ขู่!ปิดใช้ตึกเสี่ยงทั่วไทย เดดไลน์30ก.ย.ไม่ตรวจสอบ./หอพัก-โรงแรมมากสุด

28 กันยายน 2559
กรมโยธาฯขีดเส้นตาย 76 จังหวัดทั่วประเทศ ดีเดย์ 30 ก.ย. 5,000 อาคาร 9ประเภทต้องมีใบแจ้งตรวจสอบความปลอดภัยมาแสดง พร้อมไฟเขียวท้องถิ่นดำเนินคดีทั้งจำ-ปรับตามกฎหมาย แถมปรับรายวันอีกวันละ 1 หมื่น หากยังฝ่าฝืน ถึงขั้นสั่งปิดใช้อาคารได้ เผย เมืองใหญ่มากสุด หาดใหญ่-เชียงใหม่-ภูเก็ต ด้านเทศบาลนครขอนแก่น ยันส่งเรื่องเข้าส่วนกลางหมดแล้ว /สงขลา ขอสิ้นเดือนตุลาคม เผยโรงแรม 80 ห้องขึ้นไป-หอพัก 2,000 ตร.ม. ใกล้มหาลัยดังมากสุด ส่วนใหญ่อ้างเพิ่งสร้างเสร็จยังมั่นคงแข็งแรง

[caption id="attachment_101487" align="aligncenter" width="700"] อาคาร 9 ประเภทจังหวัดหัวเมืองใหญ่อยู่ระหว่างตรวจสอบ อาคาร 9 ประเภทจังหวัดหัวเมืองใหญ่อยู่ระหว่างตรวจสอบ[/caption]

สืบเนื่องจากพล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย(มท.1) สั่งให้ท้องถิ่นทั่วประเทศ ตรวจสอบอาคาร ให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งานตลอดเวลา โดยเฉพาะอาคาร9ประเภท ที่มีผู้คนเข้าใช้สอยมากที่สุด ซึ่งเจ้าของอาคารต้องมีหน้าที่ จัดหาผู้ตรวจสอบอาคารเช็นต์รับรองความปลอดภัยและแจ้งต่อ เจ้าพนักงานท้องถิ่นเป็นประจำทุกปี ล่าสุดพบว่า มีอาคารมากถึงกว่า 5,000 อาคาร จาก 2 หมื่นอาคารทั่วประเทศ76จังหวัด ไม่เคยผ่านการตรวจสอบความปลอดภัยอาคารตามที่กฎกระทรวงตรวจสอบอาคาร9ประเภทปี 2548 บังคับใช้ตามความในพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)ควบคุมอาคารพ.ศ. 2522 และมีผลในทางปฏิบัติปี 2550 เป็นต้นมานั้น

แหล่งข่าวจากกรมโยธาธิการและผังเมืองเปิดเผย"ฐานเศรษฐกิจ"ว่า กรม ขีดเส้นตายให้กับเจ้าของอาคาร 9ประเภท กว่า 5,000อาคารทั่วประเทศ 76 จังหวัดต้องจัดหาบริษัทผู้ตรวจสอบอาคารหรือวิศวกรเซ็นต์รับรองความปลอดภัยการใช้อาคารมาแสดงต่อ เจ้าพนักงานท้องถิ่นภายในวันที่ 30 กันยายน 2559 นี้ พร้อมทั้งสั่งให้ดำเนินคดีตามกฎหมาย คือ ปรับ 6 หมื่นบาท จำคุก 3เดือน หรือทั้งจำทั้งปรับ และ ปรับรายวันอีกวันละ 1หมื่นบาทจนกว่า จะมีใบแจ้งรับรองการตรวจสอบอาคารมาแสดง และ หากยังฝ่าฝืนอาจมีโทษรุนแรงถึงขั้นสั่งห้ามใช้อาคารได้ และ วันที่ 30 กันยายน 2559 นี้ กรมจะเสนอรายชื่ออาคารทั้งหมดที่อยู่ในข่ายต่อกระทรวงหมาดไทย หากพ้นจากกำหนดระยะเวลาดังกล่าวยังมีอาคารตกหล่นให้ถือว่าอยู่ในกลุ่มอาคารเสี่ยงซึ่งเจ้าหน้าที่รวมถึงเจ้าพนักงานท้องถิ่นมีความผิดทางวินัยได้ เพราะมีหนังสือแจ้งเตือนไปตั้งแต่เดือนมิถุนายน ที่ผ่านมาทั้งองค์การบริหารส่วนตำบล(อบต.) เทศบาล ฯลฯ ซึ่งจังหวัดที่มีอาคาร 9 ประเภท และเลี่ยงตรวจสอบมากที่สุดคือจังหวัดหัวเมืองใหญ่ อาทิ จังหวัดเชียงใหม่ ภูเก็ต อำเภอหาดใหญ่ สงขลา เป็นต้น

ต่อข้อถามที่ว่า กรมโยธาฯจะดำเนินคดีทันทีสำหรับกว่า 5,000 อาคาร ที่ตรวจพบว่า นับตั้งแต่กฎหมายบังคับใช้อาคาร 9 ประเภทต้องจัดหาผู้ตรวจสอบอาคาร แต่กลับเพิกเฉยเป็นเวลา 9 ปีนั้น จะผ่อนผันเหมือนกับกรุงเทพมหานคร(กทม.) เป็นเวลา 60 วันจนถึงวันที่ 30กันยายน โดยชะลอการดำเนินคดีไว้ก่อน เรื่องนี้ แหล่งข่าวย้ำว่า ไม่ผ่อนผัน เพราะ 9 ปี มีเจตนาเลี่ยง และ ไม่เคยตรวจสอบ หากท้องถิ่นพบ จะต้องปฏิบัติตามกฎหมายทันที

สำหรับองค์ประกอบที่ต้องตรวจสอบ อาทิ โครงสร้างของตัวอาคาร และระบบอุปกรณ์ประกอบของตัวอาคาร เช่นระบบไฟฟ้า, ระบบปรับอากาศ, ระบบลิฟต์ และระบบป้องกันอัคคีภัย เป็นต้น เพื่อให้มีความมั่นคงแข็งแรง และปลอดภัยในการใช้อาคาร ซึ่งอาคารดังกล่าวได้แก่ ได้แก่ 1.อาคารสูง 23เมตรขึ้นไป 2. อาคารขนาดใหญ่พิเศษ พื้นที่รวมกันทุกชั้นในหลังเดียวกันตั้งแต่1หมื่นตารางเมตรขึ้นไป3.อาคารชุมนุมคน 1,000 ตารางเมตรขึ้นไป มีคนตั้งแต่500คนขึ้นไป 4.โรงมหรสพ สําหรับฉายภาพยนตร์ แสดงละคร แสดงดนตรี 5.โรงแรมตามกฎหมายโรงแรมตั้งแต่ 80ห้องขึ้นไป 6.อาคารชุดตั้งแต่ 2,000 ตารางเมตรขึ้นไป 7. โรงงานสูงกว่า 1 ชั้น ขนาด5,000 ตารางเมตรขึ้นไป 8. ป้ายสูงตั้งแต่15 เมตรขึ้นไปหรือมีพื้นที่ตั้งแต่ 50 ตารางเมตรขึ้นไป หรือป้ายที่ติดหรือตั้งบนหลังคาหรือดาดฟ้าของอาคารที่มีพื้นที่ตั้งแต่ 25 ตารางเมตรขึ้นไป และ9. สถานบริการตามกฏหมายสถานบริการตั้งแต่ 200 ตารางเมตรขึ้นไป

ขณะที่ ความคืบหน้าในท้องถิ่น สอบถามนายธีระศักดิ์ ฑีฆายุพันธุ์ นายกเทศมนตรีเทศบาลนครขอนแก่นย้ำว่า ขณะนี้ ได้รายงานผลการตรวจสอบอาคารทั้งหมดจำนวนเกือบ 100 อาคารเรียบร้อยแล้วซึ่งยืนยันว่า มีการตรวจสอบเป็นประจำทุกปีและมีความมั่นคงแข็ง

สอดรับกับแหล่งข่าวจาก โยธาธิการและผังเมืองจังหวัดสงขลา กล่าวว่า ได้มีหนังสือแจ้งเตือนไปยัง อบต. และเทศบาลทั้งหมด ซึ่งใช้แบบฟอร์มเดียวกันกับกรุงเทพมหาคร เมื่อเดือน สิงหาคม โดยให้เวลา 2 เดือนเพื่อผ่อนผันให้เจ้าของอาคารจัดหาผู้ตรวจสอบอาคารมาดำเนินการ ซึ่ง เส้นตาย จะเป็นวันที่ 31 ตุลาคม 2559แต่ เมื่อ กรมต้องการ ให้จบภายในวันที่ 30 กันยายนนี้มั่นใจว่าท้องถิ่นน่าจะดำเนินการได้ทัน

สำหรับ อาคาร 9 ประเภท จังหวัดสงขลา จำนวนเกือบ 500 อาคาร ส่วนใหญ่อยู่ในอำเภอหาดใหญ่ ส่วนใหญ่จะเป็นอาคารประเภทหอพักติดกับมหาวิทยาลัย และโรงแรมที่ เลี่ยงการตรวจสอบแทบทั้งหมด โดยเฉพาะอาคาร ที่สร้างขึ้นใหม่ จะไม่ยอมตรวจสอบเพราะเจ้าของอ้างว่า อาคารใหม่ที่เพิ่งเปิดใช้อาคารมีความมั่นคงแข็งแรง ไม่จำเป็นต้องตรวจสอบอาคารซ้ำแต่ในทางปฏิบัติตามกฎหมาย หากอาคาร เปิดใช้นาน 1 ปี จะต้องจัดหาผู้ตรวจสอบอาคารทุกปี

ด้านนายพงศ์ภวัน จิตรบรรเจิดกุล โยธาธิการและผังเมืองจังหวัดตรังกล่าวว่า จังหวัดตรังมีอาคารกว่า 100อาคาร ซึ่งที่ผ่านมาได้เร่งรัดอบต.ทั้ง 333แห่งไปเรียบร้อยแล้ว และหากล่าช้าก็พร้อมดำเนินคดีตามกฎหมายทันที

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,195 วันที่ 25 - 28 กันยายน พ.ศ. 2559