‘บิ๊กตู่’ โชว์วิสัยทัศน์เวทีโลก นำประเทศสู่ไทยแลนด์4.0/ชูโครงสร้างพื้นฐาน

27 กันยายน 2559
ในระหว่างวันที่ 19-24 กันยายน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เข้าร่วมประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยสามัญ ครั้งที่ 71 ณ สำนักงานใหญ่ นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา โดยในครั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์ ได้เข้าเฝ้าฯ พร้อมหารือทวิภาคีกับสมเด็จพระราชาธิบดีอับดุลเลาะห์ที่ 2 อิบน์ อัล-ฮุสเซน (His Majesty King Abdullah II Ibn Al-Hussein) สมเด็จพระราชาธิบดีแห่งราชอาณาจักรฮัชไมต์จอร์แดน โดยความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศจะครบรอบ 50 ปีในวันที่ 10 พฤศจิกายนนี้

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีไทย กล่าวขอบคุณที่เข้าใจและสนับสนุนคณะผู้แทนไทยในการประชุมสุดยอดองค์การความร่วมมืออิสลาม (OIC Summit) ครั้งที่ 13 ณ นครอิสตันบูล ที่ไทยอยู่ระหว่างขยายความร่วมมือกับ OIC ในด้านต่างๆ อาทิ วิชาการและการพัฒนาความมั่นคงทางอาหารโดยเฉพาะอาหารฮาลาล การท่องเที่ยว ความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นต้น

[caption id="attachment_101260" align="aligncenter" width="500"] ประชุมสมัชชาสหประชาชาติ ประชุมสมัชชาสหประชาชาติ[/caption]

ในวันที่ 20 กันยายน พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวถ้อยแถลงในการประชุมสุดยอดระดับผู้นำด้านผู้ลี้ภัยของประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ย้ำว่า ทุกประเทศต้องร่วมมือกัน ทั้งประเทศต้นทาง กลางทางและปลายทาง สำหรับไทยตลอด 40 ปีที่ผ่านมา ยืนยันว่า ดูแลผู้หลี้ภัยด้วยมนุษยธรรม รวมถึงให้ความช่วยเหลือผู้หนีภัยจากประเทศเพื่อนบ้านแล้วกว่าล้านคน และปัจจุบันให้ที่พักพิงแก่ผู้หนีภัยการสู้รบจากชายแดนด้านตะวันตกประมาณหนึ่งแสนคน ไม่นับรวมผู้โยกย้ายถิ่นฐานแบบไม่ปกติอีกกว่า 3 ล้านคนทั่วประเทศ

ทั้งนี้ รัฐบาลได้ปรับปรุงและบังคับใช้กฎหมาย จัดงบประมาณราว 180 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี หรือ 0.05 %ของ GDP สำหรับค่ารักษาพยาบาล การศึกษา และให้ความช่วยเหลือ หากเป็นผู้เสียหายในคดีอาญาไม่ต่างจากคนไทย ทั้งยังจัดทำระบบคัดกรองให้เป็นมาตรฐานสากล เพื่อลดความเสี่ยงการตกเป็นเหยื่อค้ามนุษย์ และอนุญาตให้เหยื่อและพยานทำงานได้อย่างถูกกฎหมายจนกว่าคดีจะสิ้นสุด โดยอาจขยายระยะเวลาทำงานอีกไม่เกิน 2 ปี ทั้งยังกำลังพิจารณา พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.)ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการบังคับบุคคลให้สูญหายเพื่อไม่ส่งบุคคลกลับไปสู่อันตรายด้วย ทั้งนี้ เห็นว่า นานาประเทศจะต้องร่วมกันรับผิดชอบแก้ไขปัญหานี้ เปิดพื้นที่เชิงนโยบายให้กับประเทศต้นทาง กลางทาง และปลายทางในการแก้ไขปัญหาภายในบริบทของตนเอง

ในวันที่ 21 กันยายน นายกรัฐมนตรีขึ้นกล่าวถ้อยแถลงในการเปิดอภิปรายทั่วไปในการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยสามัญ ครั้งที่ 71 ในหัวข้อ "เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน: แรงผลักดันสากลเพื่อเปลี่ยนแปลงโลกของเรา" สรุปสาระสำคัญ ได้ดังนี้

ปีที่แล้วประชาคมโลกได้รับรองวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน 2030 ถือเป็นการปรับกระบวนทัศน์ด้านการพัฒนาครั้งสำคัญของสหประชาชาติให้ครอบคลุมและสามารถรับมือกับปัญหาและความท้าทายใหม่ๆที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมา โดยไทยเป็นสมาชิกครบ 70 ปี และเป็นปีแรกที่เริ่มต้นนำวาระสำคัญของโลกสู่การปฏิบัติ กรอบเซนไดเรื่องการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ ความตกลงปารีสเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แผนปฏิบัติการระดมทุนเพื่อการพัฒนา และวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน

อย่างไรก็ดี เชื่อว่า การพัฒนาที่ยั่งยืนไม่สามารถเกิดขึ้นได้หากปราศจากสันติภาพและความมั่นคง หรือหากสิทธิของประชาชนถูกละเมิด และไม่ได้รับการยอมรับ กลับกันสันติภาพและความมั่นคงก็จะไม่ยั่งยืนหากขาดการพัฒนาที่เหมาะสม หรือสิทธิของประชาชนถูกลิดรอน ทั้ง 3 เสาหลักของสหประชาชาติดังกล่าวมีความเชื่อมโยงเกื้อกูลกันอย่างแยกกันมิได้ กรณีผู้โยกย้ายถิ่นฐานและผู้พลัดถิ่น เป็นตัวอย่างความเชื่อมโยงที่แสดงให้เห็นแล้วว่า ไม่มีประเทศใดหลุดพ้นจากผลกระทบของสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในอีกมุมหนึ่งของโลกได้ จึงต้องร่วมกันรับผิดชอบหาทางแก้ปัญหาต่างๆที่ต้นเหตุอย่างยั่งยืน

ปีนี้ไทยได้รับเกียรติให้ทำหน้าที่ประธานกลุ่ม 77 ได้วางเป้าหมายจะนำวิสัยทัศน์ระดับโลกข้างต้นมาปฏิบัติให้เกิดผลสำเร็จโดยประสาน เชื่อมโยงผลประโยชน์ของกลุ่มฯในเวทีต่างๆต่อเนื่อง อาทิ การเข้าร่วมประชุมของกลุ่ม 20 เป็นครั้งแรกที่นครหังโจว โดยได้นำเสนอประสบการณ์ และบทเรียนในการก้าวผ่านอุปสรรคด้านการพัฒนาโดยใช้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่เน้นการพัฒนาที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง เปิดโอกาสให้ชุมชนมีส่วนร่วมบนแนวคิดความพอประมาณ มีเหตุมีผล และมีภูมิคุ้มกัน โดยแลกเปลี่ยนประสบการณ์การนำหลักปรัชญาดังกล่าวไปประยุกต์ใช้ในประเทศกำลังพัฒนาในบริบทต่างๆกันแล้วกว่า 20 ประเทศ

ตลอดจนแลกเปลี่ยนประสบการณ์ซึ่งกันและกันเกี่ยวกับแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืนที่เหมาะกับบริบทของแต่ละประเทศผ่านความร่วมมือทวิภาคี และไตรภาคีในรูปแบบต่างๆ อาทิ กับประเทศหุ้นส่วนการพัฒนา และไทยพร้อมเชื่อมโยงความร่วมมือกับกลุ่มประเทศอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่ม BRICS อาเซียน ฯลฯ ที่ให้ความสำคัญกับวาระเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ตลอดจนส่งเสริมกลไกความร่วมมือระดับภูมิภาคต่างๆที่มีอยู่ ในเดือนตุลาคมนี้ไทยจะเป็นเจ้าภาพการประชุมสุดยอด Asia Cooperation Dialogue (ACD) ครั้งที่ 2 ซึ่งสามารถหารือเพื่อส่งเสริมประเด็น SDGs ในระดับภูมิภาคต่อไปด้วย

ขณะที่การประชุมสุดยอดอาเซียนเมื่อต้นเดือนที่นครเวียงจันทน์ เลขาธิการสหประชาชาติ กล่าวถึงความสำคัญของกลไกระดับภูมิภาคที่จะช่วยผลักดันให้เกิดสันติภาพและการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งผู้นำอาเซียนและไทยเชื่อว่า การดำเนินการเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน จะเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญในการเปลี่ยนแปลงโลกของเราไปในทางที่ดีขึ้น และการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในปีนี้นอกจากเรื่องเศรษฐกิจ ความเชื่อมโยงทางวัฒนธรรมที่ทำให้ประชาชนอาเซียนใกล้ชิดกันยิ่งขึ้นแล้ว การพัฒนาความร่วมมือและความเป็นหุ้นส่วนระหว่างกันยังนำไปสู่การลดความขัดแย้งและสร้างสันติภาพในภูมิภาคด้วย

ไทยให้ความสำคัญต่อการขับเคลื่อนสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนโดยจัดตั้งคณะกรรมการระดับชาติ ตั้งเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมฉบับที่ 12 และยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี นำเป้าหมายแปลงไปสู่การกำหนดนโยบายและมาตรการต่างๆ ให้ความสำคัญกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชน เสรีภาพ ลดความเหลื่อมล้ำ และส่งเสริมการเข้าถึงบริการพื้นฐานแก่ประชาชน เนื่องจากตระหนักว่า คนเหล่านี้สามารถมีส่วนร่วมในการผลักดัน เปลี่ยนแปลงสังคมและโลกอย่างยั่งยืนได้ นอกจากนี้ไทยได้ให้สัตยาบันข้อตกลงปารีสเป็นที่เรียบร้อยแล้ว พร้อมเรียกร้องให้ประเทศต่างๆเร่งให้สัตยาบันความตกลงฯโดยเร็ว เพื่อแสดงความรับผิดชอบร่วมกันในการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศร่วมกัน

ด้านเศรษฐกิจได้ดำเนินการภายใต้แนวคิด"ประเทศไทย 4.0" ซึ่งใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเป็นพลังขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างมีทิศทางและยั่งยืนทั้งในภาคเกษตร อุตสาหกรรม การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ตลอดจนส่งเสริมการศึกษา การวิจัยและพัฒนา ปรับปรุงกฎระเบียบให้เป็นสากล ขจัดปัญหาคอรัปชั่นเพื่อให้เอื้อต่อการทำธุรกิจและสร้างแรงจูงใจให้ภาคเอกชน ให้ไทยหลุดพ้นจากกับดักรายได้ปานกลางและให้ประชาชนมีส่วนร่วมกำหนดอนาคตประเทศ สนับสนุนสันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศ โดยเจ้าหน้าที่รักษาสันติภาพของไทยได้เข้าร่วมภารกิจต่างๆราว 20 ภารกิจ ซึ่งได้ใช้โอกาสนี้พัฒนาคนไปพร้อมกัน ส่งเสริมให้ประชาชนในพื้นที่สามารถใช้ชีวิตอย่างปกติสุข สร้างสังคมที่เข้มแข็งและพัฒนาประเทศต่อไปได้ในระยะยาว สอดคล้องกับการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนที่ 16 เรื่องสังคมที่สงบสุขและครอบคลุมสำหรับการพัฒนาที่ยั่งยืน

ทั้งยังนำเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติทั้ง 17 ข้อมาปฏิบัติ ซึ่งมองว่าไม่มีสูตรตายตัว แต่เป็นไปตามศักยภาพและเงื่อนไขที่แตกต่างกันซึ่งความร่วมมือระหว่างประเทศ และความเป็นหุ้นส่วนด้านการพัฒนาเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยสนับสนุนแนวทางการพัฒนาที่เหมาะสมกับบริบทของแต่ละประเทศ สร้างเอกภาพบนความแตกต่าง ด้วยการแลกเปลี่ยนประสบการณ์และแนวปฏิบัติที่ดีระหว่างกัน

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,195 วันที่ 25 - 28 กันยายน พ.ศ. 2559