เพิ่มสวยด้วย‘รังสี’ต่อยอดมูลค่าอัญมณีด้วยนวัตกรรมฝีมือคนไทย

28 กันยายน 2559
สินแร่ที่ทับถมกันอย่างยาวนานด้วยอุณหภูมิและแร่ธาตุที่เหมาะสมบนพื้นพิภพเกิดเป็นหินสวยงามหลากสีสัน และด้วยความฉลาดและความคิดสร้างสรรค์ของมนุษย์ สินแร่เหล่านั้นจึงถูกนำมาเพิ่มมูลค่าด้วยกรรมวิธีหลากหลาย เกิดเป็นอัญมณีเลอค่า เป็นหินมีราคา เป็นเครื่องประดับบ่งบอกถึง “ฐานะ” และ “บารมี” ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน

ดินแดนขวานทองที่ชื่อ “ประเทศไทย” นั้น นอกจากอุดมสมบูรณ์ไปด้วยแหล่งทรัพยากรอันมีค่ายิ่งแล้ว ยังเป็นแหล่งกำเนิดอัญมณีขึ้นชื่อหลายชนิด ซึ่งอัญมณีสำคัญต้องยกให้กับ “ทับทิมสยาม” เหล่าพลอยแซพไฟร์ ไม่ว่าจะเป็น ไพลิน บุษราคัม มรกต เป็นต้น รวมถึง โกเมน เพทาย และควอตซ์ อย่างไรก็ตามเนื้อสีพลอยต้นกำเนิดนั้นยังมีความชัดเจนของสีไม่มาก ความงด ความเงา รัศมีที่เปล่งประกาย จนถึงกรรมวิธีประกอบตัวเรือนเป็นเครื่องประดับล้วนแต่ต้องใช้ความรู้ความสามารถทั้งสิ้น แต่เดิมเทคโนโลยีที่ใช้เพิ่มมูลค่าเม็ดพลอยแต่ละเม็ดคือ การหุงพลอย (Heat Treatment) ผ่านการใช้กระบวนการความร้อนตั้งแต่ 1,000 องศาเซลเซียส จนถึงมากกว่า 2,000 องศาเซลเซียส ซึ่งระดับความร้อนที่เหมาะสมจะช่วยทำให้พลอยมีสีตรงกับคุณสมบัติของพลอยแต่ละชนิด ทำให้สีสันของเม็ดพลอยกระจายสม่ำเสมอพร้อมกับความใสสะอาดที่เพิ่มขึ้น และสิ่งที่ตามมาจากกระบวนการนี้คือมูลค่าที่เพิ่มขึ้นหลายเท่าทวีคูณ เป็นเหตุผลให้อัญมณีมีความต้องการเพิ่มสูงขึ้น ในขณะที่แหล่งวัตถุดิบและการผลิตกลับลดลง กระบวนการที่ใช้อยู่เดิมไม่สามารถตอบโจทย์ความต้องการได้อย่างทันท่วงที จึงเป็นจุดเริ่มต้นของการคิดค้นองค์ความรู้ใหม่ผ่านงานวิจัยและต่อยอดเทคโนโลยีต่างๆ เพื่อช่วยให้กระบวนการทางธรรมชาติของอัญมณีมีความรวดเร็วมากยิ่งขึ้น

ด้วยเหตุนี้สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (สทน.) จึงร่วมกับ สมาคมค้าอัญมณีไทยและเครื่องประดับ ลงนามบันทึกความร่วมมือในการพัฒนาอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับไทยด้วยเทคโนโลยีนิวเคลียร์ พร้อมสนับสนุนงานวิจัยที่เกี่ยวข้องต่างๆ ต่อเนื่องเป็นระยะเวลาถึง 3 ปี

[caption id="attachment_101513" align="aligncenter" width="335"] ดร.พรเทพ นิศามณีพงษ์  ผู้อำนวยการ สทน. ดร.พรเทพ นิศามณีพงษ์
ผู้อำนวยการ สทน.[/caption]

ดร.พรเทพ นิศามณีพงษ์ ผู้อำนวยการ สทน. กล่าวว่า สทน. เป็นหน่วยงานของรัฐเพียงแห่งเดียวในประเทศไทยที่ให้บริการด้านการฉายรังสีอัญมณีครบวงจรด้วยแกมม่า อิเล็กตรอน รวมถึงการฉายรังสีอัญมณีด้วยนิวตรอนในอนาคต โดยตั้งเป้าหมายว่าจะสามารถปรับปรุงคุณภาพสีของอัญมณีชนิดต่างๆ ให้ตรงกับความต้องการของตลาด เพิ่มศักยภาพตลาดภายในประเทศ และยังช่วยลดการสูญเสียเงินตราของประเทศที่ต้องส่งอัญมณีไปฉายรังสีต่างประเทศอีกด้วย

ในส่วนของรักษาการรองผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการ และผู้จัดการศูนย์ฉายรังสีอัญมณี สทน. นายวราวุธ ขจรฤทธิ์ กล่าวว่า ปัจจุบันศูนย์ฉายรังสีอัญมณี สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (สทน.) ประสบความสำเร็จในการฉายรังสีเครื่องเร่งอนุภาคอิเล็กตรอนบีมทำให้พลอยจากสีใสเป็นโทแพซ (สีน้ำเงินเข้ม ) ซึ่งสามารถเพิ่มมูลค่าของพลอยให้สูงถึง 5-30 เท่า ผู้ใช้บริการศูนย์ฉายรังสีอัญมณีปัจจุบันกว่า 90% เป็นลูกค้าภายในประเทศ และมีแนวโน้มเฉลี่ยเพิ่มขึ้นปีละ 10% การให้ความสำคัญกับคุณภาพของการบริการและมาตรฐานระดับสากลเชื่อว่า จะสามารถสร้างความเชื่อมั่นและต่อยอดการให้บริการกับกลุ่มลูกค้าทั้งและต่างประเทศอย่างแน่นอน

นับเป็นหนึ่งก้าวสำคัญในการเพิ่มมูลค่าอัญมณีไทยให้สามารถแข่งขันในตลาดที่เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วได้อย่างงดงาม เพิ่มงาน สร้างความมั่นคงในอาชีพ พร้อมต่อยอดอุตสาหกรรมอัญมณีไทยให้สามารถสร้างรายได้ให้กับประเทศอย่างยั่งยืน

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,195 วันที่ 25 - 28 กันยายน พ.ศ. 2559