ชี้สิ้นปีสินเชื่อเอสเอ็มอีพุ่ง แบงก์ตั้งท่ากำเม็ดเงินรอ/อัดแคมเปญหนุน/ทีเอ็มบีลุ้นรายได้โต

28 กันยายน 2559
“ไทยพาณิชย์”มั่นใจสิ้นปีสินเชื่อเอสเอ็มอีขยายตัว 4-6% จากพอร์ตกว่า 3 แสนล้าน เผยก่อสร้าง วัสดุและค้าขายชายแดนยังไปโลด ค่ายทีเอ็มบียืนเป้ารายได้ทั้งปีโต 10 -15% ส่ง “สินเชื่อ 3เท่าพร้อมเพิ่ม” เป็นเงินหมุนเวียนให้รายเล็ก ลุ้น 3 เดือนโค้งท้ายอนุมัติ 3พันล้าน

นายวิพล วรเสาหฤท รองผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสูงสุดลูกค้าธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ธนาคารไทยพาณิชย์ (จำกัด) (มหาชน) (บมจ.) เปิดเผยกับ“ฐานเศรษฐกิจ” ว่า การเจาะกลุ่มธุรกิจซัพพลายเชนของลูกค้ากลุ่มธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ถือว่าไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะทุกคนต้องการเข้าหากลุ่มนี้หมด แต่การเกิดขึ้นจริงอาจจะไม่มากนัก อย่างไรก็ดี แม้ว่าเป็นเรื่องที่ค่อนข้างยาก แต่ธนาคารไทยพาณิชย์ยังคงทำต่อเนื่อง ซึ่งในปีนี้จะเน้นในกลุ่มซัพพลายเชนของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ อาหารและเครื่องดื่ม แม้ว่าแนวโน้มเศรษฐกิจยังไม่ได้ขยายตัวชัดเจน แต่กลุ่มธุรกิจเหล่านี้ยังคงมีอัตราการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง

หากต้องการให้ได้ซัพพลายเชนทั้งกลุ่ม จะต้องมีการร่วมมือกันทุกภาคส่วนตั้งแต่ระดับบนสู่ระดับล่าง หรือต้นน้ำยันปลายน้ำ โดยเริ่มจากการเปิดบัญชี เดินบัญชี โอนเงิน-จ่ายเงิน ซึ่งเหล่านี้เป็นธุรกรรมที่ธนาคารจะเสนอให้ลูกค้า แม้ว่าอัตราการสร้างรายได้ (มาร์จิ้น) ผ่านกลุ่มซัพพลายเชนจะไม่มาก เนื่องจากลูกค้ารายใหญ่จะมีการต่อรองค่อนข้างมาก แต่ถือเป็นการสร้างปริมาณธุรกรรมและฐานลูกค้าให้กับธนาคารได้ ซึ่งที่ผ่านมาธนาคารมีสัดส่วนลูกค้าในกลุ่มซัพพลายเชนไม่มาก แต่ฐานลูกค้าส่วนใหญ่จะเป็นบริษัทขนาดใหญ่ที่มีชื่อเสียง เช่น แสนสิริ กลุ่มปตท.ในส่วนของปั้มน้ำมัน ปูนซิเมนต์ไทย ร้านสะดวกซื้อ-เซเว่น-อีเลฟเว่น และโลตัส เป็นต้น

“ทุกคนพูดกันมากในการเจาะกลุ่มลูกค้าซัพพลายเชน แต่เราไม่รู้ว่าจะทำได้มากน้อยแค่ไหน แต่ถ้าจะทำให้ดีจะต้องร่วมมือกันทั้งบริษัทใหญ่และบริษัทเล็กๆ ไม่ใช่บริษัทใหญ่เอาด้วย และบริษัทเล็กๆ ไม่เอาด้วย เพราะต้องทำตั้งแต่ตั้งต้นสู่ล่าง และอย่าให้ขยายออกด้านข้าง เพราะถ้าลากยาวมันจะยิ่งมีความเสี่ยง แต่ต้องบอกไว้ว่าทำซัพพลายเชนยิ่งเชนใหญ่มาร์จิ้นยิ่งบาง”

ขณะที่ผลการดำเนินงานในช่วงที่ผ่านมา ถือว่าใกล้เคียงตามเป้าหมาย โดยทั้งปีคาดว่าจะขยายตัวได้ 4-6% จากพอร์ตสินเชื่อเอสเอ็มอีที่มีกว่า 3 แสนล้านบาท โดยกลุ่มที่ยังเป็นกลุ่มเป้าหมายและคาดว่าจะเติบโตได้ จะเป็นกลุ่มก่อสร้าง วัสดุก่อสร้าง และค้าขายชายแดน จะเห็นว่าแม้ว่าการส่งออกของไทยจะติดลบ แต่กลุ่มค้าขายตามชายแดนยังเติบโตได้ดี โดยเฉลี่ยเติบโต 2 หลัก เป็นโอกาสที่ธนาคารจะเข้าไปทำกลุ่มนี้เพิ่มขึ้น

ด้านนายไตรรงค์ บุตรากาศ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารลูกค้าเอสเอ็มอี บมจ.ธนาคารทหารไทย(ทีเอ็มบี) เปิดเผยถึงความคืบหน้า “สินเชื่อหลักประกันธุรกิจ ทีเอ็มบี” ซึ่งทีเอ็มบีเป็นธนาคารแห่งแรกที่ออกสินเชื่อหลักประกันทางธุรกิจเพื่อเป็นวงเงินทุนหมุนเวียนเพิ่มเติมสูงสุดถึง 20% สำหรับลูกค้าเอสเอ็มอีรายใหญ่เมื่อกลางปีที่ผ่านมาว่า เนื่องจากกลุ่มเป้าหมายเป็นลูกค้ารายใหญ่ จึงมีทางเลือกมากหลายช่องทางในการใช้วงเงินทำให้ผลตอบรับเข้ามาเพียงหลัก100 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม โดยภาพรวม 7 เดือน มีความต้องการสินเชื่อแล้ว 1.4 หมื่นล้านบาท คาดว่าสินเชื่อน่าจะใกล้ถึง 2หมื่นล้านบาท จากพอร์ตสินเชื่อรวมกว่า 2แสนล้านบาท โดยธนาคารยังคงเน้นคัดกรองทั้งจากลูกค้าเก่าและใหม่ ขณะที่สภาพเศรษฐกิจฟื้นตัวแบบค่อยเป็นค่อยไป และแนวโน้มหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้เติบโตในอัตราลดลง

ช่วงที่เหลือ 3 เดือนของปีนี้ ธนาคารเสนอสินเชื่อ “ทีเอ็มบี เอสเอ็มอี 3 เท่าพร้อมเพย์” ภายใต้หลักประกันรูปแบบใหม่ เช่น ลูกหนี้การค้า สต็อกสินค้าและเครื่องจักรเพื่อแทนหลักประกันทั่วไปที่เป็นที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง สำหรับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีขนาดเล็กที่มียอดขายไม่เกิน 100 ล้านบาท อายุ 20-65 ปีไม่มีประวัติรีไฟแนนซ์หรือปรับปรุงโครงสร้างหนี้ และมีประสบการณ์ในการดำเนินธุรกิจอย่างน้อย 2 ปีทั้งนี้ เพื่อปลดล็อกให้เอสเอ็มอีรายเล็กที่มีข้อจำกัด(ทุนและหลักประกัน)สามารถเข้าถึงสินเชื่อง่ายขึ้น โดยลูกค้าสามารถรับเงินทุนหมุนเวียนเพิ่มทันทีเพื่อจดทะเบียนตามพระราชบัญญัติ(พรบ.)หลักประกันทางธุรกิจ พ.ศ.2558

“ ฐานเดิมเรามีลูกค้ารายเล็กอยู่ประมาณ 1 แสนราย ซึ่งเป้าหมายโปรดักต์ใหม่สินเชื่อทีเอ็มบีเอสเอ็มอี3เท่าพร้อมเพิ่ม จึงตั้งวงเงินสินเชื่อไว้ที่ 3,000 ล้านบาทภายในช่วง 3 เดือนที่เหลือ แต่หากมีความต้องการมากก็สามารถเพิ่มวงเงินได้”

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,195 วันที่ 25 - 28 กันยายน พ.ศ. 2559