สนข.ขับเคลื่อนยุทธศาสตร์คมนาคม ให้เป็นรูปธรรม-จับต้องได้-เกิดประโยชน์

28 กันยายน 2559
"ร่างยุทธศาสตร์คมนาคม 20 ปี ต้องการฉายภาพให้เห็นว่ากรอบแนวทางและทิศทางการพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งของไทยตั้งแต่วันนี้จนถึง 20 ปีข้างหน้า ประชาชนคาดหวังการเดินทางและการขนส่งสินค้าอย่างไรบ้างจากกระทรวงคมนาคม"

ชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ผู้อำนวยการ สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) กระทรวงคมนาคม จั่วหัวนำในการให้สัมภาษณ์"ฐานเศรษฐกิจ"ถึงร่างยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งของไทย ระยะ 20 ปี (พ.ศ.2560-2579) ว่า กรอบยุทธศาสตร์ดังกล่าวกระทรวงคมนาคมได้ถอดบทเรียนยุทธศาสตร์ประเทศ 20 ปี เพื่อนำมากำหนดยุทธศาสตร์ให้สอดคล้อง จะได้เดินไปในทิศทาง และสู่เป้าหมายเดียวกัน

ตอบโจทย์ 5 ด้านหัวใจการขนส่ง

สาระสำคัญของร่างยุทธศาสตร์พัฒนาระบบคมนาคม ทำอย่างไรให้ประชาชนเดินทางหรือขนส่งสินค้าได้ด้วยความสะดวก รวดเร็ว ปลอดภัย ประหยัด และเป็นธรรม ซึ่งถือเป็นหัวใจของการขนส่งคมนาคม ถ้าทำ 5 เรื่องนี้ได้ มั่นใจว่าสามารถตอบโจทย์ยุทธศาสตร์ชาติได้แน่นอน

ที่ผ่านมากระทรวงคมนาคมดำเนินการในหลายๆ โครงการที่เป็นการสร้างความสะดวกให้กับประชาชนในการเดินทางและการขนส่งสินค้า เช่น การสร้างมอเตอร์เวย์ ทำให้คนที่ใช้รถใช้ถนนสามารถไปถึงจุดหมายปลายทางได้ด้วยความสะดวก รวดเร็ว และปลอดภัยด้วย ด้านระบบการขนส่งสาธารณะไม่ว่า รถไฟฟ้า รถโดยสาร รถไฟระหว่างเมือง ก็มีการทำโครงการรถไฟทางคู่ เร่งพัฒนารถไฟฟ้าในกรุงเทพฯ-ปริมณฑลหลายสาย

มีการศึกษาเพื่อเตรียมการระบบขนส่งสาธารณะ นอกจากนี้ในเมืองภูมิภาคที่มีปัญหาการจราจร เช่น เชียงใหม่ ภูเก็ต หาดใหญ่ สงขลา นครราชสีมา ขอนแก่น พิษณุโลก ซึ่งได้ทำแล้วแต่อยากจะฉายภาพยุทธศาสตร์ให้เห็นชัดขึ้น ไม่ว่าพัฒนาถนน สนามบิน ท่าเรือ แต่สุดท้ายที่รัฐต้องการคือประชาชนสามารถสัมผัสได้ ก็คือ สะดวก ปลอดภัย ประหยัดและเป็นธรรมจริงหรือไม่

"ฉะนั้น หัวใจ 5 เรื่อง จะมาแก้ไขปัญหาและทำให้คนทั้งประเทศเห็นว่าภารกิจของกระทรวงคมนาคม คือการขับเคลื่อนงานทุกอย่างที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เกิดผลสุดท้ายที่ประชาชนสัมผัสจับต้องได้ และได้ประโยชน์จากความสะดวก รวดเร็ว ปลอดภัย ประหยัด และเป็นธรรม"

ชูกลยุทธ์ 3+1 เคลื่อนสู่เป้าหมาย

การจะดำเนินการให้ยุทธศาสตร์คมนาคมประสบความสำเร็จ ต้องใช้สามเหลี่ยมแห่งความสำเร็จ หรือกลยุทธ์ 3 บวก 1 โดยมุมที่ 1 ต้องทำให้การขนส่งของไทย ได้ทั้งเรื่องความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อม ได้ทั้งภาคสังคม ฉะนั้น โครงการของคมนาคมจะต้องให้ความสำคัญกับเรื่องการมีส่วนร่วมของประชาชน และสิ่งแวดล้อม เป็นเป้าหมายของกระทรวงคมนาคม ที่จะต้องลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม จะนำไปโยงกับเรื่องภาวะโลกร้อนด้วย มุมนี้เรียกว่า Green Transport การขนส่งต่อไปต้องเป็นการขนส่งที่สะอาด มีความปลอดภัย จะเห็นว่า Green Transport สามารถตอบโจทย์ 2 เรื่อง คือ ความปลอดภัย และสิ่งแวดล้อม

มุมที่ 2 การขนส่งอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด Transport Efficiency ทุกวันนี้ยังเห็นว่าการขนส่งเที่ยวเปล่า จากต้นทางไปถึงปลายทางมีสินค้าไป แต่ขากลับไม่มีสินค้ากลับ สูญเสียทั้งน้ำมัน เวลา ทรัพยากรต่างๆมากมาย นี่คือความเสียหาย นำมาซึ่งต้นทุนโลจิสติกส์ของประเทศที่สูง

"วันนี้เราใช้การขนส่งทางถนนมากถึง 87% ทางรถไฟแค่ 2% ทั้งๆที่ทางรถไฟประหยัดกว่าหลายเท่า รวมทั้งการขนส่งน้ำก็ประหยัดกว่า แต่ใช้น้อย แค่ 12% สิ่งเหล่านี้บ่งบอกถึงต้นทุนประเทศ การขนส่งของไทยไม่มีประสิทธิภาพ ไม่ว่าขนส่งคนหรือขนส่งสินค้า"

มุมที่ 3 การขนส่งต้องคำนึงถึงคนทุกกลุ่มต้องใช้ได้ Inclusive Transport พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้การบ้านยกระทรวงคมนาคม กรณีการรถไฟซื้อรถไฟโบกี้ใหม่มา สวยงาม ยกระดับคุณภาพการบริการ แต่คนที่มีรายได้น้อยจะใช้ได้หรือไม่ นี่คือการบ้านที่ต้องทำ แสดงว่าลงทุนเพื่อคนกลุ่มหนึ่งกลุ่มใดใช้บริการหรือไม่ ต้องให้คนทุกกลุ่มสามารถใช้บริการได้ เพียงแต่ความสามารถในการซื้อบริการแตกต่างกัน โดยคนที่มีเงินที่จะซื้อบริการที่ดีขึ้น นั่งโบกี้ติดแอร์ แต่จะต้องมีโบกี้สำหรับผู้มีรายได้น้อยได้เดินทางด้วยในขบวนเดียวกัน และบริการพื้นฐานเหมือนกัน แต่แตกต่างที่คุณภาพ เหมือนเครื่องบินที่มีชั้นธุรกิจ และชั้นประหยัด

อีกหนึ่งส่วนสำคัญ ที่จะทำให้ประสบความสำเร็จ คือ นวัตกรรม นำนวัตกรรมมาใช้งานให้มากขึ้น สนองแนวคิดคนรุ่นใหม่ คนรุ่นปัจจุบันต้องคิดว่าคนรุ่นใหม่ในอนาคตอีก 20 ปีมีความต้องการอย่างไร แล้วก็ออกแบบการคมนาคม การขนส่งให้เกิด Green Transport Transport Efficiency และ Inclusive Transport ด้วยกลยุทธ์ 3 บวก 1 ที่กล่าวมา และเสริมด้วยการบริหารจัดการ

เปิดทางเอกชน-ประชาชนมีส่วนร่วม

หลังจากร่างที่ 2 เสร็จเรียบร้อยจะนำเสนอกระทรวงคมนาคมเพื่อเสนอ ครม.ต่อไปแล้ว ยังตั้งใจว่าจะนำยุทธศาสตร์คมนาคม 20 ปี ให้ผู้ที่เกี่ยวข้องได้มีส่วนให้ข้อเสนอแนะด้วย ทั้งนี้ มีภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงคมนาคมจำนวนมาก ตั้งแต่ผู้รับเหมา ผู้ประกอบการรถโดยสาร ผู้ประกอบการรถบรรทุก ผู้ให้บริการต่างๆที่รับสัมปทาน เช่น ทางด่วน รถไฟฟ้า ฯลฯ กลุ่มเหล่านี้ถือเป็นหุ้นส่วนความสำเร็จยุทธศาสตร์คมนาคม 20 ปี เพื่อให้ภาคส่วนเหล่านี้มาพูดคุยและเสนอแนะว่าทำอย่างไรถึงจะขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ให้เกิดผลสัมฤทธิ์เป็นรูปธรรม นอกนี้ยังมีภาคประชาชน เป็นผู้ใช้บริการต่างๆ ผู้พิการ ผู้สูงอายุ ภาคการศึกษา เพื่อฟังเสียงสะท้อนว่าการที่กระทรวงคมนาคมจัดวางยุทธศาสตร์ 20 ปี คือสิ่งที่ภาคประชาชนต้องการ

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,195 วันที่ 25 - 28 กันยายน พ.ศ. 2559