นครเวียงจันทน์อารยธรรมแห่งการเรียนรู้

29 ก.ย. 2559 | 10:00 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

หนึ่งนครหลวงที่มีความเก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีความโดดเด่นในแง่มุมของการลงทุน เศรษฐกิจ ประชากร เป็นอีกหนึ่งบทเรียนที่สำคัญในการเรียนรู้และศึกษาถึงศิลปวัฒนธรรม ความเป็นมาในอดีตอย่างยาวนานกว่า 4 ศตวรรษ รวมทั้งการท่องเที่ยวที่สามารถสร้างรายได้และชื่อเสียงให้กับประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) และนี่คือ “กรุงศรีสัตนาคคนหุต วิสุทธิ์รัตนราชธานีบุรีรมย์ หรือ นครเวียงจันทน์”

สิลา วีระวงส์ นักปราชญ์ชาวลาวผู้ค้นคว้าประวัติศาสตร์ลาวและเรียบเรียงในหนังสือ “ประวัติศาสตร์ลาว”ว่าด้วยเรื่องการตั้งนครหลวงเวียงจันทน์เป็นเมืองหลวงใหม่ของลาว ตอนหนึ่งว่า “นับตั้งแต่ปีจุลศักราช 922 หรือ พ.ศ.2103 สมเด็จพระไชยเชษฐาธิราชเจ้า ทรงพิจารณาเห็นว่า นครเชียงทองหรือเมืองหลวงพระบางในปัจจุบันมีพื้นที่ที่คับแคบไม่เหมาะสมเป็นชัยภูมิแห่งนครหลวง รวมทั้งยังเป็นทางเดินของพม่าซึ่งเป็นศัตรูที่สำคัญในช่วงเวลานั้น พระองค์จึงทรงดำริเลือกเมืองเวียงจันทน์โดยเป็นนครใหญ่ที่มีดินแดนทำมาหากินอุดมสมบูรณ์ จากนั้นพระองค์จึงมอบเชียงทองให้พระสังฆเจ้าอยู่รักษา ส่วนพระองค์ได้เชิญเอาพระแก้วมรกตและราชสมบัติยกลงมายังนครเวียงจันทน์พร้อมกับสถาปนาเวียงจันทน์ให้เป็นอาณาจักรล้านช้างและเติบโตตามกาลเวลาจนถึงปัจจุบันกว่า 456 ปี

[caption id="attachment_101580" align="aligncenter" width="500"] ประตูชัยหรือประตูไซ ประตูชัยหรือประตูไซ[/caption]

ปัจจุบันเวียงจันทน์เป็นเมืองหลวงและเมืองที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ อยู่แถบลุ่มแม่น้ำโขง มีพื้นที่ประมาณ 3,920 ตร.กม. ลักษณะภูมิอากาศอยู่ในเขตร้อนชื้น เป็นศูนย์กลางของการค้า การลงทุน และเศรษฐกิจ โดยล่าสุดรัฐบาล สปป.ลาว ได้จัดทำแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษและเขตเศรษฐกิจเฉพาะในประเทศ โดยภายใต้แผนยุทธศาสตร์ดังกล่าวกำหนดขอบเขตแนวทางการพัฒนา 3 ข้อ ประกอบด้วย 1.กำหนดพื้นที่ห่างไกลเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษเพื่อส่งเสริมการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน 2.กำหนดพื้นที่ชายแดนกับประเทศเพื่อนบ้านเป็นเขตเศรษฐกิจเฉพาะเพื่อส่งเสริมการลงทุน การค้า และการท่องเที่ยว และ 3.กำหนดพื้นที่ที่มีศักยภาพเหมาะสมเป็นเขตอุตสาหกรรมแปรรูปเกษตรกรรมและการส่งออก

ทั้งนี้รัฐบาลทาง สปป.ลาว มุ่งสร้างและยกระดับนครเวียงจันทน์ให้เป็นจุดหมายปลายทางด้านการเรียนรู้และท่องเที่ยวประวัติศาสตร์จากแนวคิด “สงบสุข สะอาด สีเขียวชอุ่ม สว่างไสว ศิวิไลซ์ และมีเสน่ห์”ในงานฉลองครบ 450 ปีนครเวียงจันทน์ที่ผ่านมา ด้วยการจัดทำโครงการปรับปรุงภูมิทัศน์สถานที่ท่องเที่ยวทั้งในด้านประวัติศาสตร์ ธรรมชาติ และพิพิธภัณฑ์ต่างๆ นอกจากนี้ยังบูรณะปฏิสังขรณ์ปูชนียสถาน วัดวาอาราม เพื่อเชิดชูศิลปวัฒนธรรมประจำชาติสืบต่อไป

[caption id="attachment_101579" align="aligncenter" width="500"] พระธาตุหลวงและอนุสาวรีย์พระเจ้าไชยเชษฐาธิราช พระธาตุหลวงและอนุสาวรีย์พระเจ้าไชยเชษฐาธิราช[/caption]

อย่างไรก็ดีสำหรับสถานที่สำคัญของนครเวียงจันทน์ที่สามารถสร้างความประทับใจและเติมเต็มการเรียนรู้ในทุกมิติไม่ว่าจะเป็น “ประตูชัยหรือประตูไซ”ที่เปรียบเสมือนดั่งชัยชนะของประชาชนชาวลาวที่หลุดพ้นจากการเป็นอาณัติของชาติตะวันตก สร้างขึ้นอย่างสวยงามด้วยสถาปัตยกรรมที่ได้รับอิทธิพลมาจากประตูชัยในกรุงปารีส ฝรั่งเศส ผสมผสานกับสถาปัตยกรรมอันเป็นเอกลักษณ์อันโดดเด่นแบบลาวอย่างเช่น พระพุทธรูปศิลปะ ภาพเรื่องราวมหากาพย์รามายณะมีอายุยืนยาวกว่า 4 ทศวรรษเป็นแลนด์มาร์กที่สำคัญสำหรับอุตสาหกรรมท่องเที่ยวในประเทศ นอกจากนี้อีกสถานที่ที่มีความสำคัญคือ “พระธาตุหลวงและอนุสาวรีย์พระเจ้าไชยเชษฐาธิราช” เป็นพระธาตุขนาดใหญ่สีทองอร่าม บรรจุพระบรมสารีริกธาตุรอบๆองค์พระธาตุใหญ่ประดับด้วยเจดีย์บริวารล้อมรอบหลายพระองค์ แสดงให้เห็นถึงความศักดิ์สิทธิ์ของพระพุทธศาสนาและยังเป็นศาสนสถานที่สำคัญที่สุดของประเทศลาวอีกด้วย ทั้งนี้บริเวณด้านหน้าของพระธาตุเป็นที่ประดิษฐานพระบรมรูปสมเด็จพระเจ้าไชยเชษฐาธิราช ตั้งอยู่บนฐานสูง พระหัตถ์ทรงถือพระแสงดาบวางพาดไว้บนพระเพลา โดยตำนานเล่าขานกันว่า พระแสงดาบเล่มนี้ทำหน้าที่ปกป้องพระธาตุหลวงซึ่งถือว่าเป็นศูนย์รวมจิตใจของประชาชนชาวลาวทุกคน

นครเวียงจันทน์เป็นหนึ่งเมืองหลวงที่สำคัญสำหรับอาเซียนที่เหมาะสมและควรค่าแก่การเรียนรู้ในทุกมิติ การพัฒนาในด้านเศรษฐกิจเป็นกลไกที่สำคัญที่ทางภาครัฐกำลังดำเนินงานเช่นเดียวกันกับการดูแลและคงไว้ซึ่งวัฒนธรรม ประเพณีและธรรมเนียมปฏิบัติอันดีงามไม่ให้ลดเลือนหรือจางหายไปพร้อมกับการพัฒนา แต่คงไว้ซึ่งมนต์เสน่ห์และความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะที่พร้อมต้อนรับผู้มาเยือนด้วยความอบอุ่นอย่างสุขใจ “เวียงจันทน์ สรรค์สร้างความสุข ดินแดนแห่งความฝันที่มีอยู่จริง”

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,195 วันที่ 25 - 28 กันยายน พ.ศ. 2559