คมนาคมเร่งเบิกจ่ายงบปี60 ยันงานเกินพันล้านเซ็นสัญญาแล้วเสร็จมี.ค.ปีหน้า

28 ก.ย. 2559 | 12:00 น.
คมนาคมเร่งขับเคลื่อนงบประมาณปี 60 หลังสนช.ไฟเขียววงเงิน1.92 แสนล้าน เผยไตรมาส 4 ของปีนี้เห็นภาพการเซ็นสัญญาโครงการย่อยงบไม่เกิน 2 ล้านได้ทั้งหมด ส่วนงบก้อนโตมี.ค.ต้องเซ็นสัญญาให้แล้วเสร็จ ด้านทล.ดัน 5 ประเภทโครงการใหญ่งบเกิน 1,000 ล้านเร่งประมูลส่วนทช.ไม่น้อยหน้าจ่อประมูลอีกราว 15 โครงการทั้งเกิน 1,000 ล้านและหลัก 200 ล้านอัพ

[caption id="attachment_101528" align="aligncenter" width="700"] ประเภทโครงการของกรมทางหลวง ปี 2560 ที่เกิน 1,000 ล้านบาท ประเภทโครงการของกรมทางหลวง ปี 2560 ที่เกิน 1,000 ล้านบาท[/caption]

นายชาติชาย ทิพย์สุนาวี ปลัดกระทรวงคมนาคม เปิดเผยถึงความคืบหน้าการเร่งขับเคลื่อนงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2560 ของกระทรวงคมนาคมภายหลังผ่านการพิจารณางบประมาณวาระที่ 3 ของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.)ว่า งบประมาณที่ยื่นขอในปี 2560 วงเงินทั้งสิ้น 1.95 แสนล้านบาท ได้รับอนุมัติภายหลังการปรับลดเรียบร้อยแล้วเป็นวงเงิน 1.92 แสนล้านบาทประกอบไปด้วยกรมทางหลวง(ทล.) 9.1 หมื่นล้านบาท กรมทางหลวงชนบท(ทช.) 4.6 หมื่นล้านบาท สำนักงานปลัดกระทรวงคมนาคม 933 ล้านบาท สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร(สนข.) 421 ล้านบาท กรมเจ้าท่า(จท.) 4,859 ล้านบาท กรมการขนส่งทางบก(ขบ.) 3,805 ล้านบาท กรมท่าอากาศยาน 3,236 ล้านบาท หน่วยงานรัฐวิสาหกิจ การรถไฟแห่งประเทศไทย(ร.ฟ.ท.) 1.79 หมื่นล้านบาท การทางพิเศษแห่งประเทศไทย(กทพ.) 200 ล้านบาท องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ(ขสมก.) 5,034 ล้านบาท สถาบันการบินพลเรือน 194 ล้านบาท การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย(รฟม.) 1.79 หมื่นล้านบาท

นายธานินทร์ สมบูรณ์ อธิบดีกรมทางหลวง กล่าวว่าทล.ได้รับงบประมาณทั้งสิ้น 91,280 ล้านบาท จำแนกเป็น 3 ส่วนหลักคือ 1.งบประมาณที่เป็นรายจ่ายประจำ(เงินเดือนของเจ้าหน้าที่ ฯลฯ) 4,983 ล้านบาท (คิดเป็น 6%) 2.งบประมาณเพื่อการนำไปพัฒนาหรือซ่อมบำรุงพื้นฐานทั้งด้านความปลอดภัยและด้านการบำรุงรักษาทางใน 3 แผนงานหลักจำนวน 24,060 ล้านบาท (คิดเป็น 26%) และ 3.งบเพื่อแผนงานตามยุทธศาสตร์หรืองบเพื่อการลงทุนในแต่ละปี จำนวน 62,237 ล้านบาท(คิดเป็น 68%)

โดยงบประมาณขนาดย่อยจะจัดอยู่ในส่วนประมาณ 26% ซึ่งมีมากกว่า 1,000 โครงการจะเร่งลงนามสัญญาภายในปลายปีนี้ให้แล้วเสร็จ ในส่วนโครงการที่งบประมาณมากกว่า 2 ล้านบาทขึ้นไปซึ่งจัดอยู่ในแผนงานภายใต้งบ 68% นั้น จะแบ่งออกเป็น 2 แผนงานหลัก คือ 1.แผนงานบูรณาการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบโลจิสติกส์ วงเงิน 62,134 ล้านบาท และ 2.แผนงานบูรณาการส่งเสริมการวิจัยและพัฒนา วงเงิน 104 ล้านบาท

สำหรับโครงการและงบประมาณที่ได้รับความสนใจเป็นโครงการขนาดใหญ่ซึ่งจัดอยู่ภายใต้งบกว่า 6.2 หมื่นล้านบาทจะประกอบไปด้วย 11 ประเภทโครงการ โดยมี 5 ประเภทหลักที่งบเกิน 1,000 ล้านบาท ส่วนงบที่งบน้อยกว่า 1,000 ล้านบาท ประกอบด้วยโครงการก่อสร้างสะพานข้ามจุดตัดทางรถไฟ 954 ล้านบาท โครงการก่อสร้างเพิ่มมาตรฐานทางลูกรังเป็นทางลาดยาง 800 ล้านบาท โครงการยกระดับความปลอดภัยบริเวณทางแยกขนาดใหญ่ 900 ล้านบาท โครงการทางจักรยานเพื่ออำนวยความสะดวกและปลอดภัย 300 ล้านบาท โครงการปรับปรุงการแบ่งทิศทางการจราจร 200 ล้านบาท โครงการศึกษาวิเคราะห์ความเหมาะสมในการให้เอกชนร่วมลงทุน 15 ล้านบาท

นายพิศักดิ์ จิตวิริยะวศิน อธิบดีกรมทางหลวงชนบท(ทช.) กล่าวว่า ทช.ได้รับงบปี 2560 วงเงิน 46,214 ล้านบาท โดยมีโครงการหลักจำนวน 15 โครงการประกอบไปด้วยโครงการที่ใช้งบประมาณ 1,000 ล้านบาท 1 โครงการคือการขยายถนนราชพฤกษ์ระยะที่ 2 ตอนที่ 3 วงเงิน 1,236 ล้านบาท นอกนั้นเป็นโครงการที่ใช้งบตั้งแต่ 200-1,000 ล้านบาทมีจำนวน 14 โครงการ โดยตามนโยบายของรัฐบาลโครงการที่ต่ำกว่า 1,000 ล้านบาทให้ก่อหนี้ผูกพันให้แล้วเสร็จภายในเดือนธันวาคมนี้ ส่วนโครงการที่เกินกว่า 1,000 ล้านบาทให้ก่อหนี้ผูกพันให้แล้วเสร็จภายในเดือนมีนาคม 2560

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,195 วันที่ 25 - 28 กันยายน พ.ศ. 2559