สำหรับผลกระทบต่อไทยจากแนวโน้มราคาน้ำมันดิบที่เพิ่มขึ้นนั้น จะทำให้ราคาน้ำมันสำเร็จรูปสูงขึ้นไปด้วย ซึ่งอาจกระทบต่อค่าครองชีพของประชาชน โดยเฉพาะในส่วนของค่าโดยสารที่อาจมีการปรับขึ้น กระทบต่อภาคธุรกิจขนส่ง ซึ่งจะมีต้นทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเพิ่มสูงขึ้น

บทสรุปภายหลังการประชุมของกลุ่มโอเปกในวันที่ 26-28 ก.ย. 59 ณ ประเทศอัลจีเรียที่ผ่านมานี้ ที่ประชุมโอเปกอันประกอบด้วยสมาชิกทั้ง 14 ประเทศ สามารถบรรลุข้อตกลงในการลดกำลังการผลิตให้ไปอยู่ที่ระดับประมาณ 32.5 – 33.0 ล้านบาร์เรลต่อวัน (หรือปรับลดการผลิตจากเดือน ส.ค. 59 ราว 0.24-0.74 ล้านบาร์เรลต่อวัน ) นับว่า เป็นสิ่งที่เหนือความคาดหมายพอสมควร ขณะที่ราคาน้ำมันดิบดูไบตอบรับข่าวนี้ และขึ้นไปยืนอยู่ที่ระดับใกล้ 45 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล โดยในช่วงถัดจากนี้จะมีการจัดตั้งคณะทำงานเพื่อปรึกษาหารือในการกำหนดเพดานการผลิตน้ำมันของแต่ละประเทศและนำเสนอในเวทีการประชุมของกลุ่มโอเปกอย่างเป็นทางการที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 30 พ.ย. 59 ณ กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย ทำให้ทิศทางของราคาน้ำมันดิบช่วงก่อนหน้าการประชุมในปลายเดือน พ.ย. น่าจะยังผันผวนไปจนกว่าจะได้ข้อสรุปที่ชัดเจนในการกำหนดเพดานการผลิตน้ำมันของแต่ละประเทศในกลุ่มโอเปก โดยมีความเป็นไปได้ว่า อิหร่าน ลิเบีย และไนจีเรียอาจจะได้รับการยกเว้นเป็นกรณีพิเศษที่อาจจะไม่ต้องลดการผลิต

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ถ้ากลุ่มโอเปกลดกำลังการผลิตไปที่ระดับ 33.0 ล้านบาร์เรลต่อวัน อาจไม่มีผลต่อมุมมองราคาน้ำมันดิบดูไบที่คาดการณ์ไว้ก่อนหน้าที่ระดับเฉลี่ย 48 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรลในปี 2560 แต่ถ้ากลุ่มโอเปกสามารถบรรลุผลสำเร็จในการลดการผลิตน้ำมันไปสู่ระดับ 32.5 ล้านบาร์เรลต่อวันได้ ราคาน้ำมันดิบดูไบน่าจะสามารถขึ้นไปยืนอยู่ได้ที่ระดับเฉลี่ย 50 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรลในปี 2560 (เทียบกับปี 2559 ที่คาดว่าราคาน้ำมันดิบดูไบจะอยู่ที่เฉลี่ยราว 40.5 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล) อย่างไรก็ตาม ยังต้องจับตาอุปทานที่อาจเพิ่มขึ้นจากการกลับเข้ามาของ Shale Oil ซึ่งอาจเป็นแรงกดดันต่อราคาน้ำมันได้ เพราะผู้ผลิต Shale Oil ของสหรัฐฯ มีความสามารถในการปรับระดับการผลิตได้ค่อนข้างรวดเร็ว เมื่อระดับราคาน้ำมันดิบเพิ่มสูงขึ้น ก็จะเป็นแรงจูงใจให้ผู้ผลิต Shale Oil ในสหรัฐฯ ผลิตน้ำมันดิบออกสู่ตลาดโลกมากขึ้น จนกดดันราคาน้ำมันดิบให้ขึ้นไปสูงได้ไม่มากนัก

อย่างไรก็ดี ยังต้องติดตามการกำหนดเพดานการผลิตของกลุ่มโอเปกอย่างใกล้ชิด เนื่องจากยังมีความไม่แน่นอนในหลายประเทศ ไม่ว่าจะเป็นอิหร่านที่ยังมุ่งเป้าที่จะเพิ่มการผลิตน้ำมันไปให้ถึงระดับ 4 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งเป็นระดับก่อนถูกชาติตะวันตกคว่ำบาตร (การผลิตที่เดือน ส.ค. 59 อยู่ที่ราว 3.7 ล้านบาร์เรลต่อวัน) และกรณีของเวเนซุเอลาที่ประสบกับปัญหาทางการเงินอย่างรุนแรงนั้น จะสามารถให้ความร่วมมือในการลดกำลังการผลิตได้หรือไม่ รวมถึงกรณีของลิเบียและไนจีเรียที่ยังมีปัญหาความไม่สงบภายในประเทศ และมีแนวโน้มว่าอาจได้รับการยกเว้นในการควบคุมกำลังการผลิต ซึ่งจากแนวโน้มของสถานการณ์ความไม่สงบที่เริ่มคลี่คลาย ก็อาจทำให้มีปริมาณน้ำมันดิบไหลเข้าสู่ตลาดโลกเพิ่มมากขึ้น จนเป็นปัญหาในการคุมเพดานการผลิตของกลุ่มโอเปกได้ สำหรับผู้ผลิตน้ำมันนอกนอกกลุ่มโอเปก โดยเฉพาะรัสเซีย ก็ยังต้องติดตามด้วยว่า ความร่วมมือในการลดกำลังการผลิตจะออกมาในทิศทางใด

นอกจากนี้ ถึงแม้การกำหนดเพดานการผลิตของกลุ่มโอเปก รวมถึงประเทศนอกกลุ่มโอเปกโดยเฉพาะรัสเซีย จะสามารถบรรลุผลสำเร็จ ก็อาจเกิดเหตุการณ์ที่แต่ละประเทศผลิตน้ำมันดิบเกินปริมาณที่ได้ตกลงกันไว้ได้ ดังเช่นในอดีตที่ประเทศยากจนหรือมีปัญหาความไม่สงบของกลุ่มโอเปกมักจะผลิตเกินโควต้าที่ตั้งไว้ ขณะที่ประเทศร่ำรวยก็มักจะปฏิบัติตามโควต้าได้ดีกว่า หรือกรณีของรัสเซียที่เคยกล่าวว่าจะร่วมมือกับกลุ่มโอเปกในการควบคุมปริมาณการผลิตน้ำมันเมื่อครั้งเกิดวิกฤตเศรษฐกิจแฮมเบอร์เกอร์เพื่อผลักดันราคาน้ำมัน แต่ผลออกมาก็ไม่ได้จำกัดการผลิตเท่าใดนัก รวมถึงปัจจัยสำคัญอื่นๆ ที่อาจมีผลต่อทิศทางราคาน้ำมันดิบโลก อาทิ การเพิ่มอัตราดอกเบี้ยของ Fed ที่อาจกดดันการเติบโตของเศรษฐกิจโลก แนวโน้มของการแข็งค่าขึ้นของค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ เป็นต้น

สำหรับผลกระทบจากแนวโน้มราคาน้ำมันดิบที่เพิ่มสูงขึ้น จะทำให้ราคาน้ำมันสำเร็จรูปในไทยเพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย ซึ่งอาจกระทบต่อค่าครองชีพของภาคประชาชน โดยเฉพาะในส่วนของภาคขนส่ง เมื่อราคาน้ำมันดิบขึ้นไปอยู่ที่ระดับ 50 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล ราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลอาจไต่ระดับไปใกล้ 26 บาท/ลิตร  ได้ในปี 2560 (ค่าเฉลี่ยราคาขายปลีกดีเซลช่วง ม.ค.-ส.ค. 59 อยู่ที่ 22.7 บาท/ลิตร) ซึ่งอาจจะมีผลต่อต้นทุนค่าขนส่งของภาคธุรกิจ รวมถึง ค่าโดยสารสาธารณะที่มักจะอิงกับราคาน้ำมันดีเซล เช่น ราคาค่าโดยสารเรือด่วนที่กรมเจ้าท่าเคยตั้งเพดานไว้ที่ราว 25 บาท/ลิตรในช่วงต้นปี 2559 ดังนั้น ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องคงต้องติดตามและเตรียมแผนรับมือ