สธ. แนะประชาชน“กินเจ ดูแลใจ ให้ไกลโรค” 

28 ก.ย. 2559 | 11:32 น.
กระทรวงสาธารณสุข ชี้คนไทยป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจเฉลี่ยชม.ละ 30 คน เสียชีวิตเฉลี่ยชม.ละ 2 คน แนะนำประชาชนใช้เทศกาลถือศีลกินเจ กินอย่างถูกหลักโภชนาการ ผู้ป่วยโรคเรื้อรังและโรคหัวใจ ขอให้งดอาหารหมักดอง อาหารกระป๋อง/แปรรูป อาหารรสหวานจัด เค็มจัด ไขมันสูง

ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) พร้อมด้วยนพ.วชิระ เพ็งจันทร์ อธิบดีกรมอนามัย พญ.จิตสุดา บัวขาว ที่ปรึกษากรมการแพทย์ และนพ.สัญชัย ชาสมบัติ ผู้อำนวยการสำนักโรคไม่ติดต่อ กรมควบคุมโรค ร่วมแถลงข่าว “กินเจ ดูแลใจ ให้ไกลโรค” เพื่อให้ประชาชนกินเจอย่างสุขภาพดี ห่างไกลโรคหัวใจและโรคเรื้อรัง

ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกลกล่าวว่า ในวันที่ 29 กันยายนของทุกปีเป็นวันหัวใจโลก โดยสมาพันธ์หัวใจโลกกำหนดประเด็นรณรงค์ปีนี้ว่า เพิ่มพลังให้ชีวิต (Power your Life)  เพื่อให้ประชาชนทั่วโลกประเมินความเสี่ยงตนเองและหันมาดูแลสุขภาพเพื่อหัวใจที่แข็งแรง อีกทั้งวันที่ 1-9 ตุลาคม 2559 เป็นเทศกาลกินเจ เป็นช่วงเวลาที่ประชาชนจะรักษาศีล ปฏิบัติธรรม และไม่เบียดเบียนชีวิตสัตว์ โดยงดการบริโภคเนื้อสัตว์ หันมากินผักผลไม้ ส่งผลดีต่อสุขภาพกายและจิตใจ ช่วยลดการเจ็บป่วยจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง ที่เป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญของการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด ซึ่งแต่ละปีทั่วโลกมีผู้เสียชีวิต 17.5 ล้านคน คนไทยมีแนวโน้มการป่วยและเสียชีวิตจากโรคนี้เพิ่มมากขึ้น

โดยเฉพาะโรคหลอดเลือดหัวใจ ข้อมูลในปี 2558 มีผู้เสียชีวิต 18,922 คน เฉลี่ยชั่วโมงละ 2 คน ส่วนผู้ป่วยเฉลี่ยชั่วโมงละ 30 คน ล่าสุดในปี 2559 มีผู้ป่วยรายใหม่ 10,957 คน มีค่าใช้จ่ายในการรักษาปีละกว่า 155,000 ล้านบาท  กระทรวงสาธารณสุข ได้ดำเนินการทั้งด้านการป้องกัน ลดปัจจัยเสี่ยงการเกิดโรคหัวใจ และการพัฒนาระบบบริการสุขภาพในทุกเขตสุขภาพ มีสถาบันโรคทรวงอก กรมการแพทย์เป็นแม่ข่าย เพื่อให้ผู้ป่วยโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันได้รับการรักษา ด้วยยาละลายลิ่มเลือดหรือการขยายหลอดเลือดด้วยบอลลูนอย่างรวดเร็ว ผลการดำเนินงานในปีนี้ สามารถช่วยชีวิตผู้ป่วยได้กว่าร้อยละ 90

จึงขอให้ประชาชนใช้โอกาสเทศกาลถือศีลกินเจในการปรับพฤติกรรมสร้างสุขภาพ กินถูกหลักโภชนาการ ครบ 5 หมู่ อย่างพอเพียง กินโปรตีนจากถั่วและผลิตภัณฑ์จากถั่ว เช่น เต้าหู้ โปรตีนเกษตร ทดแทนโปรตีนจากเนื้อสัตว์ หลีกเลี่ยงอาหารประเภทแป้ง ทอด มีไขมันสูง มีรสเค็มจัด หวานจัด กินผักและผลไม้สดให้หลากหลายหลากสี และล้างผักผลไม้ให้สะอาดเพื่อลดสารพิษตกค้าง โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ขอให้งดอาหารหมักดอง อาหารกระป๋อง อาหารแปรรูป ซึ่งจะมีเกลือ ไขมัน และน้ำตาลสูงด้วย เน้นการกินธัญพืชหรือถั่วเมล็ดแห้งที่หลากหลาย อาทิ ถั่วแดง  ถั่วเขียว งา เพิ่มกากใยอาหาร กินข้าวกล้องแทนข้าวขาว และเติมเต็มคุณค่าโภชนาการด้วยผลไม้รสไม่หวานจัด เสริมด้วยการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ลดละเลิกบุหรี่และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ในช่วงเทศกาลเจหรือตลอดไป เพื่อให้มีสุขภาพดี ไม่เจ็บป่วยจากโรคเรื้อรัง และเพิ่มพลังชีวิต ให้หัวใจแข็งแรง

ด้านนายแพทย์วชิระ เพ็งจันทร์ อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า อาหารเจส่วนใหญ่ มักเป็นแป้ง และอาหารทอดที่มีไขมันสูง การกินเจให้มีสุขภาพดีและน้ำหนักไม่ขึ้น คือการกินอาหารให้ครบทุกมื้อ ในปริมาณเพียงพอ เน้นกินผัก และผลไม้สดที่ไม่หวานเกินไป  เมนูเจสุขภาพที่สามารถทำรับประทานเองง่ายๆ ในช่วงเทศกาลกินเจ   ได้แก่ ก๋วยเตี๋ยวหลอด ปอเปี๊ยะสด ยำเต้าหู้ ลาบเต้าหู้ น้ำพริกหนุ่ม พล่าหัวปลี ส้มตำผลไม้  เป็นต้น สำหรับการล้างผักผลไม้ เพื่อกำจัดยาฆ่าแมลงให้หมดไปหรือลดปริมาณลงไปจนไม่เป็นอันตราย ทำได้โดยการลอกเปลือกที่สามารถลอกได้ทิ้งไป แล้วล้างด้วยน้ำไหล 2 นาที หรือแช่ด้วยน้ำเกลือ 2 ช้อนโต๊ะต่อน้ำ 4 ลิตร น้ำผสมน้ำส้มสายชูครึ่งถ้วยตวงต่อน้ำ  4 ลิตร หรือน้ำผสมโซเดียมไบคาร์บอเนต 1 ช้อนโต๊ะต่อน้ำ 4 ลิตร นาน 15 - 30 นาที จากนั้นล้างด้วยน้ำเปล่าอีก 2 ครั้ง สำหรับผักบางชนิด เช่น คะน้า กะหล่ำ ถั่วฝักยาว หากมีคราบขาวจับที่กาบใบหรือฝักมากเกินไปล้างน้ำหลายๆ ครั้ง และคลี่ใบถูหรือล้างด้วยการเปิดน้ำไหลผ่านผักสดอย่างน้อย 2 นาทีก่อนรับประทาน หรือนำไปปรุงประกอบอาหาร

พญ.จิตสุดา บัวขาว ที่ปรึกษากรมการแพทย์ กล่าวว่า ผู้ที่เป็นโรคหัวใจจะมีอาการเตือน คือ แน่นบริเวณกลางหน้าอก คล้ายมีอะไรมากดทับ ร้าวไปที่กราม สะบักหลัง หรือแขนซ้ายด้านใน อาการแน่นหน้าอกแต่ละครั้งประมาณ 3-5 นาที จะดีขึ้นเมื่อนั่งพัก เหนื่อยง่ายกว่าปกติ เหงื่อออก ใจสั่น หัวใจเต้นผิดปกติ หน้ามืดเป็นลม    บางรายมีอาการคล้ายโรคกระเพาะหรือกรดไหลย้อน ในการรักษาแพทย์จะใช้การรักษาด้วยยา เพื่อรักษาอาการ ควบคุมปัจจัยเสี่ยงและป้องกันภาวะแทรกซ้อนของโรค หรือการทำบอลลูนขยายเส้นเลือดที่ตีบและอุดตัน พร้อมทั้งใส่ขดลวดค้ำยัน หรือการผ่าตัดเปลี่ยนทางเดินหลอดเลือดหัวใจ

ส่วนนพ.สัญชัย ชาสมบัติ ผู้อำนวยการสำนักโรคไม่ติดต่อ กรมควบคุมโรค กล่าวว่า การปฏิบัติตนเพื่อลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ โดยการเพิ่มพลังให้ชีวิต (Power your life) เพื่อสุขภาพหัวใจที่ดี มี 3 หลักการ คือ 1.เติมพลังให้หัวใจ (Fuel your heart)  ลดการบริโภคอาหารแช่แข็งและแปรรูป ซึ่งมีเกลือ น้ำตาลและไขมันสูง เลือกดื่มน้ำเปล่าหรือน้ำผลไม้ที่ไม่หวาน เปลี่ยนขนมหวานเป็นผลไม้สด เพิ่ม ผลไม้ ผัก ให้ได้ 5 ส่วนหรือ 5 กำมือต่อวัน หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ 2.ออกกำลังกายให้หัวใจขยับ (Move your heart) ทำตัวให้กระฉับกระเฉงเสมอ โดยออกกำลังกายอย่างน้อย 30 นาที 5 ครั้งต่อสัปดาห์ เช่น เต้นรำ เดินเล่น หรือการทำงานบ้าน เดินขึ้นลงบันไดแทนการใช้ลิฟต์และบันไดเลื่อน เดินหรือปั่นจักรยานแทนการขับรถยนต์ และ3.รักษ์หัวใจ (Love your heart) โดยงดสูบบุหรี่ ข้อมูลทางวิชาการระบุว่า การเลิกสูบบุหรี่ 2 ปี จะช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดลง หากเลิกสูบบุหรี่ภายใน 15 ปี ความเสี่ยงจะเหลือเท่าคนที่ไม่ได้สูบบุหรี

ทั้งนี้ กลุ่มเสี่ยงเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจ ได้แก่ ผู้ป่วยโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง ผู้ที่สูบบุหรี่ มีภาวะน้ำหนักเกิน/โรคอ้วนลงพุง ผู้มีอายุ 45 ปีขึ้นไปที่มีญาติสายตรงเป็นโรคนี้ ผู้ที่ขาดการออกกำลังกาย กินผักและผลไม้น้อย และผู้ที่มีภาวะเครียดประจำ จึงขอให้กลุ่มเสี่ยงดังกล่าว รับการประเมินโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดอย่างน้อยปีละ 1 ครั้งที่โรงพยาบาลใกล้บ้าน หรือประเมินด้วยตนเองได้ที่ http://med.mahidol.ac.th/cvmc/thaicv/ หรือแอพพลิเคชั่น Thai CV risk calculator ทั้งระบบ android และ IOS