ดึงรร.เถื่อน5หมื่นห้องเข้าระบบ ‘ทีเอชเอ’ ชี้รัฐปลดล็อก 3 ข้อจำกัดเปิดทางธุรกิจขนาดเล็ก

29 ก.ย. 2559 | 07:00 น.
ทีเอชเอ รุกดึงโรงแรมเถื่อนเข้าสู่ระบบ ชี้ใช้เวลาร่วม 5-6 ปีจนปลดล็อก 3 ข้อจำกัดในการยื่นทำใบอนุญาตสำหรับธุรกิจขนาดเล็ก ทั้งเรื่องผังเมือง ที่จอดรถ และรูปแบบการใช้อาคาร ด้านกระทรวงมหาดไทย คาดจะมีโรงแรมประเภท 1 และ 2 เข้าสู่ระบบเพิ่มอีกไม่ต่ำกว่า 5 หมื่นห้อง

[caption id="attachment_101556" align="aligncenter" width="335"] สุรพงษ์ เตชะหรูวิจิตร ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์สมาคมโรงแรมไทย(ทีเอชเอ) สุรพงษ์ เตชะหรูวิจิตร ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์สมาคมโรงแรมไทย(ทีเอชเอ)[/caption]

นายสุรพงษ์ เตชะหรูวิจิตร ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์สมาคมโรงแรมไทย(ทีเอชเอ) เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ"ว่าในช่วง 7 ปีที่ผ่านมาการท่องเที่ยวของประเทศไทย มีการเติบโตเฉลี่ย 16-17% จากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่14 ล้านคนในปี 2552 เพิ่มมาเป็น 29.88 ล้านคนเมื่อปี2558 ส่งผลให้มีคนสนใจจะเข้ามาดำเนินธุรกิจโรงแรมมากขึ้น ซึ่งจากข้อมูลล่าสุด ณ วันที่ 29 สิงหาคม 2559 พบว่ามีโรงแรมทั่วประเทศไทย ที่จดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมายอยู่ที่ 1.03 หมื่นแห่ง รวมห้องพักจำนวน 5.23 แสนห้อง

โดยแยกเป็นโรงแรมประเภท1 ( มีบริการห้องพักอย่างเดียว) 6,619 ห้อง โรงแรมประเภท 2 (มีห้องพักและห้องอาหาร) 2,291 ห้อง โรงแรมประเภท 3 (มีห้องพัก ห้องอาหาร ห้องสัมมนา หรือสถานบริการอย่างใดอย่างหนึ่ง) 1,124 ห้อง และโรงแรมประเภท4 (โรงแรมที่มีบริการครบทุกอย่าง) 348 ห้อง เท่านั้น แสดงให้เห็นว่ายังมีอีกหลายโรงแรมที่ดำเนินธุรกิจอย่างไม่ถูกต้องตามกฎหมาย และหลายแห่งนำเซอร์วิส อพาร์ทเมนต์ ตึกแถว บ้านจัดสรร มาขายห้องพักแบบรายวันและให้บริการเป็นโรงแรม ซึ่งการให้บริการที่ผิดกฎหมายที่เกิดขึ้น ที่มีผู้ประกอบการที่อยากทำโรงแรมให้ถูกต้อง แต่ติดล็อกข้อจำกัดที่ทำให้ไม่สามารถยื่นขอดำเนินธุรกิจได้ ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาก็มีธุรกิจมายื่นขอประกอบกิจการโรงแรมกับกระทรวงมหาดไทย ซึ่งเรื่องค้างอยู่กว่า 3,000 แห่ง และอีกกลุ่มหนึ่งคือจะทำโรงแรม แต่ไม่ตั้งใจขอใบอนุญาตให้ถูกต้อง

ดังนั้นช่วง 5-6 ปีที่ผ่านมา ทางทีเอชเอ จึงได้ผลักดันการแก้ไขปัญหาในเรื่องนี้ร่วมกับหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้อง เพื่อปลดล็อกใน 3 เรื่อง เพื่อเพิ่มโอกาสให้ผู้ประกอบการที่สนใจดำเนินธุรกิจโรงแรม สามารถขอใบอนุญาตได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งที่ผ่านมา มีการแก้ไขเรื่องของผังเมือง ที่เปิดให้โรงแรมขนาดเล็กสามารถเปิดให้บริการได้ในทุกผังสีที่เป็นที่อยู่อาศัย ปัญหาเรื่องที่จอดรถ ก็ผลักดันให้โรงแรมขนาดเล็กในประเภท1 และ2 ไม่ต้องมีที่จอดรถ และล่าสุดคือปลดล็อกเรื่องรูปแบบอาคาร จนเกิดกฎกระทรวง เรื่องกำหนดลักษณะอาคารประเภทอื่นที่ใช้ประกอบธุรกิจโรงแรม เพื่อเปิดโอกาสให้คนที่นำอาคารประเภทอื่นมาให้บริการที่พักแก่ประชาชนเป็นการทั่วไป สามารถปรับปรุงแก้ไข เพื่อให้ประกอบกิจการโรงแรมได้อย่างถูกต้องกฎหมาย

นายสุรพงษ์ กล่าวต่อว่า เมื่อมีการปลดล็อกใน 3 เรื่องนี้ได้แล้ว ทีเอชเอ จึงจะเน้นโปรโมตและเชิญชวนให้ธุรกิจที่เปิดเป็นโรงแรมอยู่หันมาทำให้ถูกต้อง ดังนั้นจึงได้จัดเสวนาเรื่อง "ปลดล็อก-โอกาสสุดท้ายทำโรงแรมให้ถูกต้องตามกฎหมาย" ที่กรุงเทพฯเมื่อวันที่ 21 กันยายนที่ผ่านมา โดยเชิญผู้ทรงคุณวุฒิมาให้ความรู้แก่ผู้ประกอบการที่มีข้อขัดข้องหรือประเด็นสงสัยในการขอรับใบอนุญาตฯซึ่งก็มีผู้ประกอบการมาร่วมฟังเป็นจำนวนมาก และต่อไปจะจัดงานเสวนานี้สัญจรไปในพื้นที่อื่นด้วย

"ในขณะนี้ภาครัฐและเอกชน มีจุดยืนชัดเจนว่าทุกภาคส่วนจะสนับสนุนธุรกิจโรงแรมที่ถูกต้องตามกฎหมายเท่านั้น ดังนั้นนโยบายต่างๆของภาครัฐที่ออกมาเกี่ยวกับเรื่องการท่องเที่ยว จะกำหนดว่าต้องใช้โรงแรมที่ถูกต้องตามกฎหมาย เช่น การนำค่าใช้จ่ายด้านการท่องเที่ยวมาหักลดหย่อนภาษีได้สูงสุด1.5 หมื่นบาท รวมถึงในขณะนี้การใส่ข้อมูลโรงแรมต่างๆ ในการโปรโมตการท่องเที่ยวของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.)ก็จะเริ่มทยอยถอดรายชื่อโรงแรมที่ไม่ถูกกฎหมายออกจากลิสต์ไป ดังนั้นในช่วง 6 เดือนหรือ 2 ปีจากนี้ ผู้ประกอบที่ต้องการทำถูกต้อง ก็ต้องยื่นเรื่องหรือเทคแอคชั่นว่ากำลังอยู่ในขั้นตอนที่จะทำให้ถูกต้อง ส่วนใครที่ไม่ทำอะไรเลยทีเอชเอ ก็พร้อมร้องเรียนให้มีการจับกุมโรงแรมที่ไม่ถูกต้อง ซึ่งที่ผ่านมามีการจับกุมไปร่วม 30-40 แห่ง"

นอกจากนี้ทีเอชเอ ยังอยู่ระหว่างร่วมมือกับภาครัฐ เพื่อผลักดันให้มีการปรับปรุงพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.)โรงแรม พ.ศ.2547 ให้เข้ากับสถานการณ์ปัจจุบัน โดยทีเอชเอ จะขอเพิ่มเติมสาระใน 2 เรื่อง คือ การขอเพิ่มบทลงโทษ ในมาตรา 59 จากที่กำหนดบทลงโทษสำหรับโรงแรมที่ไม่ได้จดทะเบียนถูกต้องไว้ว่าต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปีหรือปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และปรับอีกวันละไม่เกิน 1 หมื่นบาทตลอดเวลาที่ยังฝ่าฝืนอยู่ ขอให้เพิ่มบทลงโทษ ให้รุนแรงขึ้น โดยเป็นต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1-5 ปี หรือปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท-2 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ส่วนโทษปรับรายวันยังคงไว้เท่าเดิม และขอให้มีการเพิ่มเติมสาระในกฎหมาย เรื่องของการกำหนดบทลงโทษ สำหรับผู้ที่ประชาสัมพันธ์การขายโรงแรม โดยไม่มีใบอนุญาตในการดำเนินธุรกิจ โดยกำหนดโทษปรับไม่เกิน 1 แสนบาท

ด้านนายบัณฑิต นริศรางกูร ผู้อำนวยการส่วนรักษาความสงบเรียบร้อย 3 กระทรวงมหาดไทย กล่าวว่าเมื่อปี2552 มีผู้ประกอบการมายื่นเรื่องขอดำเนินธุรกิจโรงแรมค้างไว้ 3,710 แห่ง แต่ติดล็อกในเรื่องต่างๆ โดยเฉพาะลักษณะประเภทอาคารที่ตามพ.ร.บ.โรงแรม มีการกำหนดหลักเกณฑ์ไว้สูงมาก โดยอิงกับโรงแรมระดับ 5 ดาว ทำให้โรงแรมขนาดเล็กจะไม่สามารถขออนุญาตได้ ซึ่งการออกกฎกระทรวง กำหนดลักษณะอาคารประเภทอื่นที่ใช้ประกอบธุรกิจโรงแรม พ.ศ.2559 ก็จะทำให้โรงแรมประเภท1 และ 2 มีเวลา 5 ปีที่จะดำเนินการให้ถูกต้อง ซึ่งเราอิงจากรูปแบบอาคารของถนนข้าวสารและอัมพวา มากำหนดสเปกของอาคาร ให้โรงแรมขนาดเล็กสามารถปรับปรุงเพื่อยื่นทำโรงแรมอย่างถูกต้องได้ อาทิ การกำหนดให้มีที่ว่างของอาคารไม่น้อยกว่า 10 ใน 100 การบันไดหนีไฟ เป็นต้น ซึ่งจากการหารือกับกรมโยธาฯ ก็เชื่อว่าปัจจุบันมีโรงแรมผิดกม.และเป็นโรงแรมขนาดเล็กเกินกว่า 1 แสนห้อง ดังนั้นหากนำโรงแรมเหล่านี้เข้าระบบได้ ก็จะช่วยแก้ปัญหานี้ลงได้ 50% หรือจะมีโรงแรมที่เข้าสู่ระบบเพิ่มอีกไม่ต่ำกว่า 5 หมื่นห้อง

Photo : Pixabay
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,195 วันที่ 25 - 28 กันยายน พ.ศ. 2559