ธปท.แนะรับมือค่าเงิน เตือนเอกชน-ผู้ส่งออกปรับตัวบริหารความเสี่ยง

27 ก.ย. 2559 | 00:00 น.
แบงก์ชาติย้ำแนวโน้มบาทแข็ง เหตุปัจจัยภายนอกกระทบเงินทุนเคลื่อนย้ายตลาดโลก ชี้ควรบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนรองรับความผันผวนอนาคต “กอบศักดิ์ ภูตระกูล” แจงธปท.แบกภาระประคองค่าบาทเกือบ 1ล้านล้าน เชื่อต้นทุนลดหลังเฟดตัดสินใจขึ้นดอกเบี้ย แนะผู้ส่งออกปรับตัว “ค่ายซีไอเอ็มบีไทย” ชูสัญญาล่วงหน้า/ออพชัน ขณะผู้ส่งออกประสานเสียงไตรมาส 4 ฟื้นคำสั่งซื้อทะลัก แห่ทำฟอร์เวิร์ดรับมือ

ตามที่คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (FOMC) ของธนาคารกลางสหรัฐฯ(เฟด) เมื่อวันที่ 20-21 กันยายน 2559มีมติคงดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.25-0.50%และผลการประชุมธนาคารกลางญี่ปุ่น(บีโอเจ) ปรับกรอบการดำเนินนโยบายการเงินโดยจะเข้ามาดูแลอัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาว นอกจากการเข้าซื้อสินทรัพย์และใช้ดอกเบี้ยระยะสั้นติดลบแล้วนั้น

 ห่วงบาทแข็งกระทบฟื้นตัวศก.ไทย

นายจาตุรงค์ จันทรังษ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และในฐานะเลขานุการคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เปิดเผยว่า แนวโน้มเงินทุนเคลื่อนย้ายในช่วงที่เหลือของปีนี้ น่าจะมีความผันผวนมากขึ้น จากความไม่แน่นอนด้านนโยบายการเงินทั่วโลก โดยช่วงที่ผ่านมาแม้ว่าค่าเงินบาทบางช่วงจะมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้น เมื่อเทียบกับค่าเงินบางสกุล แต่เป็นการแข็งค่าอยู่ในระดับเดียวกับภูมิภาค โดยรวมเงินบาทไม่ได้แข็งค่ามากในตะกร้ารวม แต่ในระยะต่อไปอาจไม่เป็นผลดีต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยได้

อย่างไรก็ดี ความผันผวนของค่าเงินที่ยังคงมีต่อไป เป็นเพราะกลุ่มยูโรโซนและญี่ปุ่นยังคงดำเนินนโยบายการเงินผ่อนคลาย รวมถึงธนาคารกลางของประเทศเศรษฐกิจหลักยังคงผ่อนคลายและจะเพิ่มมากขึ้น หากดูระยะสั้นสภาพคล่องที่อยู่ในโลกจะมีมากขึ้น ทำให้มีเงินบางส่วนไหลเข้าตลาดเกิดใหม่ที่เศรษฐกิจขยายตัวได้ค่อนข้างดี ส่งผลให้ค่าเงินยังคงแข็งค่า ทั้งนี้ไม่ต้องการให้คาดเดาว่าทิศทางของเงินทุนเคลื่อนย้ายจะไหลเข้าเพียงอย่างเดียว เพราะหากมีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้น อาจจะทำให้ค่าเงินกลับทิศได้

“นโยบายเศรษฐกิจหลักผ่อนคลายต่อไปและจะมากขึ้น เพราะถ้าเฟดไม่ขึ้นดอกเบี้ยในเดือนกันยายนแล้ว แต่ตลาดคาดว่าจะไปขึ้นช่วงเดือนธันวาคม ทำให้ยังคงมีเงินบางส่วนไหลเข้าได้ เงินบาทอาจจะแข็งค่าระดับกลางๆ”

 ต้องบริหารเสี่ยงรับผันผวน

ด้านนางจันทวรรณ สุจริตกุล ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายตลาดการเงิน ธปท. ระบุ (เมื่อ21ก.ย.59) ว่า ในแถลงการณ์ของเฟดเริ่มแสดงความมั่นใจถึงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่เข้มแข็งขึ้น รวมทั้งกล่าวถึงความเป็นไปได้ที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในช่วงที่เหลือของปีนี้ โดยระยะยาวยังต้องติดตามปฏิกิริยาของตลาดต่อไป เพราะยังมีความไม่แน่นอนเกี่ยวกับทิศทางนโยบายการเงินของเฟด และของประเทศหลักอื่นๆ เช่น ธนาคารกลางของญี่ปุ่นหรือบีโอเจได้ปรับกรอบการดำเนินมาตรการนโยบายการเงิน ที่จะเข้าดูแลระดับอัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวด้วย นอกเหนือไปจากการเข้าซื้อสินทรัพย์และการใช้อัตราดอกเบี้ยระยะสั้นติดลบ ดังนั้นปัจจัยภายนอกยังเป็นสิ่งที่กระทบภาวะเงินทุนเคลื่อนย้ายในตลาดโลก ทุกฝ่ายจึงควรให้ความสำคัญกับการบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนเพื่อรองรับกับความผันผวนในอนาคต

ธปท.แบกภาระหนัก

ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า ยิ่งนานวันกรรมการของเฟดจะมีความเห็นที่จะให้ปรับขึ้นดอกเบี้ยมากขึ้น เห็นได้จากผลการประชุมในเดือนกันยายนที่ผ่านมากรรมการของเฟด 3 คนไม่เห็นด้วยกับการคงดอกเบี้ย โดยมองว่ามีความจำเป็นที่ต้องขึ้นดอกเบี้ยมาก แต่รอดูตัวเลขใน 3เดือนหลังจากนี้ ขณะที่ธปท.ได้ช่วยดูแลค่าเงินบาทไม่ให้แข็งค่าได้ระดับหนึ่งแล้ว เห็นได้จากที่ผ่านมาธปท.เข้าซื้อดอลลาร์สหรัฐฯ เข้ามาเป็นทุนสำรองระหว่างประเทศเพิ่มขึ้นประมาณ 3 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐหรือเกือบ 1 ล้านล้านบาทแล้ว จึงเห็นเงินบาทผันผวนน้อยกว่าสกุลเงินอื่นในประเทศภูมิภาค ซึ่งบางสกุลเงินยังแข็งค่ากว่าเงินบาท โดยรวมไทยยังได้เปรียบและไม่เสียความสามารถในการแข่งขัน แต่การจะบอกให้ธปท.ดูแลเงินบาทให้นิ่งนั้น ธปท.จะมีภาระมากขึ้น ดังนั้น ในภาคเอกชนหรือผู้ส่งออกต้องปรับตัวและบริหารความเสี่ยงบ้าง

“ที่ผ่านมาอย่างน้อยแบงก์ชาติได้ช่วยระดับหนึ่งแล้ว และมีต้นทุนในการดูแลเงินบาทเกือบ 1 ล้านล้านบาทแล้ว ช่วงนี้ภาคเอกชนต้องยอมรับความผันผวนบ้าง หากยังกังวลมากก็แนะนำให้ค้าขายเป็นสกุลเงินท้องถิ่นก็ได้”

ทั้งนี้ ต้นทุนของธปท.ในการสะสมเงินสำรองระหว่างประเทศ โดยการดูดซับสภาพคล่องในระบบนั้น อาจจะไม่ต้องกังวลใจ เพราะการที่เฟดส่งสัญญาณชัดว่าจะปรับขึ้นดอกเบี้ย จึงเห็นโอกาสที่จะผ่องถ่ายเงินออกไปได้ โดยช่วงนี้ต้องยอมรับสภาพในการบริหารจัดการไปก่อนและหลังจากเฟดตัดสินใจปรับดอกเบี้ยในวันข้างหน้าสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯจะมีค่า ถ้าธปท.ขายดอลลาร์ทันจะทำให้ต้นทุนดังกล่าวลดลง

ชี้เหตุบาทเริ่มแข็งค่าอีก

นายเผด็จ อภิรุจสิงห์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย กล่าวว่า จากภาวะการเคลื่อนไหวค่าเงินในปัจจุบันพบว่า เงินบาท แข็งค่าขึ้นเทียบกับเงินดอลลาร์ เนื่องจากสาเหตุสำคัญคือ 1. อัตราดอกเบี้ย เงินบาทยังมีระดับสูงเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐหรือเงินสกุลหลักอื่นๆ ที่ใกล้ศูนย์หรือ ติดลบ 2. แม้ว่าการส่งออกจะติดลบ แต่ การนำเข้าก็ติดลบด้วยในเปอร์เซ็นต์ที่มากกว่า ดังนั้นจึงเกิดการเกินดุลการค้าและดุลชำระเงิน ทำให้เงินบาทแข็งขึ้น ภาวะการโดยทั่วไปยังคงมีความผันผวน และ เฟด ยังอาจขึ้นดอกเบี้ยได้ในการประชุมครั้งหน้า ดังนั้นจึงยังคงแนะนำให้มีการป้องกันความเสี่ยงไว้เพื่อป้องกันความผันผวน การป้องกันความสี่ยงยังคงมีเครื่องมือที่คุ้นเคยคือ การทำสัญญาล่วงหน้า และ การทำสัญญาออฟชั่น

สำหรับผู้ที่ค้าขายกับประเทศในกลุ่มอาเซียน การซื้อขายด้วยเงินสกุลท้องถิ่นก็เป็นทางเลือกอีกทางหนึ่ง โดยขณะนี้ ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นธนาคารตัวแทนในการให้บริการเงินมาเลเซียริงกิตในประเทศไทย ร่วมกับธนาคารซีไอเอ็มบี ประเทศมาเลเซีย ขณะเดียวกัน ผู้นำเข้าหรือ ผู้ส่งออกที่ทำการค้าขายกับประเทศมาเลเซีย สามารถเลือกการใช้เงินบาท หรือ เงิน มาเลเซียริงกิต เพื่อการซื้อขาย ซึ่งค่าเงินทั้ง 2 สกุลมีความผันผวนน้อยกว่า เมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐฯ และ ขณะนี้ธนาคารซีไอเอ็มบีไทยยังให้บริการรับฝากเงินมาเลเซียริงกิต และ ให้บริการทำสัญญาล่วงหน้าระหว่างเงินมาเลเซีย ริงกิตและเงินบาทอีกด้วย

ส่งออก Q4 ออเดอร์ทะลัก

ด้านนายเจษฎา ศิริมงคลเกษม ประธานบริษัท จีเอฟพีที นิชิเร(ประเทศไทย)จำกัด หรือ GFN ผู้ผลิตและส่งออกสินค้าไก่กล่าวว่า คำสั่งซื้อสินค้าสินค้าไก่จากต่างประเทศของบริษัท ซึ่งมีตลาดหลักที่ญี่ปุ่น และยุโรปในไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ มีคำสั่งซื้อเข้ามาจำนวนมาก เพราะเป็นช่วงไฮซีซันสำหรับการสั่งซื้อและส่งมอบสินค้าในช่วงปลายปี แต่ยอมรับปีนี้มีการแข่งขันสูง เหตุผลผลิตไก่ทั้งในและต่างประเทศเพิ่มขึ้นมากกว่าปีที่แล้ว ทำให้ลูกค้าโดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุโรปที่เศรษฐกิจไม่ค่อยดีมีการต่อรองราคาสินค้ามากขึ้น อย่างไรก็ดีทั้งปีนี้ยังคาดการณ์ยอดขายว่าจะขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วปริมาณ 5-6% (จากปีที่แล้วมียอดขาย ประมาณ 8,000 ล้านบาท

“เงินบาทที่แข็งค่าขึ้น ถือเป็นปัจจัยเสี่ยงมากในเวลานี้ เพราะปกติเราค้ากันซื้อขายเป็นสกุลดอลลาร์สหรัฐฯ ล่าสุดเงินบาทแข็งค่าขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 34 บาทกว่า ๆ ต่อดอลลาร์ อีกครั้ง ทำให้สินค้าสูงขึ้นตามอัตราแลกเปลี่ยน ดังนั้นในการรับคำสั่งซื้อได้ป้องกันโดยทำประกันความเสี่ยงค่าเงิน หรือฟอร์เวิร์ดกับธนาคารเพื่อป้องกันการขาดทุน ซึ่งค่าเงินบาทที่เรายังแข่งขันได้อยู่ที่ 34.50-35 บาทต่อดอลลาร์ขึ้นไป แต่หากแข็งค่าต่ำกว่า 34 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯผู้ส่งออกทุกรายกระทบแน่”

บาทแข็งโค้ดราคาสูงขึ้น

เช่นเดียวกับนายฐิติ ลุจินตานนท์ รองกรรมการผู้จัดการบริหาร ธุรกิจการค้าข้าวและอาหารในประเทศ และต่างประเทศ บริษัท ซี.พี.อินเตอร์เทรด จำกัด กล่าวว่า ค่าเงินบาทที่เริ่มกลับมาแข็งค่าขึ้นที่ระดับ 34.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ (จากปีที่แล้วเฉลี่ยอยู่ที่ 35-35.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ) ทำให้การรับคำสั่งซื้อข้าวจากต่างประเทศเพื่อส่งมอบในช่วงจากนี้ไป ต้องโค้ดราคาสูงขึ้น เพื่อแลกกลับมาเป็นเงินบาทให้ได้เท่าเดิม ทำให้เสียเปรียบคู่แข่งขัน ซึ่งจะมีผลกระทบต่อคำสั่งซื้อจากต่างประเทศแน่นอน ส่วนหนึ่งบริษัทได้ทำฟอร์เวิร์ด เพื่อไม่ให้ค่าเงินเปลี่ยนแปลงจากวันที่เคาะราคาขาย

“คำสั่งซื้อข้าวในช่วงนี้เป็นแบบเดือนชนเดือน เพราะผู้ซื้อยังไม่รีบร้อนจากรอข้าวในฤดูการผลิตใหม่ของไทยที่จะออกมาในช่วงเดือนตุลาคม ในส่วนออร์เดอร์ของบริษัทช่วงนี้ก็ยังพอมี ภาพรวมคำสั่งซื้อส่งมอบในไตรมาสที่ 4 ยังถือว่าใกล้เคียงกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ปีนี้ซี.พี.ตั้งเป้าส่งออกข้าวที่ 6 แสนตันมูลค่า 1.3 หมื่นบาท บวก-ลบ ด้านปริมาณน่าจะได้ตามเป้าหมาย แต่ด้านมูลค่ายังต้องลุ้นจากความเสี่ยงค่าเงิน เราลุ้นให้เฟดขึ้นอัตราดอกเบี้ยในปลายปีนี้ จะทำให้บาทอ่อนค่าลง และสินค้าไทยจะแข่งขันได้ดีขึ้น”

 เสื้อกีฬาคึกคักวอนช่วยดูแลบาท

นายสุกิจ คงปิยาจารย์ กรรมการผู้จัดการ ฮงเส็งกรุ๊ป หนึ่งในผู้ผลิตและส่งออกเสื้อผ้ากีฬารายใหญ่ กล่าวว่า บริษัทได้รับคำสั่งซื้อล่วงหน้าจากลูกค้าเต็มกำลังผลิตไปถึงเดือนมีนาคม 2560 แล้ว ทำให้มั่นใจว่ายอดขายในปีนี้จะเพิ่มขึ้น 8-9% มีปัจจัยบวก เพราะเป็นช่วงขาขึ้นของเสื้อกีฬาประเภทฟุตบอล แต่ก็มีปัจจัยเสี่ยงเรื่องค่าเงินอยากให้ธปท. เข้ามาดูแลไม่ให้แข็งค่ามาก เพราะจะกระทบต่อรายได้ในรูปเงินบาท รวมถึงการรับคำสั่งซื้อของสินค้าไทย

 ทูน่าชี้ผลดีนำเข้าวัตถุดิบ

นายอมรพันธุ์ อร่ามวัฒนานนท์ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีแวลู จำกัด(มหาชน) ผู้ผลิตและส่งออกปลาทูน่ากระป๋องรายใหญ่ กล่าวว่า คำสั่งซื้อจากต่างประเทศของบริษัทในไตรมาสที่ 4 มีเข้ามาอย่างต่อเนื่อง เพราะช่วงปลายปีจะเป็นช่วงหยุดยาวในต่างประเทศ ขณะที่ในสหภาพยุโรป(อียู)มีเรื่องโควตาการนำเข้าทูน่าในอัตราภาษีต่ำจึงต้องเร่งนำเข้าให้แล้วเสร็จก่อนสิ้นปี จากที่บริษัทเคยส่งมอบสินค้าให้ลูกค้าเฉลี่ย 1,100-1,200 ตู้คอนเทนเนอร์ต่อเดือน ในช่วงไตรมาสที่ 4 เฉลี่ยจะอยู่ที่ 1,200 ตู้ต่อเดือน

“ซีแวลูตั้งเป้าหมายรายได้ปีนี้ที่ 2.4 หมื่นล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปี 2558 ที่มียอดขายที่ประมาณ 2.3 หมื่นล้านบาท หรือขยายตัวเพิ่มขึ้นประมาณ 5% ค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นในช่วงนี้ไม่กระทบกับเรามาก เพราะยังอยู่ในระดับ 34.50-35 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯยังไม่ผันผวนรุนแรงและอยู่ในกรอบที่เราทำการบ้าน และพร้อมรับมือมาโดยตลอด ไม่ได้ตกใจมาก ในทางกลับกันวัตถุดิบปลาทูน่าส่วนใหญ่เรานำเข้า บาทแข็งค่าทำให้การนำเข้าถูกลง แต่ราคาสินค้าอาจแพงขึ้นก็ถัวกันไป ไม่ได้มีการปรับราคาสินค้าแต่อย่างใด ซึ่งค่าเงินบาทเราก็มีการป้องกันความเสี่ยงมาโดยตลอด”

  ปฏิกิริยาคำสั่งซื้อ

ทางด้านนาย เจน นำชัยศิริ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.)กล่าวกับ”ฐานเศรษฐกิจ”ว่า ระยะหลัง ผู้ส่งออกจะมีคำสั่งซื้อล่วงหน้าสั้นลง จาก 6 เดือนเหลือ 1-3 เดือน ซึ่งกลางเดือนตุลาคมเป็นต้นไป จะเริ่มประเมินภาพคำสั่งซื้อได้ชัดเจนขึ้น อีกทั้งเดือนตุลาคมนี้ก็เป็นเดือนที่ปีงบประมาณใหม่จะเริ่มต้น และจะเริ่มมีการใช้จ่ายในระบบ

อย่างไรก็ตามล่าสุดยังมีข่าวว่า ช่วงนี้ราคาสินค้าเริ่มตกลงอาจเป็นสัญญาณไม่ดีได้ เพราะผลกระทบในรอบนี้ไม่มีเรื่องภัยแล้งมาเกี่ยวข้อง ก็น่าจะเป็นเรื่องความต้องการของการบริโภคที่ไม่แข็งแรง กำลังซื้อในโลกไม่สูง ประกอบกับคู่แข่งขันของไทยมีมากขึ้นด้วย ทั้งเวียดนาม เมียนมา ทำให้ราคาตกลง ในขณะที่คู่แข่งมีต้นทุนในการผลิตต่ำกว่า และต้นทุนต่อไร่สูงกว่า ดังนั้นถ้าไทยยังแข่งขันอยู่ในตลาดสินค้าประเภทเดียวกันก็อาจจะแพ้ได้ เช่น ขายข้าวคุณภาพเดียวกันไทยจะแพ้เพราะต้นทุนคู่แข่งต่ำกว่า และราคาก็ถูกกว่า เป็นต้น

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,195 วันที่ 25 - 28 กันยายน พ.ศ. 2559