ลุ้นก.ม.ห้ามตั้งรง.ริมเจ้าพระยา ลุ้นก.ม.ห้ามตั้งรง.ริมเจ้าพระยา

26 ก.ย. 2559 | 11:00 น.
กระทรวงอุตสาหกรรม จ่อคลอดประกาศกระทรวง ห้ามตั้งโรงงานทุกประเภทและทุกขนาด ในระยะห่าง 100 ริมแม่น้ำเจ้าพระยา เว้นแต่ขยายได้ในพื้นที่เดิมปล่อยน้ำทิ้งได้ไม่เกินที่ขออนุญาต ขณะที่ระยะห่างเกินกว่า 100-500 เมตร ตั้งโรงงานได้ แต่ต้องนำน้ำทิ้งกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ได้ทั้งหมด คาดมีผลในอีก 1-2 เดือนนี้ รอเพียงกฤษฎีกาพิจารณาก่อนส่งเรื่องกลับให้"จักรมณฑ์"ลงนาม

นายมงคล พฤกษ์วัฒนา อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม(กรอ.) เปิดเผยกับ"ฐานเศรษฐกิจ"ถึงความคืบหน้าในการออกกฎกระทรวงว่าด้วย การกำหนดทำเลที่ไม่เหมาะสมสำหรับการตั้งหรือขยายโรงงานอุตสาหกรรม จำพวกที่ 3 ในพื้นที่ลุ่มน้ำจ้าพระยา ว่า จากที่คณะรัฐมนตรี (ครม)เห็นชอบการแก้ไขกฎกระทรวง ออกตามความในพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)โรงงาน พ.ศ.2535 เพื่อให้อำนาจรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ไปออกประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมว่าด้วย การกำหนดทำเลที่ไม่เหมาะสมสำหรับการตั้งหรือขยายโรงงานอุตสาหกรรม จำพวกที่ 3 ในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ตั้งแต่ช่วงต้นปี 2558 ที่ผ่านมา

ทั้งนี้ ล่าสุดทางกฤษฎีกาได้พิจารณาแล้ว และเสนอเรื่องมายังกระทรวงอุตสาหกรรม ขอให้มีการเปลี่ยนแปลงข้อกฎหมายใหม่ จากเดิมที่จะออกเป็นประกาศกระทรวง เปลี่ยนมาเป็นกฎกระทรวง ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใหญ่กว่าแทน โดยให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมมีอำนาจในการประกาศเฉพาะพื้นที่การห้ามตั้งโรงงานในพื้นที่ลุ่มน้ำเท่านั้น ส่วนหลักเกณฑ์หรือทำเลที่ตั้งให้เป็นอำนาจในการพิจารณาของคณะรัฐมนตรี ซึ่งกฎกระทรวงดังกล่าวทางรัฐมนตรีว่ากระทรวงอุตสาหกรรมได้ลงนาม และเสนอเรื่องเพื่อรอเข้าการพิจารณาของครม.แล้ว หากผ่านการพิจารณาแล้วก็จะประกาศในราชกิจจานุเบกษาทันที เพื่อให้มีผลบังคับใช้ต่อไป ส่วนจะมีผลเร็วๆ เมื่อใดนั้น ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของครม.

สำหรับการออกกฎกระทรวงดังกล่าวนี้ เพื่อเป็นการป้องกันและอนุรักษ์แม้นํ้าเจ้าพระยา ไม่ให้ได้รับการปนเปื้อนจากมลพิษเพิ่มมากขึ้นจากที่เป็นอยู่โดยหลักเกณฑ์ดังกล่าว จะใช้บังคับกับพื้นที่ที่อยู่ริมแม่นํ้าเจ้าพระยา ใน 10จังหวัด ได้แก่ นครสวรรค์ อุทัยธานีชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ และกรุงเทพมหานคร เป็นท้องที่ที่ไม่เหมาะสมกับการตั้งหรือขยายโรงงานอุตสาหกรรมทุกประเภทและทุกขนาด ในระยะ 100เมตร จากริมฝั่งแม้นํ้าเจ้าพระยาถึงแนวเขตพื้นที่ประกอบการโรงงาน เว้นแต่เป็นการขยายโรงงานในพื้นที่เดิมที่มีการระบายนํ้าทิ้งไม่มากกว่าปริมาณนํ้าทิ้งที่ได้รับอนุญาตไว้เดิม

ขณะที่การตั้งโรงงานในระยะมากกว่า 100-500 เมตร จากริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยากำหนดเป็นพื้นที่ที่ไม่เหมาะสมกับการตั้งหรือขยายโรงงานทุกประเภท ชนิดหรือขนาด เช่นเดียวกัน ยกเว้นแต่เป็นการตั้งโรงงานที่มีระบบบำบัดน้ำเสียที่มีประสิทธิภาพสูง สามารถบำบัดน้ำเสียที่เกิดจากกระบวนการผลิตและนำกลับมาใช้ประโยชน์ได้ทั้งหมด หรือมีระบบเก็บกักที่สามารถเก็บกักน้ำทิ้งทั้งหมด โดยไม่ซึมลงสู่แหล่งน้ำใต้ดิน หรือเป็นการขยายโรงงานที่ไม่มีการระบายน้ำทิ้งมากกว่าประมาณน้ำทิ้งที่ได้รับอนุญาตไว้เดิม

นายมงคลกล่าวอีกว่า ทั้งนี้ การปรับปรุงกฎกระทรวงดังกล่าวกรอ.อยากจะให้ครม.พิจารณาโดยเร็ว เนื่องจากที่ผ่านมามีความล่าช้า ซึ่งมีผลต่อการตัดสินใจลงทุนของผู้ประกอบการที่จะขยายหรือตั้งโรงงานขึ้นมาใหม่ได้ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยานยนต์ของญี่ปุ่น ที่จะมีแผนขยายกำลังการผลิต รวมถึงการขยายสวนอุตสาหกรรม และโรงงานขนาดเล็กๆ จำนวนมาก ไม่สามารถตัดสินใจลงทุนเพิ่มได้ เพราะไม่ทราบว่าจะติดปัญหาจากการออกกฎกระทรวงดังกล่าวหรือไม่ ดังนั้น หากมีความชัดเจนเกิดขึ้นแล้ว จะช่วยให้การขับเคลื่อนด้านการลงทุนเดินหน้าต่อไปได้ และยังเป็นการช่วยป้องกันปัญหาการลักลอบทิ้งน้ำเสียได้อีกทางหนึ่ง

ส่วนการดำเนินงานด้านยุทธศาสตร์อุตสาหกรรมสีเขียว ในพื้นที่ 3 กลุ่มน้ำหลัก ได้แก่ กลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา กลุ่มแม่น้ำท่าจีนและแม่กลอง และลุ่มน้ำภาคตะวันออก นั้น ในปีงบประมาณ 2560 กรอ.ได้รับอนุมัติงบประมาณ 30 ล้านบาท ในการจัดทำโครงการส่งเสริมและพัฒนาสถานประกอบการสู่อุตสาหกรรมสีเขียว โดยตั้งเป้าหมายให้ภาคอุตสาหกรรมที่ตั้งอยู่ตามลุ่มน้ำดังกล่าว ได้รับการรับรองอุตสาหกรรมสีเขียวในระดับที่สูงขึ้นจำนวน 400 โรงงาน จากที่ได้ดำเนินการไปแล้วเกือบ 1 หมื่นโรงงาน

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,195 วันที่ 25 - 28 กันยายน พ.ศ. 2559