ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการ SME  เดือนส.ค.ลดลงเล็กน้อย 

28 ก.ย. 2559 | 07:05 น.
สสว.เผย ดัชนีความเชื่อมั่นเดือน ส.ค. 59  ลดลงเล็กน้อยอยู่ที่ระดับ 93.6 ดัชนีคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าทรงตัวที่ 101.8 เนื่องจากเป็นช่วง Low Season ท่องเที่ยว ขณะที่ภาคบริการอื่นๆ เช่น โลจิสติกส์ ก่อสร้าง และกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ มีความเชื่อมั่นเพิ่มขึ้น ส่วนภาพรวมด้านการเติบโตของ SME ในครึ่งปีแรก SME ยังสามารถเติบโตได้ดี โดยมี GDP มูลค่า 1.45 ล้านล้านบาท และมีอัตราการขยายตัวของ GDP SME ร้อยละ 5.0  นำโดยภาคการท่องเที่ยว ก่อสร้างและค้าส่ง ค้าปลีก อุตสาหกรรมประเภทสร้างสรรค์และอาหาร ยังเติบโตได้ดีกว่าการผลิตสินค้าประเภทอื่นๆ

วันนี้(28 ก.ย.2559) นางสาลินี วังตาล ผู้อำนวนการ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) แถลงข่าวเรื่องภาพรวมสถานการณ์ SME  ปี 2559 ความคืบหน้าโครงการกองทุนพลิกฟื้น และความช่วยเหลือด้านการตลาดแก่ SMEs ว่า ภาพรวมสถานการณ์ SME ปี 2559

1.ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการภาคการค้าและบริการ ในเดือนสิงหาคม 2559 อยู่ที่ระดับ 93.6 ลดลงเล็กน้อยจากเดือนก่อนที่ระดับ 94.8 โดยที่ดัชนีคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้ายังทรงตัวเท่าเดิมคือที่ระดับ 101.8 เนื่องจากในเดือนสิงหาคมนั้น กลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวซึ่งเป็นตัวนำ มีรายได้ลดลงจากการเป็น Low Season ทำให้ดัชนีลดลงในกลุ่มธุรกิจการท่องเที่ยว โรงแรม ร้านอาหาร และการขนส่ง (มวลชน) ในขณะที่ภาคบริการอื่นๆ ยังคงมีความเชื่อมั่นเพิ่มขึ้น ได้แก่ กลุ่มธุรกิจการขนส่งสินค้า การก่อสร้าง อสังหาริมทรัพย์ บริการสุขภาพและความงาม ส่วนภาคการค้าส่งและค้าปลีกนั้น ดัชนีความเชื่อมั่นลดลงเล็กน้อย เนื่องจากการระมัดระวังในเรื่องการใช้จ่ายของผู้บริโภค

2.ภาพรวมด้านการเติบโตของ SME  ตามที่ปรากฎในรายงานของธนาคารแห่งประเทศไทยระบุว่าสัดส่วนสินเชื่อค้างชำระเกิน 3 เดือน (NPL) ของ SME ณ เดือนกรกฎาคม 2559 อยู่ที่ 4% ของยอดสินเชื่อ เพิ่มขึ้นจาก 3.7% ในไตรมาสแรกของปีนี้ สสว. ได้ติดตามสถานการณ์ในภาพรวมของ SMEs แล้ว เห็นว่าในครึ่งปีแรก 2559 SMEs ยังสามารถเติบโตได้ในอัตราร้อยละ 5.0 สูงกว่าอัตราการเติบโตร้อยละ 3.5 ของประเทศโดยรวม GDP SME มีมูลค่า 1.45 ล้านล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 42 ต่อ GDP รวมของประเทศ แต่อัตราการเติบโตของ SME ในภาคธุรกิจต่าง ๆ มีความแตกต่างกันค่อนข้างมาก กล่าวคือ ภาคการค้า และภาคการบริการสามารถเติบโตได้ดี ทั้งภาคการท่องเที่ยว (14.3%) การก่อสร้าง (9.3%) ธุรกิจบริการส่วนบุคคล (9.7%) ส่วนในภาคอุตสาหกรรมนั้น แม้จะปรับตัวดีขึ้นกว่าปีก่อนหน้าเล็กน้อย แต่การขยายตัวก็ยังจัดว่าอยู่ในอัตราที่ต่ำคือ 0.9% ตามภาวะเศรษฐกิจโลกและความต้องการที่ลดลงในตลาดต่างประเทศ รวมทั้งมีการย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศเพื่อนบ้านในบางอุตสาหกรรม แต่การผลิตในบางสาขาก็ยังเติบโตได้ดี ในส่วนของภาคอุตสาหกรรมที่ยังเติบโตได้นั้น  คือ กลุ่มที่ใช้นวัตกรรม เทคโนโลยีหรือสร้างสรรค์ ได้แก่ การผลิตเครื่องมือแพทย์ เฟอร์นิเจอร์ไม้และของทำด้วยไม้ และอุตสาหกรรมอาหาร

3. มูลค่าการส่งออกของ SME ในช่วง 7 เดือนแรกของปี 2559 (มกราคม – กรกฎาคม 2559) มีมูลค่า 1,302,707 ล้านบาท หรือ 36,822.6 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 17.2 เมื่อคิดเป็นเงินบาท และร้อยละ 8.2 เมื่อคิดเป็นดอลลาร์สหรัฐ ดีกว่าภาวะการส่งออกโดยรวมของประเทศ เพราะสินค้าที่ SME เป็นผู้ส่งออกได้รับความนิยมจากตลาด ASEAN+6 เช่น ธัญพืช ผลไม้ สินค้าแฟชั่น เครื่องประดับ สมุนไพร และอาหารแปรรูป เป็นต้น

4. มาตรการภาครัฐในการช่วยเหลือ SME ที่ประสบปัญหาในช่วงเศรษฐกิจชะลอตัว สสว.ได้ดำเนินโครงการ Turnaround ร่วมกับมหาวิทยาลัยราชมงคลธัญบุรี (มทร.) และธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) มาตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2559 ปัจจุบันมี SME เข้าร่วมโครงการ 11,300 ราย การวิเคราะห์ในเชิงลึกพบว่า SME ที่มีศักยภาพสามารถฟื้นฟูกิจการได้และมีสถานะเป็นนิติบุคคลมีประมาณ 4,000 ราย สสว.ได้ประสานงานเพื่อขอปรับโครงสร้างหนี้กับธนาคารเจ้าหนี้เดิมไปแล้วจำนวน 3,000 ราย SMEs กลุ่มนี้สามารถยื่นขอกู้เงินโครงการเงินทุนพลิกฟื้นวิสาหกิจขนาดย่อมเพื่อนำมาใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนได้

โดยเมื่อวันที่ 20 กันยายน 2559 คณะทำงานกลั่นกรองพิจารณาการให้กู้ยืมเงิน โครงการเงินทุนพลิกฟื้นวิสาหกิจขนาดย่อม ซึ่งประกอบด้วยสสว. และผู้แทนของหน่วยงานต่างๆ ได้แก่ ผู้แทนจาก ธพว. ผู้แทนจากกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ผู้แทนจากสมาคมธนาคารไทย ผู้แทนจาก มทร.ธัญบุรี  ได้มีมติเห็นชอบให้อนุมัติเงินกู้แก่ SMEs จำนวน 4 รายแรก วงเงินกู้รวม 2.22 ล้านบาท เป็นที่เรียบร้อยแล้ว