‘พิชญ์’จุดพลุศึกบรอดแบนด์ ทรูปักธงสู้ 3BB /ทีโอทีโชว์แผนลงทุน 1.6 ล้านพอร์ต

27 ก.ย. 2559 | 14:00 น.
ตลาดอินเตอร์เน็ตบรอดแบนด์ความเร็วสูงแข่งเดือด หลัง “พิชญ์”เปิดเผยยุทธการ 3 ไม่ 1 ลด ลั่น! “3BB” ปีหน้าคว้าลูกค้า 3 ล้านรายส่วน “ทรู” แจงแข่งกันมาตลอด ด้าน “ทีโอที” มีแผนขยายโครงข่ายเพิ่มอีก 1.6 ล้านพอร์ต ยอมรับตลาดแข่งขันสูงมาก

[caption id="attachment_101363" align="aligncenter" width="700"] ผู้ให้บริการบรอดแบนด์ในประเทศไทย ผู้ให้บริการบรอดแบนด์ในประเทศไทย[/caption]

นายชาญ บูลกุล หรือ "มาชานลี" ประธานกรรมการบริหาร บมจ. บรู๊คเคอร์ กรุ๊ป (BROOK) และ ในฐานะที่ปรึกษาการเงินของกลุ่มจัสมิน ที่ให้สัมภาษณ์พิเศษกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า JAS ไม่ได้ขายหุ้นให้กับนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ เหตุผลสำคัญ คือ ต้องการพุ่งเป้าขยายธุรกิจบรอดแบนด์ภายใต้ชื่อ "3BB" ซึ่งเป็นธุรกิจหลักของกลุ่ม โดยตั้งเป้าในปี 2560 มีฐานลูกค้าเพิ่มขึ้นเป็น 3 ล้านราย

"เราไม่มีมือถือทำก็ไม่เป็นไร เราทำเก่งเรื่องบรอดแบนด์อย่างเดียวก็พอใจแล้ว เพราะจำนวนผู้ใช้บริการอินเตอร์เน็ตขณะนี้ยังมีอัตราการเติบโตอยู่" นายชาญกล่าว

อย่างไรก็ตามผลประกอบการในไตรมาส 2/2559 ปรากฏว่า 3BB อยู่ภายใต้การบริหารของ บริษัท ทริปเปิลที บรอดแบนด์ จำกัด (มหาชน) มีลูกค้าเพิ่มขึ้นสุทธิ 120.642 รายเมื่อเทียบกับไตรมาส1/2599 จำนวนลูกค้าเพิ่มสุทธิอยู่ที่ 85.773 รายหรือเพิ่มขึ้น 41% ซึ่ง ณ สิ้นปี 2558 มีลูกค้ามากกว่า 2 ล้านราย

นอกจากนี้แล้ว 3BB ได้ลงโฆษณาทางสถานีโทรทัศน์ในข้อความว่า "3BB ให้บริการถึง 8 หมื่นบ้านแล้วทั่วประเทศ"
ขณะที่ แหล่งข่าวจากบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวเพิ่มเติมว่า อินเตอร์เน็ตบรอดแบนด์ กลุ่มทรูได้ให้บริการภายใต้ชื่อ "ทรูออนไลน์" ปัจจุบันมีลุกค้าจำนวนทั้งสิ้น 2.6 ล้านราย ซึ่งผู้ประกอบการทุกค่ายแข่งขันกันอยู่แล้ว
"เราแข่งกับ "3BB" มาตลอดเพราะ เขา เป็นเบอร์สองในตลาดอยู่ขณะนี้ เช่นเดียวกับธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่กลุ่มทรูก็แข่งขันเช่นเดียวกัน"

ส่วนทางด้านแหล่งข่าวจากบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การแข่งขันค่อนข้างสูง หรือ "Red Ocean" (การแข่งขันที่มีคู่แข่งมากราย) เพราะผู้ประกอบการทุกรายมีความเชี่ยวชาญในการวางไฟเบอร์ออพติก เช่นเดียวกับ ทีโอที ซึ่งปัจจุบันมีจำนวนลูกค้า 1.5 ล้านราย มีพื้นที่ครอบคลุมจำนวน 3 หมื่นหมู่บ้าน และ ขณะนี้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือ ดีอี มีแผนขยายอินเตอร์เน็ตหมู่บ้านเพิ่มอีกและให้ ทีโอที ทำหน้าที่บริหารจัดการ

"ทีโอที ยังมีแผนลงทุนอีจำนวน 1.6 ล้านพอร์ตคิดเป็นมูลค่าหลายหมื่นล้านบาทอยู่ระหว่างการพิจารณา ซึ่งการลงทุนจะไม่ทับซ้อนกับโครงการของกระทรวงดีอีฯ ที่มีอยู่แล้วอย่างแน่นอน" แหล่งข่าวกล่าว

ขณะที่มีรายงานข่าวว่า บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด ให้บริการโครงข่ายบรอดแบนด์อินเตอร์เน็ตภายใต้ชื่อ "AIS FIBER" ได้คิดค้นนวัตกรรมการให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงแบบเติมเงิน เป็นรายแรกของไทย ในชื่อ "เน็ตหอ" เพื่อตอบสนองความต้องการใช้งานของกลุ่มนิสิต นักศึกษา ที่พักอาศัยตามหอพักโดยเฉพาะ ด้วยราคา เริ่มต้น ความเร็ว 15/5 เมกะบิต เพียง 500 บาท ต่อ 30 วัน โดยทุกแพ็กเกจ ฟรี! ค่าติดตั้งพร้อมอุปกรณ์ เป็นต้น ไม่ต้องทำสัญญารายปี ใช้แค่ไหน เติมเงินเท่านั้น เพื่อกระจายสัญญาณไปยังห้องพักแต่ละห้อง จึงให้ความเร็วได้มากขึ้น โดยไม่ต้องแบ่งปันความเร็วกับห้องข้างเคียง ซึ่งปัจจุบัน เน็ตหอ โดย เอไอเอส ไฟเบอร์ ได้เปิดให้บริการแล้ว ที่หอพักบริเวณรอบมหาวิทยาลัย ทั้งในกรุงเทพฯ และปริมณฑล อาทิ ย่านรังสิต, ศาลายา, งามวงศ์วาน รวม 20 อาคาร ครอบคลุม 4,704 ยูนิต และวางแผนขยายเพิ่มอีกเป็น 900 อาคารภายในสิ้นปี 2559

อนึ่งเมื่อเร็วๆนี้ นายพิชญ์ โพธารามิก ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท จัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) หรือ JAS ออกมาไขคำตอบหลังจากทำคำเสนอซื้อ หรือ "เทนเดอร์ ออฟเฟอร์" เมื่วันที่ 19 กันยายนที่ผ่านมา ด้วยการซื้อหุ้น JAS รวมถึงใบสำคัญแสดงสิทธิครั้งที่ 3 (วอร์แรนต์) หรือ JAS-W ส่งผลให้ถือครองหุ้นทั้งหมดเป็นสัดส่วน 60.49% และ 22.33% ตามลำดับ โดยมีต้นทุนเฉลี่ยในการซื้อครั้งนี้อยู่ที่ 7.23 บาทต่อ 1 หุ้นสามัญ และ 3.67 บาทต่อ 1 วอร์แรนต์ และ เป็นการทำรายการผ่าน บริษัทหลักทรัพย์ ไทยพาณิชย์ จำกัด หรือ SCBS ด้วยมูลค่า 4.25 หมื่นล้านบาท อย่างไรก็ตาม "นายพิชญ์" ได้ออกมาให้สัมภาษณ์ได้ใช้ยุทธการ 3 ไม่ 1 ลด คือ ไม่ขาย,ไม่ควบ,ไม่ออก (หมายถึง;ไม่นำบริษัทออกจากการจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย) แต่ ลดทุน (ลดทุนจดทะเบียน)

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,195 วันที่ 25 - 28 กันยายน พ.ศ. 2559