กนง.สั่งเกาะติดทัวร์ศูนย์เหรียญหวั่นกระทบจีดีพี

27 ก.ย. 2559 | 09:00 น.
กนง.เตรียมทบทวนผลกระทบปราบทัวร์ศูนย์เหรียญกระเทือนเศรษฐกิจ หลังผู้ประกอบการส่งสัญญาณกังวลหนัก เหตุมาตรการรัฐยังไม่ชัดเจน รับภาคท่องเที่ยวหนุนจีดีพีสูงสัดส่วนกว่า 15% สั่งประมวลยอดยกเลิกจองไฟล์ทบิน-โรงแรม พร้อมจับตาเศรษฐกิจโลก เพิ่มความเสี่ยงเศรษฐกิจไทย คงประมาณการโต 3.2%

นายจาตุรงค์ จันทรังษ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และในฐานะเลขานุการคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) แถลงรายงานโยบายการเงิน ฉบับเดือนกันยายน 2559 ว่า ธปท.เตรียมประเมินผลกระทบจากมาตรการปราบปรามทัวร์ศูนย์เหรียญใหม่จากครั้งก่อน ที่คาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวจะลดลงในปีนี้ประมาณ 2 แสนคน และในปี 2560 ลดลงจำนวน 1 แสนคน ซึ่งการประเมินผลรอบใหม่นี้ เนื่องจากผู้ประกอบการมีความกังวลมากขึ้น ประกอบกับมาตรการภาครัฐที่จะเข้ามาดูแลในเรื่องดังกล่าวยังมีความไม่ชัดเจน ซึ่งอาจจะมีผลต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) เนื่องจากภาคการท่องเที่ยวมีสัดส่วน 15% ของจีดีพี เพิ่มขึ้นจากในช่วง 5 ปีก่อน ที่มีสัดส่วน 9-10% ของจีดีพี โดยในช่วงระยะ 3 ปีที่ผ่านมา ส่วนใหญ่เพิ่มขึ้นจากจำนวนนักท่องเที่ยวจีน

ทั้งนี้ ธปท.จะมีการประมวลผลกระทบรอบด้าน โดยจะขอดูตัวเลขการยกเลิกทั้งในส่วนของเที่ยวบินของสายการบิน การจองโรงแรม ภัตตาคาร เป็นต้น เพื่อนำมาประมวลผลอีกรอบ คาดว่าจะมีผลกระทบจากทัวร์ศูนย์เหรียญมากขึ้น โดยจะเห็นผลกระทบปลายปีนี้ถึงต้นปี 2560 ซึ่งเป็นความเสี่ยงด้านต่ำที่เพิ่มขึ้นจากประมาณการครั้งก่อนที่คาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวในปี 2559 จะลดลงเหลือ 33.6 ล้านคน จากเดิมอยู่ที่ 34.0 ล้านคน และในปี 2560 จากระดับ 36.7 ล้านคน ลดลงเหลืออยู่ที่ 36.3 ล้านคน

ขณะที่ภาพรวมเศรษฐกิจไทยยังคงขยายตัวดีขึ้น แต่ความเสี่ยงระยะข้างหน้าโน้มไปด้านต่ำมากขึ้น โดยปัจจัยเสี่ยงมาจากเศรษฐกิจโลกและคู่ค้าชะลอตัวลง โดยธนาคารกลางของประเทศเศรษฐกิจยังคงใช้นโยบายการเงินผ่อนคลาย โดยเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่คาดว่าจะเติบโตอยู่ที่ 1.9% ปรับเหลือ 1.5% และสหราชอาณาจักร ทำประชามติ/โหวตออกจากสหภาพยุโรป (Brexit)จะเริ่มเห็นผลในปีหน้า โดยการเติบโตลดลงจาก 2.2% เหลือ 0.6% จากการปรับตัวของภาคธุรกิจ ขณะที่เอเชียชะลอตัวลงกว่าคู่ค้า โดยการเติบโตในปีหน้าจะเหลือ 3.5% จากระดับ 3.7% ส่วนจีนและญี่ปุ่นยังคงเติบโตชะลอตัวในอัตราทรงตัว

ส่วนประมาณการอัตราการขยายตัวเศรษฐกิจปีนี้อยู่ที่ 3.2% ที่ปรับเพิ่มขึ้นครั้งก่อนจากประมาณการเดิมอยู่ที่ 3.1% และปี 2560 อยู่ที่ 3.2% มาจากการบริโภคไตรมาส 2 ที่ขยายตัวดีขึ้นจากการเร่งซื้อรถยนต์รุ่นใหม่และมาตรการรัฐใช้ภาษีกระตุ้นด้านท่องเที่ยวในช่วงสงกรานต์ โดยปรับประมาณการขยายตัวจาก 1.8% เป็น 2.7% อย่างไรก็ดี ในระยะต่อไปการบริโภคของภาคเอกชนอาจจะชะลอลง แต่อยู่ในทิศทางการฟื้นตัวจากปัจจัยบวกเรื่องมาตรการรัฐที่ช่วยเหลือในภาคการเกษตร แต่ตัวฉุดจะเป็นรายได้จากการส่งออกทำให้รายได้ไม่ฟื้นตัว ส่วนในปี 2560 การบริโภคภาคเอกชนทรงตัวที่ระดับ 2.1%

ขณะที่การเติบโตปีนี้ยังคงได้รับแรงหนุนสำคัญจากการลงทุนของภาครัฐ และสูงกว่าประมาณการเดิม เนื่องจากมีความชัดเจนหลังลงประชามติ ทำให้มีความต่อเนื่องของโครงการลงทุนที่จะเกิดขึ้น เป็นผลให้มีเม็ดเงินการลงทุนเพิ่มขึ้น โดยธปท.ได้ปรับเป้าการลงทุนภาครัฐเพิ่มขึ้นอีก 1.8 หมื่นล้านบาท มาอยู่ที่ 1.54 ล้านล้านบาท ในปี 2560 ส่วนการลงทุนภาคเอกชนยังอยู่ระดับต่ำตามภาคการผลิตเพื่อส่งออกที่ยังขยายตัวไม่ดีนัก โดยปีนี้คาดว่ามูลค่าการส่งออกสินค้าจะมีอัตราการเติบโตติดลบอยู่ที่ 2.5% และในปี 2560 จะขยายตัวติดลบอยู่ที่ 0.5%

สำหรับอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานใกล้เคียงกับที่เคยประเมินไว้ โดยคาดว่าปีนี้เงินเฟ้อพื้นฐานจะอยู่ที่ 0.8 % และปี 2560 อยู่ที่ 1.0 % แต่ธปท.ได้ปรับลดอัตราเงินเฟ้อทั่วไป ต่ำกว่าประมาณการณ์เดิมมาอยู่ที่ 0.3% จากเดิม 0.6% และได้ปรับลดเงินเฟ้อทั่วไปปี 2560 ลงเหลือ 2.0 % จาก 2.2 % เนื่องจากราคาน้ำมันยังคงอยู่ในระดับต่ำกว่าที่คาดการณ์

“ความเสี่ยงเศรษฐกิจในระยะข้างหน้าโน้มไปด้านต่ำกว่าประมาณการมากขึ้น ส่วนหนึ่งมาจากเศรษฐกิจโลกและคู่ค้าขยายตัวต่ำกว่าคาด ส่วนผลกระทบจากภาคการท่องเที่ยวมีมากขึ้นจากมาตรการปราบปราบทัวร์ศูนย์เหรียญ ส่วนความเสี่ยงด้านบวก จะมีเรื่องการลงทุนภาครัฐและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่จะส่งผลต่อการขยายตัวดีและต่อเนื่อง ส่วนนโยบายการเงินยังคงเอื้อต่อการฟื้นตัวเศรษฐกิจ โดยจะรักษา Policy Space ความสามารถในการดำเนินนโยบายไว้เป็นสำคัญ”

อย่างไรก็ดี ประเด็นที่ธปท.ยังคงติดตามต่อเนื่อง จะเป็นเรื่องพฤติกรรมแสวงหาผลตอบแทนที่สูงกว่า (Search for Yield) เนื่องจากภายใต้ภาวะอัตราดอกเบี้ยในประเทศที่อยู่ในระดับต่ำเป็นเวลานาน ทำให้เกิดผลิตภัณฑ์การเงินการลงทุนใหม่ๆ เกิดขึ้น โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ที่มีความเสี่ยงสูงขึ้นจากการลงทุน เช่น หุ้นกู้เอกชน ออกมาค่อนข้างมาก ซึ่งจะมีหุ้นกู้เอกชนบางรายที่ไม่มีการจัดอันดับความเสี่ยง หรือ Un Rated Bond ซึ่งจะเป็นความเสี่ยงต่อผู้ลงทุนที่อยากได้ผลตอบแทนสูงแต่ไม่ได้คำนึงถึงความเสี่ยง โดยผู้เสนอขายอาจจะต้องให้ข้อมูลมากขึ้น สิ่งเหล่านี้ถือเป็นความเสี่ยงเพิ่มเติมที่อาจกระทบต่อเสถียรภาพเศรษฐกิจและการเงินได้

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,195 วันที่ 25 - 28 กันยายน พ.ศ. 2559