การนิคมฯเดินหน้ายกระดับ SME ยางไทย

28 ก.ย. 2559 | 09:40 น.
การนิคมฯ เปิดโครงการ“กนอ.สานพลังประชารัฐ ยกระดับ SME ยางไทย” ขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากในพื้นที่ให้มั่นคง เผยความก้าวหน้าโครงการนิคมฯยางพารา  พร้อมเปิดโรงงานมาตรฐานรองรับมินิคลัสเตอร์ยางพาราขั้นกลางน้ำและปลายน้ำ ผู้ประกอบการหลายรายจ่อเข้าใช้โรงงานประกอบกิจการแล้ว

พลเอก วรพงษ์ สง่าเนตร ประธานกรรมการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(กนอ.) เปิดเผยว่า ในวันนี้ (28 ก.ย.2559)  กนอ.ได้จัดกิจกรรม “กนอ. สานพลังประชารัฐ ยกระดับ SME ยางไทย ก้าวไกลในนิคมอุตสาหกรรมยางพารา” เพื่อสานต่อแนวนโยบายของรัฐบาลสร้างการเชื่อมโยง ระหว่าง 3 ภาคส่วน ตามยุทธศาสตร์พลังประชารัฐของรัฐบาล ได้แก่  ภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน/ประชาสังคม ช่วยกันขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากในระดับพื้นที่ให้มีความมั่นคงยิ่งขึ้น  โดยมีพิธีเปิดโรงงานมาตรฐานในนิคมอุตสาหกรรมยางพารา (Rubber City) ซึ่งเป็นโครงการที่สำคัญในการประสานพลังประชารัฐทุกภาคส่วน ใช้เป็นต้นแบบเพื่อรองรับมินิคลัสเตอร์ยางพารา ช่วยส่งเสริมอุตสาหกรรมแปรรูปยางพารา ให้เป็นผลิตภัณฑ์ที่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่ม สร้างงาน สร้างรายได้ และสร้างปริมาณ (อุปสงค์) การใช้ยางพาราให้เกิดขึ้นภายในประเทศเพิ่มขึ้น

สำหรับอาคารโรงงานมาตรฐานในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมยางพาราในระยะที่ 1 ได้ก่อสร้างแล้วเสร็จ จำนวน 3 ยูนิต พื้นที่รวม ประมาณ 1,500 ตร.ม. มีผู้ประกอบการเอสเอ็มอีขอเช่าพื้นที่และพร้อมเข้าประกอบกิจการแล้ว  จำนวน 3 ราย ซึ่ง กนอ.เตรียมพื้นที่และอาคารโรงงานมาตรฐานเพื่อรองรับเอสเอ็มอีทั้งระยะที่ 1 และ 2 จำนวน 10 ยูนิต  รวมพื้นที่ประมาณ 5,000 ตร.ม.ซึ่งขณะนี้มีเอสเอ็มอี (SMEs) และกลุ่มสหกรณ์ยางพารา ส่วนใหญ่ประกอบกิจการยางพาราขั้นกลางน้ำและปลายน้ำ อาทิ ยางคอมปาวด์ หมอนยางพารา ยางรองส้นเท้า ที่บริหารมือ กรวยยางจราจร เป็นต้น สนใจและทำสัญญาเช่าพื้นที่ครบหมดแล้ว

อย่างไรก็ดี ความก้าวหน้าของการดำเนินงานพัฒนานิคมอุตสาหกรรมยางพารา (Rubber City) อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา บนพื้นที่ประมาณ 750 ไร่ ขณะนี้บริษัทรับเหมาก่อสร้างเร่งพัฒนาพื้นที่มีความรุดหน้าประมาณร้อยละ 11.78  ซึ่งเร็วกว่าแผนงาน    ที่วางไว้ประมาณร้อยละ 3.16  คาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จสมบูรณ์ภายในต้นปี 2561 และจะเปิดให้ผู้ประกอบการเข้าก่อสร้างโรงงานอุตสาหกรรม เพื่อประกอบกิจการได้ภายในปลายปี 2559 เป็นต้นไป

ที่ผ่านมา กนอ. ได้เปิดให้นักลงทุนที่สนใจพื้นที่เข้าเจรจาซื้อและเช่าที่ดินอย่างต่อเนื่อง โดยพบว่ามีนักลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศ อาทิ  มาเลเซีย จีน อินเดีย ส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการกลุ่มอุตสาหกรรมยางพาราขั้นกลางน้ำและปลายน้ำ อาทิ  ที่นอนยางพารา ยางล้อรถยนต์  ให้ความสนใจซื้อและเช่าที่ดินจำนวนหลายราย  และได้มีการเจรจากับนักลงทุนที่ประกอบกิจการผลิตกระแสไฟฟ้าพลังความร้อนร่วม  คาดว่าจะสรุปผลได้ภายในเดือนกันยายนนี้