Pokemon GO... สร้างปาฏิหาริย์ร้านค้า l โอฬาร สุขเกษม

27 กันยายน 2559
ดูเหมือนข่าวคราวเกี่ยวกับเกมส์ “โปเกม่อน โก” สร่างซาลงไป แต่ในโลกความเป็นจริงแล้ว ก็ยังเห็นคนเล่นกันอยู่ดาษดื่น บางคน บางครอบครัวออกบ้านแต่เช้าออกล่าหา “ลูกจับ” สะสมไว้ เอาไว้ไปโยนใส่หัวตัวสัตว์ประหลาดโปเกม่อนที่เจอ บางคน บางกลุ่มก็ตื่นกลางดึกเพื่อลุกขึ้นมาต่อสู้เพื่อปกป้องในฐานะเจ้าของยิม (ความจริงก็ชิงยิมเขามาตอนกลางวันนั่นหล่ะครับ) ถ้าจะหลับต่อก็เสียตายที่อุตสาห์จับมาได้และดูแลอย่างดี มีพลังกล้าแกร่งแล้ว จะยอมให้คนอื่นบุกมาตีถึงโรงยิมได้ยังไง อย่างน้อยต้องพยายามสู้เพื่อรักษาหรือปกป้องโรงยิมเอาไว้ สู้ไม่ได้ก็ให้รู้ไป หรือหากแค้นหนักหลังพ่ายแพ้ และอยากเก่งทางลัด ก็ยอมจ่ายเงินซื้อพลังเอาก็ได้...

โปเกม่อน โก เป็นเกมส์ซีรี่ย์ใหม่ของเกม “โปเกม่อน” ที่คนส่วนใหญ่ก็รู้จักกันแล้วทั้งนั้น ซีรี่ย์ใหม่นี้ใช้เทคโนโลยีความเป็นจริงเสริม (Augmented Reality) หลักๆ คือ ใช้แผนที่จริงๆ ที่ปรากฏใน GPS กับตัวสัตว์ประหลาดการ์ตูนโปเกม่อน เล่นผ่านโทรศัพท์สมาร์ทโฟนไม่ว่าจะเป็นระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ หรือไอโอเอส เปิดตัวให้โหลดได้ฟรีผ่านแอพได้เมื่อต้นเดือนกรกฎาคม 2559 โดยเริ่มที่ 5 ประเทศหลักๆ ก่อน ได้แก่ สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ สหราชอาณาจักร และเยอรมนี ก่อนจะขยายไปยังประเทศอื่นๆ ร่วมทั้งประเทศไทยด้วย

เกมส์นี้พัฒนาโดยบริษัทโปเกมอน นินเทนโด และสตูดิโอ "ไนแอนติก" เป็นผู้สร้างร่วมกัน ซึ่งบริษัทไดแอนติกเดิมสังกัดอยู่กับเสิร์ชเอนจิ้นกูเกิล และต่อมาแยกตัวเป็นอิสระและออกเกมส์ Ingressบนสมาร์ตโฟน โดยใช้คุณสมบัติการจับตำแหน่ง GPS ให้ผู้เล่นเดินทางในโลกจริงเพื่อทำกิจกรรมภารกิจตามสถานที่ต่างๆ ร่วมกับคนอื่น แต่ก็ฮิตติดอันดับเหมือนกันในวงการนักเลงคีย์บอร์ด

นอกจากนี้โปเกม่อน โก ยังมีอุปกรณ์เสริมอีกหากต้องการ เรียกว่า “โปเกม่อน โกพลัส” ซึ่งตัวนี้ติดบนข้อมือได้ พกพาได้ พัฒนาโดยนินเทนโด เชื่อมต่อโทรศัพท์มือถือผ่านบลูทูธ เพื่อเตือนผู้ใช้ว่ามีสัตว์ประหลาดโปเกม่อนอยู่ใกล้ๆ ตัว เตือนด้วยเสียงสัญญาณสั่นเบาๆ หรือไฟกระพริบ พร้อมจะให้ผู้เล่น หรือ เรียกว่า “เทรนเนอร์” จับโปเกม่อนมาฝึกฝนเพิ่มพลังให้กับตัวโปเกม่อนที่มีอยู่ หรือเข้าต่อสู้ หรือจะแลกเปลี่ยนโปเกม่อนก็ได้

การเล่น “โปเกม่อน โก” ผู้เล่นหรือ “เทรนเนอร์” จะต้องออกล่าหาจับสัตว์ประหลาดซึ่งเป็นตัวการ์ตูนน่ารักๆ สไตล์ญี่ปุ่น ซึ่งในไทยเซสชั่นแรกมีอยู่ไม่ต่ำกว่า 90-100 แบบ (ต่างประเทศ 140-150 แบบ) ความจริงแล้วอยู่ที่ไหนในเขตเมืองก็มีโอกาสเจอได้ทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นบ้านพักอาศัย คอนโดมิเนียม หรือหมู่บ้านจัดสรร แม้แต่สนามไดร์ฟกอล์ฟก็ยังมี เพราะเกมส์นี้ผู้สร้างต้องการให้ผู้เล่นได้เล่นในสถานที่จริง ต้องขยันเดินทางเพื่อพบกับความหลากหลายของสัตว์ประหลาด เมืองไทยก็ต้องไปสถานที่สำคัญๆ หรือสถานที่สาธารณะ ต้องไปเที่ยววัดพระศรีรัตนศาสดาราม กรุงเทมหานคร ไปภูเขาทอง ไปห้างสรรพสินค้า ไปโรงเรียน ไปโรงแรม ไปสวนสาธารณะ อื่นๆ ฯลฯ

ย้อนกลับมานิดนึง เมื่อเปิดเกมส์ก็จะปรากฏสัญลักษณ์แทนตัวผู้เล่น โดยมีฉากหลังเป็นแผนที่ GPS เปิดไปสักพักก็จะเห็นตัวโปเกม่อนปรากฏ จะเป็นตัวอะไรนั้นก็แล้วแต่โชค ถ้ารอแล้วไม่มาสักที เราก็ใช้ “ฟีราโมน” ฉีดพ่นเป็นเหยื่อล่อได้ อันนี้ก็เราเก็บสะสมหรือกักตุนฟีราโมนเอาไว้ได้ หรือจะซื้อก็มีขาย ซื้อขายก็ผ่านโทรศัพท์มือถือนั่นหล่ะครับ เมื่อมาใกล้ๆ เราก็โยนลูกจับโปเกม่อนก้อนกลมๆ ให้โดนศีรษะ เท่านั้นเราก็จับมาได้แล้ว และต้องเลี้ยงพัฒนาต่อไป (ผมจับได้แต่สุนัขจิ้งจอก กับแมลงด้วง ครับ)

เกมส์นี้จะมีหลักอยู่ 2 อย่าง อย่างแรกเรียกว่า “โปเก- สต็อป” เราต้องหาดูเอาเอง ส่วนใหญ่เขาวางไว้ในที่ต่างๆ เมื่อสัญญาณจับได้ เราก็ปั่น และเวลาเราหมุนเสา สิ่งที่เราจะได้เป็น“ไอเท็ม” และหนึ่งในไอเท็มก็คือ ลูกจับ เอาไว้โยนใส่หัวโปเกม่อน บางที่ก็ปั่นแล้วก็ได้ “ไข่” โปเกม่อนมา ซึ่งในตัวเกมส์จะมีเครื่องฝักไข่ด้วย แล้วเราก็ต้องลุ้นว่าเมื่อฟักออกมาแล้วจะเป็นสัตว์ประหลาดแบบไหน จะเป็นตัวแบบเดิมๆ ที่เราจับได้หรือตัวแปลกๆ ที่ค่อนข้างหายากหน่อยก็ได้

การจะฟักไข่ได้ก็ต้องมีวิธีการ คือ ไข่จะฝักก็ต่อเมื่อเราเดินทางภายใต้เงื่อนไขระยะทางกำหนด ถ้าไม่เดินไข่ก็ฝ่อครับ เขาบังคับด้วยว่าให้เดินเร็วไม่เกิน 17 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ทั้งนี้ในตัวไข่จะมีบอก 3 ระดับ คือ ระยะ 2 กิโลเมตร 5 กิโลเมตร และ 10 กิโลเมตร (อุ๊.... แม่เจ้า) ถ้าเดินเร็วกว่านี้เขาก็ไม่นับ เห็นเขาว่าเอาโทรศัพท์มือถือไปผูกกับพัดลม แล้วปล่อยให้ส่ายไปส่ายมาก็ได้ นี่จะจริงหรือไม่จริงก็ไม่รู้ ผมไม่ได้ทดลองดู เรียกว่าเกมส์นี้ชวนให้เราเดินออกกำลังกาย ชวนให้เราเดินทางไกล บางทีนักสู้ “ไอ้ม่อน” (เขาเรียกกันอย่างนี้) ก็ออกจากบ้านกลางดึกไปตียิมที่ค่ายอื่นเพื่อเอาพลัง

ที่ป้ายโปเก-สต็อบ ทุกๆ 3-5 นาทีจะให้เราปั่นเอาของได้หนึ่งครั้ง และตอนเช้ามืดเรามักจะเห็นคนเดินแถวห้างสรรพสินค้า หรือสถานที่ต่างๆ พากันเดินไปทั่วทั้งๆ ที่ฟ้ายังไม่สว่างด้วยซ้ำ ตาก็จ้องดูโทรศัพท์มือถือ มือก็คอยจะจิ้ม พอเจอพี่ รปภ.ก็บอกแบบขอไปทีว่ามาดูสถานที่ก่อน สายๆ จะพาเด็กมา หรือ “นิยาย” อะไรก็แล้วแต่ที่เราจะบอก นอกจากนี้เราต้องไปตีโรงยิม (Gym) เพื่อจะได้ไอเท็มพิเศษ เมื่อได้ไอเท็มแล้ว เราก็เอาไปเสียบที่โปเก-สต็อบ เหตุผลก็เพื่อให้สัตว์ประหลาดมารวมตัวกันมากขึ้นนั่นเอง เรียกว่ามากันเป็นโขลงกันเลยทีเดียว

มีคราวนึงพ่อแม่และลูก 2 คน พากันล่าจับโปเกม่อน ไปช่วงเย็นๆ จนพลบค่ำ ไล่จับสัตว์ประหลาดกันเพลินในบริเวณวัดแถวรังสิตคลองสอง จังหวัดปทุมธานี พอมืดๆ หน่อยกำลังจะออกมาจากวัด สัญญาณจับได้ว่าที่ใกล้ๆ มีโปเก-สต็อปด้วย พอหาเจอเท่านั้นแหละ พ่อแกตาค้าง ถามลูกว่า รู้ไหมนี่คืออะไร เด็กบอกไม่รู้ พ่อบอกว่า นี่เขาเรียกว่า “เมรุเผา” (ศพ)...พูดไม่ทันจบความ ลูกชายขี้ตื่นก็เผ่นพรวดออกมายืนรอที่ข้างรถ ทำเอาพากันฮากันไป ....สัตว์ประหลาดใช่ว่าจะมีแต่สัตว์เท่านั้น สัตว์น้ำก็มีครับ บางคนก็ออกเรือตามล่าหาโปเกม่อนกลางน้ำกันเลยทีเดียว
ผมว่าคนที่วางป้ายโปเก-สต็อปก็อารมณ์ขันดีเหมือนกัน คงมาหาพิกัดสถานที่หรือตำแหน่งวางป้ายตามสถานที่ต่างๆ ทั่วไทย เพื่อถ่ายรูปแล้วส่งข้อมูลขึ้นระบบเอาไว้ นี่คิดเองนะครับ เพราะถ้าไม่ถ่ายรูปแล้วเขาจะมีภาพสถานที่ที่แสดงให้เห็นเหมือนจริงได้อย่างไร นอกจากเครือข่ายของเขาจะวางเอาไว้เองแล้ว เขาก็เปิดให้คนทั่วไปชี้เป้าให้วางป้ายได้เหมือนกัน แต่ให้ว่าเป้าหมายตั้งแต่เดือนเมษายน 2559 ที่ผ่านมานี้ แต่ตอนนี้ไม่รับจากคนทั่วไปแล้ว รับเฉพาะคู่เจรจาทางการค้าเท่านั้น เราแจ้งไปว่าอยากได้เสาโปเก-สต็อปไว้ที่ตรงไหน อย่างในหมู่บ้านผมมีพระพุทธรูปองค์ใหญ่อยู่กลางวงเวียนในหมู่บ้านจัดสรร เขาก็ใช้พระพุทธรูปเป็นเสา มีการถ่ายภาพจากสถานที่จริงแล้วขึ้นเป็นภาพจำลองเสมือนจริงเอาไว้ด้วย

กฎข้อห้ามคือ “ห้ามวัตถุปรกติ” อาทิ เสาไฟฟ้า ท่อน้ำ ฉะนั้นต้องเป็นสถานที่สำคัญๆ หรือมีความหมาย เขาใช้คำว่า “แลนด์ ยาร์ด” อาทิ รูปปั้น อนุสาวรีย์ แหล่งน้ำ สำหรับในไทยแล้วเท่าที่สังเกตดูเหมือนว่าจะเลือกเอาศาลพระภูมิ ศาลเจ้า ศาลเจ้าพ่อเจ้าแม่เสียส่วนใหญ่ ส่วนโรงยิม มีสาระสำคัญก็คือ ต้องเป็นย่านที่คนอยู่เยอะๆ ถึงจะได้ เพราะ “ยิม” ก็คือ “โรงยิม หรือสนามการต่อสู้”นั่นเอง เราต้องเลี้ยงดูโปเกม่อนของตนเองให้มีพลังมากๆ ต้องเป็นผู้เล่นที่เพียรพยายามพอควรจนขึ้นมาใน “เลเวล 5” หรือระดับ 5 จึงจะต่อสู้กับคนอื่นได้ จากนั้นก็บุกไปยึด “ยิม” ในถิ่นอื่น และหากเรายึดได้ครบ 12 ชั่วโมง จะได้รางวัลเป็นเหรียญทอง เหรียญทองนี้มีราคาประมาณ 3,500 บาท และใช้ซื้อไอเท็มต่างๆ ที่เกมส์มีไว้ขายครับ

"สึเนะคาซึ อิชิฮาระ" ประธานบริษัทโปเกมอนได้ออกมาแนะนำเกมนี้ด้วยตนเองตั้งแต่ปีที่แล้วว่า นี่เป็นผลงานที่เขาและ "ซาโตรุ อิวาตะ" อดีตประธานนินเทนโดผู้ล่วงลับช่วยกันคิดมานานกว่า 2 ปีแล้ว ก่อนจะโชว์หนังตัวอย่าง โดยแสดงชื่อบริษัทโปเกม่อน นินเทนโด และสตูดิโอ "ไนแอนติก" เป็นผู้สร้างร่วมกัน รูปแบบของโปเกม่อนโกจะนำเอาแนวทางดังกล่าวมาประยุกต์ ให้ผู้เล่นเดินทางไปตามสถานที่ต่างๆ ในโลกจริงแล้วใช้แอพพลิเคชันสมาร์ตโฟนค้นหาโปเกมอน จับมาฝึก แลกเปลี่ยนและต่อสู้กัน โดยบริษัทเกมฟรีกส์ผู้สร้างเกมโปเกม่อนภาคหลัก จะเข้ามามีส่วนร่วมในการออกแบบระบบ แถมยังมีแผนจะเปิดให้แอพใหม่นี้เชื่อมต่อกับเกมโปเกม่อนอื่นในอนาคตได้ด้วย

ในไทยก็มีห้างสรรพสินค้าบางแห่งเป็นที่วางเสาโปเก-สต็อป (จุดให้ผู้เล่นเข้ามาเก็บไอเท็มต่างๆ ในเกมส์ได้) ห้างฯบางแห่งวางไว้ 4 จุด บางแห่งก็วางไว้น้อยกว่านี้ ผลของการวางโปเก-สต็อป ทำให้คนเข้าห้างฯมากผิดปรกติ และแน่นอน จะให้คนถือมือถือเดินไปเดินมาเฉยๆ ได้ไง คนเหล่านี้ก็ต้องกินต้องใช้เหมือนคนอื่นเหมือนกัน บางคนก็เกรงใจเจ้าของสถานที่ก็ต้องแวะใช้บริการเขาหน่อย “เดี๋ยวเขาว่าเอา”

ผมเองรู้จักเจ้าของร้านไอศกรีมเล็กๆ แห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ เขาเล่นเกมส์ต่างๆ มาตลอด และขอ “โปเก-สต็อป” เอาไว้ตั้งแต่เดือนเมษายนที่ผ่านมา ปรากฏว่าทุกวันนี้คนแห่มาใช้บริการกันตรืมทุกวัน โดยเฉพาะวันเสาร์และวันอาทิตย์ รวมไปจนถึงวันหยุดนักขัตฤกษ์ ทำให้ยอดขายไอศกรีมพุ่งขึ้น 60 % ต่อเดือน การค้าขายเติบโตราวปาฏิหาริย์ โดยทั่วไปแล้วร้านเล็กๆ เสียค่าใช้จ่ายลงทุนเฉลี่ยชั่วโมงละ 60-70 บาท ไอเท็มตัวหนึ่งเสียบได้นาน 30 นาที เป็นการลงทุนที่คุ้มค่ากับรายได้ที่กลับเข้ามาจากการขายสินค้า

แถวบ้านเขามีห้างฯขนาดกลาง ที่เมื่อก่อนคนไม่ค่อยเข้าไปเดิน เดี๋ยวนี้ไปดูสิ คนเข้าไปในห้างฯแบบเยอะผิดหูปิดตาไปเลยนับจากทำข้อตกลงกับตัวแทนบริษัทกลุ่มโปเกม่อน โก ห้างฯนี้วาง “โปเก-สต็อป” เอาไว้ 4 จุดเท่านั้น เชื่อว่ายอดจำหน่ายสินค้าก็น่าจะเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน

เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมาจัดงาน “โปเกม่อน ไทยแลนด์ มาสเตอร์” จัดงานที่ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลเวิล์ด ที่ห้างฯวาง “โปเก-สต็อป” เอาไว้ 4 จุดเช่นกัน เปิดให้คนเข้ามาปั่นหาไอเท็มมาไล่จับโปเกม่อน ปรากฎว่ามีคนมาร่วมงานไม่ต่ำกว่า 500 คน ทั้งคนไทยและคนต่างชาติ พร้อมมีการจัดแรลลี่ โปเกม่อนด้วย ใครที่หาอาร์ซีเจอ และถ่ายรูปเอาไว้จะได้รับรางวัล ได้รับส่วนลดราคาเป็นพิเศษ ถือว่านี่ก็เป็นการตลาดในรูปแบบใหม่เหมือนกัน

ส่วนการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยก็เจรจาแล้วให้สร้างสัตว์ประหลาดประจำ 10 จังหวัดท่องเที่ยวไทยซึ่งไม่มีที่ไหนในโลก มีเฉพาะในไทยเท่านั้น ไว้ให้นักล่ามาตามล่าจับตัว ผมว่าถ้าปล่อยสัตว์ประหลาดใหม่ในไทย เชื่อว่านักล่าโปเกม่อนคงมาไล่ล่าที่เมืองไทยแน่นอน คนไทยก็คงได้เที่ยวกันอีกเป็นพันเป็นหมื่นคนแน่ๆ
เกมส์ Pokemon Go ของบริษัท Nintendo เปิดตัวได้ดี ดึงดูดลูกค้าทั่วโลกที่ใช้สมาร์ทโฟน ตั้งแต่นักเล่นเกมส์รุ่นเยาว์จนถึงรุ่นดึก และความตื่นตัวนี้ช่วยดันราคาหุ้นของ Nintendo ทะยาน 25% หลังข่าวเปิดตัวออกมาอย่างเป็นทางการ คิดเป็นมูลค่าตลาดมากถึง 7,000 ล้านดอลลาร์เลยทีเดียว.....นี่ก็นับว่าเป็นอีกหนึ่งปาฏิหาริย์ ครับ