‘ยิ่งลักษณ์’ชดใช้3.57หมื่นล. ‘มนัส’ชี้กรณีไม่เห็นด้วยยื่นเพิกถอนคำสั่งทางปกครองได้

29 ก.ย. 2559 | 05:00 น.
“บอร์ดพิจารณาความรับผิดทางแพ่ง” สรุปอดีตนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ชดใช้ 3.57 หมื่นล้านคิดเป็น 20% จากมูลค่าความเสียหายจำนวน 1.78 แสนล้าน “มนัส” ชี้กรณีไม่เห็นด้วย สามารถยื่นเพิกถอนคำสั่งทางปกครองได้ พร้อมยืนยันไม่กดดัน/หนักใจ เหตุทำตามหน้าที่กฎหมาย

ภายหลังจากคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิด โครงการรับจำนำข้าว ซึ่งมีนายจิรชัย มูลทองโร่ย รองปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธานฯ สรุปความเสียหายโครงการจำนำข้าวสมัยรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร วงเงิน 2.86 แสนล้านบาท โดยส่งต่อให้คณะกรรมการพิจารณาความรับผิดทางแพ่ง ซึ่งมีนายมนัส แจ่มเวหา อธิบดีกรมบัญชีกลาง เป็นประธานฯ เพื่อพิจารณาและออกคำสั่งทางปกครอง เรียกค่าเสียหายจากเจ้าหน้าที่ ที่เกี่ยวข้องกับโครงการดังกล่าว ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่า ด้วยหลักเกณฑ์การปฏิบัติเกี่ยวกับความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 นั้น

เมื่อวันเสาร์ที่ 24กันยายนที่ผ่านมา นายมนัส แจ่มเวหา อธิบดีกรมบัญชีกลาง กล่าวในฐานะประธานคณะกรรมการพิจารณาความรับผิดทางแพ่งว่า ทางคณะทำงานชุดที่ตนเป็นประธานนั้น มีมติเป็นเอกฉันท์ ให้ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ชดใช้ความเสียหายจากการรับจำนำข้าวในสัดส่วน 20% จากวงเงินความเสียหายกว่า 1.78 แสนล้านบาท คิดเป็นวงเงินชดใช้ความเสียหายเฉพาะบุคคลที่ 35,717 ล้านบาทโดยเป็นการพิจารณาความเสียหายใน 2 โครงการ คือ โครงการรับจำนำข้าว ฤดูกาลผลิตปี 2555/2556 และ ปี 2556/2557 จากทั้งหมด 4 โครงการ(โครงการเพาะปลูกนาปี ฤดูกาลผลิต2554/2555และนาปรังปีการผลิต2555) ที่เหลืออีก 80 % ของมูลค่าความเสียหาย ผู้ที่ทำให้เกิดความเสียหายต้องรับผิดชอบตามสัดส่วน โดยหน่วยงานที่ได้รับความเสียหาย ต้องรับไปดำเนินการเรียกค่าเสียหายภายในเดือนกุมภาพันธ์ปี 2560 โดยมีระยะเวลาเรียกค่าเสียหายภายใน 10 ปี นับจากเกิดความเสียหาย

ทั้งนี้ เดิมทีได้รับข้อมูลโครงการจำนำข้าว 2 โครงการ โดยโครงการแรกเป็นโครงการเพาะปลูกนาปี ฤดูการผลิต 2554/2555 และนาปรัง ปีการผลิต 2555นั้น ทางคณะทำงานเห็นว่าข้อมูลที่หน่วยตรวจสอบ ซึ่งนำโดยสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) และคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปช.) ที่ได้ทำการแจ้งไปยังนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี (ในขณะนั้น) ยังเป็นลักษณะโครงการเสนอแนะ หลังจากที่ทราบประเด็นปัญหาตลอดจนความเสี่ยงโดยแนะนำให้ไปหามาตรการ ป้องกันตลอดจนแก้ไข และยังไม่เกิดความเสียหายจริง

อย่างไรก็ตาม จากการสอบข้อเท็จจริงหลังจากนั้น ทางคณะกรรมการชุดความรับผิดทางละเมิด ที่ได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงกลับพบว่า นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่ได้รับการทักท้วงแล้ว ได้ทำการส่งหนังสือไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เมื่อสอบข้อเท็จจริงตลอดจนพยานหลักฐาน จึงยังไม่สามารถพอฟังได้ว่าจะเกิดความเสียหายขึ้นอย่างแน่ชัด จึงเห็นว่านางสาวยิ่งลักษณ์ ยังไม่ได้ประมาทเลินเล่อหรือปล่อยปละละเลยเนื่องจากเมื่อได้รับหนังสือทักท้วง ก็อยู่ในรูปแบบของข้อแนะนำและได้นำส่งไปให้กระทรวงพาณิชย์หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปดำเนินการ ซึ่งคณะกรรมการชุดความรับผิดทางละเมิดมองว่าส่วนนี้ยังไม่เสียหายชัดเจน

เหล่านี้ คือสิ่งที่ต่างจากกรณีชุดทำงานของนายจิรชัย มูลทองโร่ย รองปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ได้สรุปตัวเลขความเสียหายในโครงการรับจำนำข้าวที่จะฟ้องดำเนินคดีกับ นางสาวยิ่งลักษณ์ เป็นจำนวนเงินถึง 2.8 แสนล้านบาท เนื่องจากได้นำ 2 ความเสียหายจาก 2 โครงการมาคิดรวมกัน

แต่ภายหลังพบว่า ในปีการผลิต 2555/2556 และโครงการรับจำนำข้าวนาปี ฤดูการผลิต 2556/2557 ดังกล่าว ซึ่งเป็นความเสียหายจริง!

ทั้งนี้จากการตรวจสอบยังพบอีกว่า กระทรวงการคลังมีหนังสือเสนอไปถึงที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) หารือว่าโครงการนี้ทำให้เกิดความขาดทุนสูงกว่า 2 แสนล้านบาทและมีหนี้คงค้างอยู่สูงถึงกว่า 4 แสนล้านบาทโดยเห็นว่าข้อมูลเหล่านี้เป็นหลักฐานที่แน่ชัด

“เมื่อหน่วยงานตรวจสอบทำการทักท้วงตรงนี้โดยวิสัยและพฤติการณ์ อดีตนายกรัฐมนตรีคุณยิ่งลักษณ์ก็ต้องระงับยับยั้ง แต่ปรากฏว่า คุณยิ่งลักษณ์ ไม่ได้ระงับยับยั้งแต่อย่างใด ตรงนี้จึงทำให้เกิดความเสียหายขึ้น 1.78 แสนกว่าล้านบาทตามประมวลกฎหมายมาตรา 8 ของพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิด ซึ่งบอกว่า ให้รับผิดเฉพาะตน เพราะฉะนั้นคณะทำงานเมื่อพิจารณาเห็นแล้วว่าควรจะเอาผิดคุณยิ่งลักษณ์ 20% ของวงเงิน 1.78 แสนล้านบาทคิดเป็น 3.57 หมื่นล้านบาท”

นายมนัสกล่าวต่อโดยยืนยันว่า คณะกรรมการรับผิดทางแพ่งได้ตรวจสอบสำนวนโดยทำการตรวจสอบเสร็จสิ้น ตั้งแต่วันจันทร์ที่ 19 กันยายน 2559 และได้เสนอตามขั้นตอนโดยตนลงนามเมื่อวันพุธที่ 21 กันยายน 2559 เวลา 16.00 น. และได้ส่งต่อไปที่นางสาวสุทธิรัตน์ รัตนโชติ รองปลัดกระทรวงการคลัง ที่ดูแลเรื่องนี้เป็นที่เรียบร้อย

อย่างไรก็ดี หากนางสาวยิ่งลักษณ์ ไม่เห็นด้วยกับคำตัดสินของคณะทำงานชุดละเมิด ก็สามารถยื่นฟ้องไปที่ศาลปกครองเพื่อเพิกถอนคำสั่งทางปกครองได้ ตามที่หน่วยงานที่เสียหายได้ลงนามแจ้งไปที่นางสาวยิ่งลักษณ์ แต่หากไม่ฟ้องเพื่อขอเพิกถอนแล้ว หลังจากนั้นจะเข้าสู่กระบวนการยึดทรัพย์ต่อไป

“เพราะฉะนั้นสิ่งที่สามารถทำได้คือยื่นฟ้องศาล เพื่อขอเพิกถอนหลังจากนั้นศาลปกครองก็จะพิจารณาว่าข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร ซึ่งผมอาจจะต้องวนเวียนอยู่ตามศาลอีกต่อไปอีกสักระยะ”

นายมนัส กล่าวอีกว่า แม้จะมีการลงนามคำสั่งเรื่องนี้ไปแล้วก็ไม่หนักใจเพราะทำสิ่งที่ถูกที่ควร ขณะเดียวกันได้อธิบายถึงกระบวนการตัดสินใจว่า ด้วยคุณวุฒิที่จบมาทางด้านนิติศาสตร์ทำให้มีเพื่อนเป็นผู้พิพากษาจำนวนมาก ซึ่งก่อนหน้านี้เคยคุยกับเพื่อนที่เป็นผู้พิพากษาว่า เวลาตัดสินประหารชีวิตคนแล้วคุณทำอย่างไร โดยเพื่อนทั้ง 2 คนให้คำชี้แนะ โดยคนหนึ่งบอกว่า “พูดตรงๆนะ ตอนเช้าก็ไปใส่บาตรอุทิศส่วนกุศลให้” แต่เพื่อนอีกคนบอกว่า เมื่อทำถูกแล้วทำไมจะต้องไปใส่บาตรให้ เพราะฉะนั้นในเมื่อทำถูกแล้วทำไมจะต้องไปใส่บาตร ซึ่งวงสนทนาระหว่างเพื่อนสนิทมีการอธิบายว่าทำอะไรแล้วทำด้วยความตั้งใจ ขณะเดียวกันก็ไม่ได้ตั้งใจที่จะทำให้คนคนนั้นตายด้วยการไปตัดสินประหารชีวิตเขา แต่จำเป็นต้องทำตามหน้าที่ของกฎหมาย

ทั้งนี้ ส่วนตัวได้กลับมานั่งทบทวนคำแนะนำของเพื่อนจากวงสนทนา “ในเมื่อผมและคณะกรรมการทำถูก และทำในสิ่งที่ควรทำแล้ว โดยไม่ไปแกล้งใคร หรือถูกใครไล่เอาปืนจี้ ผมก็มีความสบายใจว่าได้ทำสิ่งที่ถูกต้อง ฉะนั้นผมไม่หนักใจซึ่งเป็นการตอบคำถามเรื่องนี้”

ที่สำคัญคณะทำงานประชุมกันถึง 13 ครั้งก่อนที่จะตกผลึก ขณะที่คณะกรรมการหลายคนมาจากหลายหน่วยงาน ซึ่งจริงๆเป็นสิ่งที่ถูกเพราะต้องให้มีกรรมการหลายคนเพราะว่าจะได้คานข้อมูลกัน นอกจากนี้ยังมีการขอข้อมูลเพิ่ม เพราะคดีนี้ต้องดูให้ดีที่สุด โดยคณะกรรมการประกอบไปด้วยอธิบดีกรมบัญชีกลาง คณะกรรมการกฤษฎีกา ผู้แทนจากสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินหรือสตง. ตัวแทนจากกระทรวงการคลัง สำนักงบประมาณ ตลอดจนผู้อำนวยการกองละเมิด ที่มีมติคะแนนเสียงเป็นเอกฉันท์ จากการพิจารณาถกเถียงตลอดจนเทียบเคียงกับกรณีอื่นๆซึ่ง ต้องยอมรับว่าไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

“ยืนยันว่าสิ่งเหล่านี้ที่เราทำเราไม่ได้ทำเพราะความเกรงใจ เราทำไปตามสิ่งที่ถูกที่ควร”

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,196
วันที่ 29 กันยายน - 1 ตุลาคม พ.ศ. 2559