บัญญัติ 10 ประการเลี้ยงไก่ไทยให้รุ่ง

27 กันยายน 2559
ทุกวันนี้เลี้ยงไก่ขายไม่ใช่เรื่องง่ายๆ เราไม่สามารถทำงานแบบสุกเอาเผากินตามแบบเดิมๆ ได้แล้ว เพราะกฎเกณฑ์การค้าขายทั่วโลกรุกไปข้างหน้า ไปไกลกว่าราคาเสนอขายต้องต่ำ คุณภาพต้องดี บริการต้องเยี่ยม เดี๋ยวนี้ต้องสืบข้อมูลไปให้ถึงแหล่งผลิตจริงๆ ด้วย ใครทำไม่ได้ก็ค้าขายระหว่างประเทศได้ลำบาก ตอนนี้ภาครัฐกับภาคเอกชนได้ร่วมมือกันทำในสิ่งที่ถูกต้องที่สุด ได้ร่วมกันจัดทำแนวทางปฏิบัติต่อแรงงานที่ดี หรือ Good Labour Practices (GLP) สำหรับฟาร์มเลี้ยงไก่ขึ้น โดยออกบัญญัติ 10 ประการ คือ หลัก 4 ไม่ 6 มี ได้แก่ 1. ไม่ใช้แรงงานเด็ก 2.ไม่ใช้แรงงานบังคับ 3.ไม่เลือกปฏิบัติ 4.ไม่มีการค้ามนุษย์ 5. มีระบบการจัดการบริหารแรงงาน 6. มีเสรีภาพในการสมาคม 7. มีโอกาสแลกเปลี่ยนความเห็นกับนายจ้าง 8. มีสภาพแวดล้อมการทำงานที่ปลอดภัย 9. มีการจัดการสุขอนามัยและของเสีย 10. มีสวัสดิการที่เหมาะสม

โดยปกติแล้ว ห่วงโซ่การผลิตไก่เนื้อรายใหญ่ของไทยมีความทันสมัยด้วยการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการเลี้ยง และมีการพัฒนาด้านมาตรฐานการผลิตมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะฟาร์มเลี้ยงไก่ของไทยเป็นระบบเลี้ยงทันสมัยในโรงเรือนปิด ควบคุมด้วยระบบคอมพิวเตอร์ทั้งการให้อาหาร แสงสว่างและอุณหภูมิ เพื่อลดการสัมผัสจากน้อยให้ที่สุด เพื่อป้องกันการปนเปื้อนของเชื้อโรคสู่เป้าหมายอาหารปลอดภัย ที่สำคัญมีการเกี่ยวข้องกับแรงงานน้อยมาก จะเห็นได้ว่าฟาร์มไก่ของไทยขนาด 5 แสนตัว ใช้แรงงานประมาณ 20 คนเท่านั้น

ด้วยหลักการ "4 ไม่ 6 มี" เกษตรกรสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในฟาร์มได้ เพื่อให้มีการดูแลแรงงานอย่างเหมาะสม ทั้งการปรับปรุงสถานที่ทำงานให้ปลอดภัย จัดสรรสวัสดิการให้กับแรงงานตามความเหมาะสม การจ่ายค่าจ้างชดเชยในกรณีที่ทำงานในวันหยุด การปรับทำเอกสารการจ้างงานเป็นระบบ จัดทำประกันสุขภาพ รวมทั้งการไม่ยึดหนังสือเดินทาง เป็นต้น

เมื่อไปดูที่บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งในภาคอุตสาหกรรมไก่ ได้แสดงความมุ่งมั่นที่จะยกระดับมาตรฐานด้านแรงงานอย่างจริงจัง ตั้งแต่การปรับนโยบายการจัดจ้างแรงงานต่างชาติโดยตรง แรงงานในโรงงานได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมและเสมอภาค และในปีนี้ ยังได้ร่วมกับกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจัดอบรมและให้ความรู้แก่ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่สามารถนำหลัก GLP ไปใช้ในฟาร์มเลี้ยงสัตว์ของบริษัท รวมทั้งได้ขยายผลการดูแลแรงงานที่ดีแก่เกษตรกรที่เป็นคู่ค้าในโครงการส่งเสริมอาชีพเกษตรกรในห่วงโซ่การผลิตไก่ของบริษัท เพื่อให้เกษตรกร 423 รายเข้าใจหลัก GLP และบริษัทยังได้จัดตั้งคณะทำงานขึ้น เพื่อเข้าไปตรวจสอบและให้คำแนะนำแก่ฟาร์มเกษตรกรได้ปรับปรุงสภาพการจัดจ้าง และระบบเอกสารด้านแรงงานด้วย

ขณะเดียวกัน หน่วยงานภาครัฐเอง ทั้งกรมปศุสัตว์ และกรมสวัสดิการคุ้มครองแรงงาน ยังให้ความสำคัญ ดำเนินการติดตามตรวจสอบการดูแลแรงงานในฟาร์มเลี้ยงสัตว์ทั่วประเทศอย่างต่อเนื่อง เพื่อที่จะสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคทั่วโลกว่าตลอดห่วงโซ่การผลิตไก่ของไทยมีการปฏิบัติต่อแรงงานตามแนวทาง GLP และสอดคล้องตามมาตรฐานกฎหมายที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล

ประเทศไทยเป็นผู้ส่งออกไก่สดและไก่แปรรูปชั้นนำรายใหญ่อันดับ 3-4 ของโลก และสร้างรายได้ให้กับประเทศในแต่ละปีสูงถึง 8 - 9 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นปัจจัยหนึ่งที่ชี้ให้เห็นว่า เนื้อไก่ของประเทศได้รับการยอมรับจากลูกค้าทั่วโลกในเรื่องคุณภาพ ความปลอดภัยในระดับมาตรฐานโลก ที่สำคัญรายได้ที่ไทยได้รับจากการส่งออกของอุตสาหกรรม ถือเป็นผลผลิตที่เกิดขึ้นจากภายในประเทศแทบทั้งหมด ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ

ดังนั้นหากประเทศคู่ค้าไม่ยอมรับผลิตภัณฑ์ไก่ของไทยด้วยเงื่อนไขเกี่ยวกับแรงงานแล้ว ผู้ที่ได้รับผลกระทบไม่ได้มีเพียงผู้ประกอบการที่ส่งออกสินค้าเท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบต่อผู้ที่อยู่ในห่วงโซ่ผลิตไก่เนื้อทั้งระบบ อาทิ เกษตรกรรายย่อยที่ปลูกข้าวโพด เกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ จนถึงแรงงานที่เกี่ยวข้องในการขนส่ง ด้วยเหตุนี้เราต้องจดจำหลักบัญญัติ 10 ประการในการเลี้ยงไก่ให้ดีและต้องทำให้ได้ในภาคปฏิบัติ แล้วธุรกิจของเราจะยั่งยืนสืบไป ครับ

Photo : Pixabay
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,195 วันที่ 25 - 28 กันยายน พ.ศ. 2559