บันได6ขั้นจ่อฟันจีทูจีเก๊ บทเรียนสอนใจรัฐบาลในอนาคต

27 ก.ย. 2559 | 06:00 น.
งวดเข้ามากับคดีข้าวรัฐต่อรัฐ หรือ จีทูจีเก๊ จำนวน 4 สัญญากับบริษัทจากจีนปริมาณข้าวรวม 6.2 ล้านตัน ที่เมื่อ 19 กันยายนที่ผ่านมา นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และนางสาวชุติมา บุณยประภัศร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ต้นสังกัดของเรื่องได้ลงนามในคำสั่งทางปกครองเรียกชดเชยค่าเสียหายจากนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กับพวกรวม 6 คน ประกอบด้วยนายภูมิ สาระผล อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์, พ.ต.น.พ.วีระวุฒิ วัจนะพุกกะ อดีตเลขานุการรัฐมนตรีพาณิชย์,นายมนัส สร้อยพลอย อดีตอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ,นายทิฆัมพร นาทวรทัต อดีตรองอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ และนายอัครพงศ์ ทีปะวัชระ อดีตผู้อำนายการสำนักการค้าข้าวต่างประเทศให้ชดเชยค่าเสียหายคืนรัฐรวม 2 หมื่นล้านบาท ซึ่งแต่ละคนต้องชดใช้ในมูลค่าที่แตกต่างกันไปตามสัดส่วนที่รับผิดชอบในแต่ละสัญญาที่ได้เข้าไปมีส่วนร่วม

[caption id="attachment_101098" align="aligncenter" width="700"] ขั้นตอนเอาผิดคดีข้าวจีทูจี 6.2 ล้านตัน ขั้นตอนเอาผิดคดีข้าวจีทูจี 6.2 ล้านตัน[/caption]

 ส่งจม.อีเอ็มเอสถึงบ้านแล้ว

เมื่อ 20 กันยายน 2559 กรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ได้ส่งหนังสือบังคับทางปกครองให้ผู้ต้องชำระค่าเสียหายทั้ง 6 คนแล้วผ่านทางไปรษณีย์อีเอ็มเอส โดยหลังจากผู้ถูกกล่าวหาเซ็นรับหนังสือแล้วจะมีระยะเวลา 30 วันให้มาชำระค่าสินไหมทดแทน แต่หลังจากนั้นหากยังนิ่งเฉยจะให้เวลาอีกอย่างน้อย 7 วัน แต่ไม่เกิน 15 วันจะมีหนังสือแจ้งเตือน หากครบกำหนดจะมีหนังสือถึงกรมบังคับคดีให้ดำเนินการยึดทรัพย์ต่อไปได้ทันที ยกเว้นนายบุญทรงและพวกจะร้องต่อศาลปกครองออกคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวให้กระบวนการหยุดเพื่อรอคำพิพากษาของศาล

 ย้อนรอยข้าวจีทูจี

ต่อกรณีเรื่องข้าวจีทูจีนี้ ย้อนไปเมื่อวันที่ 24พฤศจิกายน 2555 ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ได้เปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และเปิดประเด็นการทุจริตขายข้าวจีทูจีดังกล่าว และได้นำเรื่องร้องต่อสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ให้ตรวจสอบและเปิดไต่สวน ซึ่งต่อมาเมื่อเดือนมกราคม 2558 นายวิชา มหาคุณ กรรมการ ป.ป.ช.ได้แถลงมติคณะกรรมการ ป.ป.ช.ชี้มูลความผิด สาระสำคัญคือ ผู้ถูกกล่าวหาทั้ง 6 คน ร่วมกับบุคคลและนิติบุคคลอีก 21 รายได้ร่วมกันนำบริษัท Guangdong stationery & sporting goods imp.& exp. Corp. หรือ จีเอสเอสจี และบริษัท Hainan grain and oil industrial trading company (ไห่หนาน)แอบอ้างเข้ามาทำสัญญาขายข้าวจีทูจี 4 ฉบับ ทั้งนี้มีผู้เจรจาฝ่ายไทยคือนายมนัส นายทิฆัมพร และนายอัครพงศ์ โดยมีบุญทรง นายภูมิ และพ.ต.น.พ.วีระวุฒิ เป็นผู้ให้ความเห็นชอบ

"กลุ่มบุคคลทั้งหมดได้แบ่งหน้าที่กันทำงานโดยช่วยเหลือ มุ่งหมาย เอื้อประโยชน์ให้กับจีเอสเอสจี และไห่หนาน ซึ่งมิได้รับมอบหมายจากรัฐบาลจีนให้เข้ามาทำสัญญาซื้อขาย แต่มีสิทธิเข้ามาทำสัญญาซื้อขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ โดยไม่ต้องแข่งขันราคากับผู้เสนอราคารายอื่นแล้วนำข้าวที่ซื้อได้ในราคาที่ต่ำกว่าราคาขายตลาดภายในประเทศ หรือต่ำกว่าราคาที่ฝ่ายไทยเสนอ หรือต่ำกว่าราคาที่รับจำนำนำไปขายต่อให้กับผู้ประกอบการค้าข้าวในประเทศ หรือนำไปให้บริษัทสยามอินดิก้านำไปขายต่ออีกทอดหนึ่ง ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ประเทศชาติอย่างร้ายแรง เป็นการกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานรัฐ พ..ศ.2542 (พ.ร.บ.ฮั้ว) และพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542" ซึ่งต่อมา ป.ป.ช.ได้ส่งรายงานเอกสารและความเห็นไปยังอัยการสูงสุด(อสส.) เพื่อดำเนินคดีอาญากับผู้ถูกกล่าวหาแล้วแต่กรณี

นอกจากนี้ยังได้แจ้งให้กระทรวงพาณิชย์และกระทรวงการคลังดำเนินการให้ผู้ถูกกล่าวหา หรือผู้ที่เกี่ยวข้องกับความเสียหายชดเชยค่าเสียหาย

 บุญทรงยังยันทำถูกต้อง

อย่างไรก็ดีนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" (22 ก.ย.59) หลังมีการลงนามในคำสั่งทางปกครองเรียกชดเชยค่าเสียหายกรณีข้าวจีทูจีว่า ยังไม่ได้รับหนังสือดังกล่าว หากได้รับหนังสือแล้วจะให้ทนายความยื่นเรื่องต่อศาลปกครองเพื่อขอให้ทุเลาคำสั่งและเปิดไต่สวนฉุกเฉิน หลังจากนั้นจะฟ้องกลับทางแพ่งและทางอาญากับผู้ที่เกี่ยวข้องทุกคน

 บันได 6 ขั้นเอาผิด

ขณะที่ น.พ.วรงค์ เดชกิจวิกรม อดีต ส.ส.พิษณุโลก พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า การยื่นเรื่องต่อศาลปกครองเพื่อขอให้ทุเลาคำสั่งชดเชยค่าเสียหายและขอให้เปิดไต่สวนฉุกเฉินของนายบุญทรง และพวกเป็นสิทธิ์ที่สามารถทำได้ แต่สุดท้ายแล้วก็ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของศาลว่าจะรับเรื่องหรือไม่ ส่วนกรณีที่นายบุญทรงได้ออกมาระบุว่าการขายข้าวครั้งนี้ได้เงินครบถ้วน ไม่ใช่สาระหลัก เพราะที่นายบุญทรงและพวกถูกกล่าวหาและชี้มูลความผิดเป็นประเด็นเรื่องข้าวจีทุจีที่ไม่ใช่ของจริง มีการทุจริตโดยนำมาขายในราคาต่ำกว่าราคาตลาด เอื้อประโยชน์ต่อพวกพ้อง ไม่มีการส่งออกจริง และสร้างความเสียหายต่อรัฐและประเทศชาติ

"การที่นายบุญทรงประกาศจะฟ้องกลับแพ่งและอาญากับผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องมองเป็นการแก้เกี้ยว สื่อถึงกองเชียร์ว่าไม่ผิด พร้อมสู้ ซึ่งกรณีข้าวจีทูจีนี้ผ่านมาแล้ว 4 ขั้นตอนคือ

1.ขั้นตอนการตรวจสอบข้อเท็จจริงที่มีคุณจิรชัย มูลทองโร่ย รองปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ขั้นตอนที่2.คณะกรรมการพิจารณาความรับผิดทางแพ่ง ที่มีนายมนัส แจ่มเวหา อธิบดีกรมบัญชีกลางเป็นประธานได้เคาะตัวเลขชดเชยความเสียหาย 6 คนที่ 2 หมื่นล้านบาท

ขั้นตอนที่ 3 รัฐมนตรีฯพาณิชย์ และปลัดฯพาณิชย์ลงนามทางปกครองเรียกชดใช้ค่าเสียหาย และขั้นที่ 4 ส่งหนังสือให้รับทราบและให้ชดเชยค่าเสียหายใน 30 วัน ส่วนที่ยังไม่เกิดคือในขั้นตอนที่ 4 ที่หากใน 30 วันยังเพิกเฉยจะส่งหนังสือเตื่อนภายใน 15 วัน และขั้นที่ 6 มาตรการบังคับทางปกครองในการยึด อายัดทรัพย์ เพื่อขายทอดตลาด และนำเงินมาชดใช้แก่รัฐ"

แต่ทั้งนี้หากมีการยื่นอุทธรณ์ เพื่อทุเลาคำสั่งศาลปกครองเรื่องการชดใช้ความเสียหาย และศาลพิจารณาแล้วให้การคุ้มครองชั่วคราวก็จะนำไปสู่กระบวนการศาลที่ต้องสืบพยานซึ่งผลการตัดสินจะออกมาอย่างไร ใช้ระยะเวลายาวนานแค่ไหนคงขึ้นอยู่กับจำนวนพยานของทั้งสองฝ่าย ซึ่งในส่วนของคดีความเสียหายโครงการรับจำนำข้าวของนางสาวยิ่งลักษณ์ ที่คณะกรรมการพิจารณาความรับผิดทางแพ่งได้สรุปให้ชดใช้ค่าเสียหายอย่างไม่เป็นทางการที่ 3.57 หมื่นล้านบาท ก็จะผ่านขั้นตอนในลักษณะเดียวกันต่อไป

 วงการข้าวยันจีทูจีเก๊

แหล่งข่าวจากวงการค้าข้าว ออกมายืนยันเรื่องข้าวจีทูจีไม่ได้มีการส่งออกจริง แต่ได้ให้บริษัทสยามอินดิก้าของนายอภิชาต จันทร์สกุลพร หรือเสี่ยเปี๋ยง ผู้ใกล้ชิดรัฐบาลในขณะนี้ นำข้าวในคลังรัฐบาลมาเร่ขายให้กับผู้ประกอบการในประเทศราคาต่ำกว่าคาตลาด เช่น ตลาดขายที่ 17-18 บาท/กก. กลับขายเพียง 8-10 บาท/กก. เรื่องนี้หากมีการส่งออกจริง สามารถตรวจสอบหลักฐานได้ง่าย ๆ โดยขอให้ผู้ที่ถูกกล่าวหานำใบตราส่งสินค้าทางทะเล (B/L) มาแสดง แต่ก็ไม่เห็นมี

บทสรุปคดีข้าวจีทูจีครั้งนี้ยังเป็นหนังชีวิตที่ต้องดูกันยาวๆ และยังไม่สามารถระบุตอนอวสานได้ แต่ก็ให้บทเรียนในแง่โครงการที่มาจากนโยบายหาเสียงของนักการเมือง ที่ต้องไม่นำไปหาผลประโยชน์ให้พวกพ้อง โดยใช้อำนาจพิเศษทำให้ประเทศชาติได้รับความเสียหาย จะเป็นคดีตัวอย่างที่จะเป็นบรรทัดฐานใหม่ สร้างความตระหนักให้นักการเมืองที่จะเข้ามาเป็นรัฐบาลในอนาคต เพราะไม่เช่นนั้นจะถูกตรวจสอบและถูกลงโทษได้เช่นกัน

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,195 วันที่ 25 - 28 กันยายน พ.ศ. 2559