ภาคเอกชนจับชีพจรศก. 3เดือนสุดท้ายต้องติดตาม4ตัวแปรใกล้ชิด!

27 ก.ย. 2559 | 08:00 น.
ก่อนถึงไตรมาสสุดท้ายปี2559 ในภาคการผลิตและหน่วยงานรัฐมีการประเมินว่า หากไม่มีเหตุฉุกเฉินใดๆเกิดขึ้นระหว่างทาง ภาพรวมเศรษฐกิจครึ่งปีหลังจะดีขึ้น ในขณะที่มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลก็ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งโครงการลงทุนขนาดใหญ่จากรัฐเริ่มขยับ รวมถึงภาครัฐมีความชัดเจนมากขึ้นในการการเบิกจ่ายงบประมาณ

ล่าสุด “ฐานเศรษฐกิจ” สัมภาษณ์พิเศษ “เจน นำชัยศิริ” ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) สะท้อนมุมมองในฐานะตัวแทนภาคเอกชนถึง 3 เดือนสุดท้าย ซึ่งเป็นช่วงไฮซีซันของภาคบริการและภาคอุตสาหกรรมว่า ยังมีอะไรที่น่าจับตา และเป็นตัวแปรสำคัญที่จะฉุดให้ตัวเลขจีดีพีปี 2559 ที่ภาคเอกชนโดยคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน หรือกกร. คาดการณ์ไว้ที่ 3-3.5% จะไปถึงฝั่งหรือไม่!

  ดูแรงส่งจาก 3 เดือนสุดท้าย

ประธานส.อ.ท.กล่าวว่า ถ้าดูภาพรวมในช่วงไตรมาสสุดท้ายปี 2559 ระหว่างเดือนตุลาคม-ธันวาคม นี้จะมีข้อเสียตรงที่มีวันทำงานเพียง 2 เดือนครึ่ง เนื่องจากในเดือนธันวาคมมีวันหยุด มีเทศกาลคริสต์มาส เทศกาลปีใหม่ ดังนั้นจะมีการเร่งสั่งสินค้าให้เสร็จก่อนกลางเดือนธันวาคม เพราะหยุดปีใหม่ยาว ดังนั้นถ้ามองโค้งสุดท้ายหรือ 3 เดือนสุดท้ายปีนี้ สิ่งที่ยังต้องติดตามมี 4 ตัวแปรคือ คำสั่งซื้อ ,ดอกเบี้ย, ค่าเงินและก่อการร้าย

เริ่มจาก คำสั่งซื้อ ถ้าตามภาวะปกติธุรกิจดี ในช่วงเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน ผู้ประกอบการจะเร่งทำออร์เดอร์เพื่อส่งมอบสินค้าให้ทัน ซึ่งในเดือนตุลาคมนี้จะต้องติดตามดูว่าจะมีการเร่งออร์เดอร์หรือไม่ ถ้ามีแสดงว่าเศรษฐกิจไตรมาสสุดท้ายดี ก็จะเป็นแรงส่งไปถึงต้นปี 2560ได้

นอกจากนี้ให้ดูตัวแปรอื่นประกอบด้วย อย่างเรื่องอัตราดอกเบี้ย ต้องดูว่า ธนาคารกลางสหรัฐฯ(เฟด) จะปรับขึ้นดอกเบี้ยหรือไม่ แม้ในขณะนี้เฟดยังคงอัตราดอกเบี้ยไว้ แต่ก็มีการคาดการณ์ว่าปลายปีนี้หรือเดือนธันวาคม เฟดน่าจะขึ้นดอกเบี้ย ถ้าขึ้นดอกเบี้ยเงินก็จะไหลกลับไปอเมริกา ก็จะทำให้การเคลื่อนย้ายเงินทุนจะมีผลกระทบบ้าง แต่ขณะเดียวกันก็จะมีผลดีด้วยตรงที่จะทำให้ค่าเงินบาทอ่อน เงินดอลลาร์จะแข็งค่าขึ้น จะส่งผลดีต่อการส่งออกของไทย แต่ถ้ายังไม่มีการขึ้นดอกเบี้ยเดือนธันวาคมนี้แสดงว่าการเคลื่อนไหวของเงินยังไม่ไหลเข้าอเมริกา พอเป็นแบบนี้แสดงว่าเงินยังอยู่แถวเอเชีย ถ้าดอกเบี้ยอเมริกาไม่ขึ้นค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯก็ยังทรงๆ ส่วนค่าเงินบาทก็ยังแข็งค่าเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งจะไม่ส่งผลดีต่อการส่งออกของไทย

อย่างไรก็ตามที่น่าจับตาคือความผันผวนของค่าเงินในช่วงไตรมาส 4 นี้จะมีมากขึ้น ดังนั้นผู้ผลิตจะต้องดูแลเรื่องความเสี่ยงของตัวเองให้ดี และนอกจากค่าเงินผันผวนแล้วยังน่าห่วงในเรื่องก่อการร้าย ก่อวินาศกรรม จะเป็นอีกประเด็นที่ต้องระวังด้วย เพราะช่วงไตรมาสสุดท้ายนี้เป็นช่วงที่อ่อนไหวที่สุดของภาคท่องเที่ยว ซึ่งเป็นช่วงไฮซีซันของไทย และท่องเที่ยวก็เป็นพระเอกตัวเดียว ถ้าเกิดผลกระทบขึ้นก็จะมีผลต่อจำนวนนักท่องเที่ยวทันที อีกทั้งยังเป็นช่วงไฮซีซันของสินค้าอุตสาหกรรมด้วยที่มีการส่งมอบสินค้าเกิดขึ้น และมีคำสั่งซื้อใหม่ที่จะส่งมอบในปี 2560 โดยทั้ง 4 ปัจจัยนี้ภาคเอกชนยังต้องเฝ้าจับตาใกล้ชิด

 ต้องเร่งทำ 3 ด้าน

สำหรับการปรับตัวของผู้ประกอบการนั้น เราจำเป็นต้องเร่งทำ 3 ด้านหลัก คือ 1. ต้องลดต้นทุนให้แข่งขันได้ 2. หนีตลาดไปผลิตสินค้าอื่นที่มีมูลค่าสูงกว่า หรือนำมาแปรรูปโดยทำให้เกิดการเชื่อมโยงกับภาคอุตสาหกรรมการผลิต เช่น นำมาทำอาหารพร้อมรับประทาน หรือแปรรูปยางดิบ 3. ต้องทำให้ตลาดโตขึ้น เพราะเวลานี้หัวรถจักรที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่จะลากเศรษฐกิจได้คือจีน ซึ่งกำลังซื้อของจีนที่เติบโตในช่วง 10 ปีที่ผ่านมานั้น ส่วนหนึ่งมาจากที่จีนมีกำลังซื้อแฝงมาก ต่อไปนี้จะไม่เป็นเช่นนั้นแล้ว หลังจากที่จีนมีการปราบปรามคอรัปชั่นมากขึ้น และที่ผ่านมาจีนเป็นตลาดใหญ่ของไทยโดยไทยส่งสินค้าไปยังจีนในสัดส่วน 10%ของการส่งออกทั้งหมด

อีกทั้งยังเป็นตลาดใหญ่ของอาเซียนด้วย ซึ่งในตลาดอาเซียนไทยก็มีการส่งออกไปจีนทางอ้อมด้วย ฉะนั้นการมองหาตลาดใหม่มาเสริมจึงสำคัญ เช่น รุกไปที่ตลาดอินเดีย แอฟริกา และถ้าราคาน้ำมันฟื้นตัวตลาดตะวันออกกลางก็ยังน่าสนใจ ซึ่งตอนนี้ราคาน้ำมันในตลาดโลกก็เริ่มนิ่งแล้ว ก็น่าจะเป็นสัญญาณบวก เพราะว่าความผันผวนจะน้อยลง ทำให้การคำนวณต้นทุน คำนวณราคาขายจะทำได้ง่ายขึ้น ไม่เช่นนั้นแล้ว ตลาดจะรอความผันผวนทำให้บริหารธุรกิจลำบาก เพราะไม่กล้ากำหนดราคาขาย โดยเฉพาะสินค้าปิโตรเคมีและยางสังเคราะห์ ที่จะทำให้ราคาผันผวนตามราคาน้ำมันและทำให้การคำนวณต้นทุนลำบาก

  ต้นต.ค.กกร.ดูเป้าจีดีพีอีกที

อย่างไรก็ตามในต้นเดือนตุลาคมนี้ จะมีการประชุมคณะกรรมการร่วม 3 สถาบันภาคเอกชน (กกร.)จะมีการพิจารณาเป้าจีดีพีอีกครั้งว่า จะคงไว้ที่ 3-3.5% หรือไม่ เบื้องต้นมองว่าจะสูงกว่า 3% หลังจากที่ไตรมาส 2 จีดีพีโต 3.5% อีกทั้งเวลานี้มีสินค้าตัวหลักที่มีสัญญาณบวกปรากฏอยู่ เช่น กลุ่มยานยนต์ มีแนวโน้มดีขึ้น แม้ว่าบางเดือนยอดขายจะตกลงไปบ้าง แต่ถ้ามองโดยภาพรวม 12 เดือน ปี 2559 น่าจะเป็นบวกในแง่ยอดขาย เพราะเวลานี้เริ่มเห็นว่ากำลังซื้อภายในประเทศดีขึ้น การส่งออกขยายตัวดี ส่วนกลุ่มอาหารสด มีอุปสรรคทางการค้าน้อยลง และตลาดรวมมีการฟื้นตัวต่อเนื่อง ขณะที่ไทยก็มีการส่งออกในลักษณะแปรรูปพร้อมรับประทานมากขึ้น ก็จะทำให้มูลค่าส่งออกดีขึ้น ขณะที่กลุ่มพลังงานทดแทนในประเทศก็มีการลงทุน เติบโตต่อเนื่อง จากนโยบายรัฐที่ผลักดันพลังงานทดแทน

  มองภาพรวมเศรษฐกิจปี 60

สำหรับปี 2560 มองโดยภาพรวมยังเหมือนเดิมคือเศรษฐกิจฟื้นตัวแต่ไม่เร็ว และแต่ละประเทศเศรษฐกิจก็ฟื้นตัวช้าเช่นกัน แม้แต่สหรัฐอเมริกา ที่การฟื้นตัวยังไม่ราบรื่นนัก ยังมีบางช่วงมีการจ้างงานน้อย ขณะที่บางช่วงก็มีการจ้างงานมาก ส่วนยุโรป ยังมีหลายเรื่องที่ต้องเจรจากับอังกฤษ รวมถึงจับตาดูความไม่เข้มแข็งของสถาบันการเงินยุโรป ที่จะเป็นอุปสรรคต่อการฟื้นตัวของยุโรปได้ ซึ่งการฟื้นตัวช้าของเศรษฐกิจโลกจะกระทบต่อการส่งออกของไทย และของโลก

ส่วนตลาดอาเซียน ซึ่งมีประเทศคู่แข่งที่น่าจับตา โดยเฉพาะเมียนมา ที่มองกันว่าในปี 2560 จะเป็นดาวดวงเด่นในอาเซียน มีการเปลี่ยนแปลงด้านการลงทุน จะมีการพัฒนาระบบสาธารณูปโภค ที่จะดึงดูดทุนต่างชาติเข้าไปได้ ดังนั้นไทยไม่ควรตกกระแส และควรเข้าไปหาโอกาสด้านการลงทุนที่คนไทยถนัด เช่น การขายวัสดุก่อสร้าง การรับงานก่อสร้าง ที่ไทยน่าเข้าไปมีส่วนร่วมด้วย ส่วนเวียดนามขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจเร็วอยู่แล้ว สิ่งที่ต้องจับตาดูคือเสถียรภาพทางการเงินในขณะที่การลงทุนในภาคอุตสาหกรรมไปเร็ว ระบบสาธารณูปโภคก็จะตามมา ดังนั้นเมื่อเวียดนามเริ่มมีเสถียรภาพทางการเงิน เศรษฐกิจเวียดนามก็จะแข็งแรงขึ้น จะดึงดูดเงินทุนได้มากกว่านี้ ซึ่งล่าสุดอัตราเงินเฟ้อในเวียดนามดีขึ้น โดยมีอัตราเงินเฟ้อน้อยลง ซึ่งประเทศคู่แข่งเหล่านี้เราจำเป็นต้องจับตาดูอย่างใกล้ชิด

 สู้เวทีโลก ไทยยังปรับตัวได้ช้า

ประธานส.อ.ท.กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า ขณะนี้นั่งเก้าอี้ประธานส.อ.ท.มาเกือบ 5 เดือนมองเห็นปัญหาการแข่งขัน การต่อสู้ในเวทีการค้าที่รุนแรงขึ้นเพราะมีมาตรการต่างที่ไม่ใช่ภาษีมาเกี่ยวข้องมากขึ้น ในขณะที่สมาชิกบางรายโดยเฉพาะวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(เอสเอ็มอี)ยังมองเห็นปัญหาไม่ชัดเจน โดยเฉพาะการต่อสู้ การแข่งขันในเวทีโลก ซึ่งอุตสาหกรรมเราต้องปรับตัว แต่ขณะนี้เรายังปรับตัวได้ช้ามาก และสิ่งที่ผมพยายามทำคือ ฉายภาพให้เห็นข้างหน้าว่า เราจะไปถึงเส้นชัยได้อย่างไร เอาภาพเหล่านี้ไปปรับปรุงให้ได้และผมยังเชื่อว่าเอสเอ็มอีเมื่อไหร่ก็ตามที่ปรับตัวได้ ก็จะทำได้เร็ว ซึ่งเรื่องเหล่านี้ผมคงต้องพูดให้ครบ 23 ครั้ง จึงจะเกิดการเปลี่ยนแปลง เพราะตามสถิติพูดกันว่า พูดอะไรให้คนยอมรับได้นั้น จะต้องพูดถึง 23 ครั้ง ซึ่งตอนนี้ก็มีกระทรวงอุตสาหกรรมมาช่วยพูดด้วยโดยเฉพาะการไปสู่อินดัสตรี 4.0 ซึ่งสอดคล้องกับไทยแลนด์ 4.0

“ฉะนั้นสังคม 4.0 คนไทย 4.0 อุตสาหกรรม4.0 เกษตรกรรม 4.0 จะต้องไปในทิศทางเดียวกัน ซึ่งตอนนี้ในแง่อุตสาหกรรมก็ขับเคลื่อนแล้ว หลังจากที่ถูกแรงกระแทกจากคู่แข่งมากขึ้น ซึ่งการแข่งขันก็ไม่รอใคร ส่วนคนไทย 4.0 ก็ต้องไปพูดเรื่องการศึกษา การปรับทักษะคน”

สำหรับสังคม 4.0 ก็ต้องบ่มเพาะเป็นสังคมฐานความรู้ เน้นให้ความรู้ต่อประชาชน และสังคมก็ต้องมาจากการปลูกฝังให้อยู่บนพื้นฐานของความรู้ ความเป็นจริง ไม่ใช่ขึ้นอยู่กับกระแส ส่วนเกษตร 4.0 ก็ต้องใช้องค์ความรู้ทางการตลาด ยกระดับให้เป็นผู้ประกอบการ เพราะมีที่ดิน มีวัตถุดิบอยู่แล้วก็ต้องรู้จักแปรรูป และศึกษาตลาด รู้วิธีผลิต และการลดต้นทุน เหล่านี้ถ้าทำได้พร้อมกันก็มั่นใจว่า จะยกระดับประเทศได้ เพราะสุดท้ายแล้วทั้งหมดนี้ก็จะไปอยู่ที่คนไทย 4.0 โดยคนไทยจะมีองค์ความรู้อยู่ในตัว เป็นคนไทยที่มีทักษะเรียนรู้ตลอดชีวิต และจะเป็นคนไทยที่ลึกซึ้งในปรัชญาพอเพียง ดังนั้นคนไทย 4.0 จะมีทั้งความรู้ และมีภูมิคุ้มกัน ฉะนั้นถ้ารัฐบาลฉายภาพตรงนี้ออกมาได้สำเร็จไทยแลนด์ 4.0 ก็จะไปได้เร็วขึ้น

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,195 วันที่ 25 - 28 กันยายน พ.ศ. 2559