ผ่ากฎหมายขายตรงใหม่ เพิ่มโทษหนักสกัดจุดอ่อนอุดช่องโหว่กม.เก่า

27 ก.ย. 2559 | 04:00 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

ในที่สุดความพยายามแก้ไขพระราชบัญญัติขายตรงและตลาดแบบตรง พ.ศ. 2545 ของสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ก็เป็นผลสำเร็จ เมื่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 20 กันยายนที่ผ่านมาได้เห็นชองร่างกฎหมายดังกล่าว หลังจากสคบ. และสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ได้ร่วมกันทบทวนร่างกฎหมายใหม่ ตามความเห็นของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือสนช. โดยปรับปรุงแนวทางการควบคุมธุรกิจขายตรงและตลาดแบบตรงให้รัดกุมมากขึ้น และให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน ด้วยการกำหนดบทลงโทษสำหรับผู้ประกอบการให้รุนแรงขึ้น เพื่อป้องกันการเอาเปรียบผู้บริโภค พร้อมกับส่งเสริมให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี และโอท็อป เข้ามาเป็นผู้ประกอบธุรกิจได้สะดวกขึ้น

[caption id="attachment_101285" align="aligncenter" width="700"] กฎหมายลูกที่ต้องออกเพิ่มเติม 9 ฉบับ กฎหมายลูกที่ต้องออกเพิ่มเติม 9 ฉบับ[/caption]

โดยสาระสำคัญของเนื้อหากฎหมายที่วางกรอบการปรับปรุง มีทั้งกำหนดหลักเกณฑ์ในการประกอบธุรกิจขายตรงและตลาดแบบตรงให้มีความชัดเจน และเหมาะสม เพื่อให้มีหลักประกันว่าผู้บริโภคจะได้รับความคุ้มครอง หากได้รับความเสียหายจากผุ้ประกอบการที่ไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ซึ่งผู้ประกอบการจะต้องดำเนินการใน 6 ประเด็นหลัก ได้แก่ 1.การจดทะเบียนประกอบธุรกิจ 2. การวางหลักประกัน 3. การจัดทำเอกสารการซื้อขายสินค้าหรือบริการ 4. หลักเกณฑ์การโอนกิจการ การเลิกกิจการ 5. เหตุที่นายทะเบียนจะเพิกถอนใบอนุญาต และ 6. การกำหนดบทลงโทษให้เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน

เพิ่มโทษคุกแชร์ลูกโซ่

สาระสำคัญของกฎหมายฉบับดังกล่าว จะมุ่งเน้นในเรื่องการกำหนดคุณสมบัติของผู้ที่จะมาจดทะเบียนเพื่อขอรับใบอนุญาตประกอบธุรกิจ โดยจะแยกธุรกิจขายตรงและธุรกิจตลาดแบบตรงออกจากกัน เพื่อป้องกันปัญหาแชร์ลูกโซ่ โดยผู้ที่จะมาขอจดทะเบียนรับใบอนุญาตธุรกิจขายตรง จะต้องมีสถานะเป็นบริษัทมหาชนจำกัด และบริษัทจำกัด หรือห้างหุ้นส่วนที่เป็นนิติบุคคล คือ ห้างหุ้นส่วนจดทะเบียนและห้างหุ้นส่วนจำกัดเท่านั้น เพราะมีความน่าเชื่อถือในทางธุรกิจมากกว่าห้างหุ้นส่วนสามัญ

ส่วนทุนจดทะเบียนของธุรกิจขายตรง ต้องมีทุนจดทะเบียนชำระแล้วไม่ต่ำกว่า 5 ล้านบาท ถือเป็นการปรับลดวงเงินจากเดิมที่กำหนดไว้ไม่ต่ำกว่า 10 ล้านบาท แต่ผู้ที่ประกอบธุรกิจตลาดแบบตรง ไม่ได้กำหนดเรื่องทุนจดทะเบียนไว้ เนื่องจากไม่ต้องการให้ส่งผลกระทบต่อธุรกิจเอสเอ็มอี โอท็อป และผู้ประกอบการออนไลน์

ขณะที่บทลงโทษ สำหรับธุรกิจขายตรงใดที่ไม่จดทะเบียนจะมีโทษจำคุกไม่เกิน 1ปี ปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และมีค่าปรับรายวันหากยังฝ่าฝืนปรับไม่เกินวันละ 2 หมื่นบาทต่อวัน เพิ่มขึ้นจากวันละ 1 หมื่นบาท ส่วนธุรกิจตลาดแบบตรง มีโทษจำคุกไม่เกิน 1ปี ปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และมีค่าปรับวันละ 1 หมื่นบาท ซึ่งเป็นอัตราโทษที่กำหนดไว้แต่เดิม

ออกกฎหมายลูกเพื่อความชัดเจน

หลังจากพ.ร.บ.ขายตรงฯ ที่ถือเป็นกฎหมายแม่มีผลบังคับใช้แล้ว หลังจากนี้สคบ.จะต้องไปดำเนินการออกกฎหมายลูกในประเด็นสำคัญๆ อีก 9 ฉบับ เพื่อให้การบังคับใช้และการปฏิบัติมีความรัดกุมมากยิ่งขึ้น ซึ่งยังต้องมีประเด็นที่จะต้องดำเนินการไม่ว่าจะเป็น เรื่อง หลักเกณฑ์ และระยะเวลาการส่งรายงานเกี่ยวกับการประกอบธุรกิจขายตรงและตลาดแบบต่อนายทะเบียน เรื่องหลักเกณฑ์ และวิธีการ การยื่นคำขอประกอบธุรกิจขายตรงและตลาดแบบตรง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข การวางหลักประกันต่อนายทะเบียน เพื่อเป็นหลักประกัน การเปิดบัญชีเงินฝากและการเบิกจ่ายเงินจากบัญชีเงินฝาก สำหรับหลักประกันที่เป็นเงินสด รายการที่กำหนดในแบบสัญญา หลักเกณฑ์ วิธีการ การขอโอนกิจการ และการแก้ไขทะเบียน การประกอบธุรกิจขายตรง หรือตลาดแบบตรง หลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข และระยะเวลา การยกเลิกการประกอบธุรกิจขายตรง หรือตลาดแบบตรง และ หลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข การดำเนินการสอบหาข้อเท็จจริง และวินิจฉัยกรณีผู้บริโภคได้รับความเสียหายจากกการกระทำของผู้ประกอบการขายตรงหรือตลาดแบบตรง ซึ่งประเด็นต่างๆ เหล่านี้ เพื่อเป็นการกำหนดรายละเอียดให้เกิดความชัดเจนในทางปฏิบัติ

[caption id="attachment_101284" align="aligncenter" width="335"] อำพล วงศ์ศิริ เลขาธิการสคบ. อำพล วงศ์ศิริ เลขาธิการสคบ.[/caption]

ผลงานเลขาฯก่อนเกษียณ

สำหรับกฎหมายขายตรงฉบับนี้ ถือเป็น 1 ในกฎหมายหลายฉบับที่นายอำพล วงศ์ศิริ เลขาธิการสคบ. คนปัจจุบัน ที่ ต้องการจะปรับแก้ไขและให้มีผลบังคับใช้ ภายใต้การบริหารงานของตนเอง และถือเป็นภารกิจเร่งด่วนก่อนที่จะเกษียณอายุราชการภายในเดือนกันยายนนี้ ซึ่งการแก้ไขกฎหมายขายตรงดังกล่าว จะมีส่วนสำคัญที่ช่วยแก้ไขปัญหาขายตรงที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการกำหนดวงเงินประกัน เพื่อนำมาใช้สำหรับเป็นกองทุนเยียวยาเมื่อผู้บริโภคได้รับความเดือดร้อนจากการซื้อสินค้าขายตรง ปัญหาการซื้อขายใบอนุญาตประกอบธุรกิจ หรือการสวมใบอนุญาตที่นำมาซื้อการก่อปัญหาแชร์ลูกโซ่ต่างๆ

ไม่เพียงกฎหมายขายตรงฉบับดังกล่าว สคบ.ยังมีกฎหมายที่อยู่ระหว่างการปรับปรุงแก้ไขและเพิ่มเติม ไม่ว่าจะเป็นร่างพระราชบัญญัติความรับผิดต่อความชำรุดบกพร่องของสินค้า พ.ศ..... ร่างพระราชบัญญัติการแจ้งเตือนภัยและจัดการสินค้าที่ไม่ปลอดภัยต่อผู้บริโภค พ.ศ..... ประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่องให้ธุรกิจการให้บริการดูแลสุขภาพอายุ คนทุพพลภาพ และผู้ป่วยตามสถานที่อยู่อาศัยเป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา พ.ศ.2556 และเรื่องให้ธุรกิจเสริมความงามเป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา พ.ศ.2556 ซึ่งถือว่าเป็นการบูรณาการการทำงานของสคบ. และเพิ่มเครื่องมือที่จะนำมาบังคับใช้ให้ผู้บริโภคได้รับความคุ้มครองมากที่สุด

Photo : Pixabay
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,195 วันที่ 25 - 28 กันยายน พ.ศ. 2559