4 พันตึกกทม.ลุ้นขีดเส้นตาย30ก.ย.ยื่นตรวจแค่ 50%

25 ก.ย. 2559 | 06:00 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

สำนักโยธากทม.ขีดเส้นตาย30 ก.ย.นี้ ทุกอาคารต้องมีใบแจ้งรับรองความปลอดภัย หลังผ่อนผัน4,000 อาคาร 9 ประเภท จาก 1.4หมื่นอาคารทั่วกรุง เบี้ยวไม่ตรวจสอบนาน 9 ปี หลังกฎหมายบังคับใช้ล่าสุดเข้าโค้งท้ายยื่นตรวจแค่ 50%เหลือ 2,000 อาคาร ต้องจบสิ้นเดือนนี้ ด้าน “เมเจอร์” ยื่นฉลุยทุกโรงหากพ้นกำหนดปรับ 6 หมื่นบาท/ปรับเพิ่มอีกวันละ 1 หมื่นบาททันที ขณะที่เขตจตุจักร ยันตรวจตึกใหญ่ทุกปี

นายนพดล สายปัญญา ผู้อำนวยการกองควบคุมอาคาร สำนักการโยธากรุงเทพมหานคร เปิดเผย"ฐานเศรษฐกิจ" หลังจากกทม.ผ่อนผันให้ กว่า 4,000 อาคาร 9 ประเภท ทั่วกทม. ประกอบด้วย 1. อาคารสูง 2.อาคารขนาดใหญ่พิเศษ 3. ป้ายขนาดใหญ่ 4.โรงมหรสพ 5.อาคารชุมนุมคน 6. สถานบริการ 7. อาคารพักอาศัยรวม 8. โรงแรม และ 9.โรงงาน ต้องจ้างบริษัทหรือวิศวกรผู้ตรวจสอบอาคาร และเซ็นรับรองความปลอดภัยต่อการใช้อาคารมายื่นต่อเจ้าพนักงานท้องถิ่นกทม.ภายในวันที่ 30 กันยายน 2559

ทั้งนี้ โดยอาศัยตามอำนาจของกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์การตรวจสอบอาคาร พ.ศ. 2548 ออกตามความในพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)ควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 ซึ่งมีผลบังคับใช้จริงปี 2550 และจากการตรวจสอบพบว่า อาคารทั้ง 4,000 แห่ง เจ้าของอาคารยังไม่เคยจัดหาบริษัทตรวจสอบอาคารมาตรวจสอบความปลอดภัยในอาคารเลย นับตั้งแต่กฎกระทรวงมีผลบังคับใช้

ล่าสุด (ข้อมูล ณ วันที่ 20 กันยายน 2559) มีอาคารมายื่นแจ้งการตรวจสอบอาคารต่อเจ้าพนักงานกทม.แล้ว 50% หรือประมาณ 2,000 อาคาร ส่วนอีก 2,000 อาคาร คาดว่าอยู่ระหว่างดำเนินการจัดหาบริษัทตรวจสอบอาคารมาตรวจสอบให้ทันตามระยะเวลากำหนด คือ วันที่ 30 กันยายน 2559 นี้ หากไม่สามารถ ดำเนินการได้ทัน กทม.จะไม่ผ่อนผันอาคารดังกล่าว โดยจะแจ้งความดำเนินคดี โดยเบื้องต้น จะปรับ 6 หมื่นบาท และปรับรายวันๆละ 1 หมื่นบาทจนกว่าเจ้าของอาคารรายนั้นจะ จัดหาบริษัทตรวจสอบอาคารหรือ วิศวกรมาตรวจสอบอาคาร พร้อมออกใบรับรองดังกล่าว แต่ จะยังไม่ ใช้โทษจำคุก 3 เดือนตามที่กฎหมายกำหนด ซึ่งกทม.จะใช้วิธี จากเบาไปหาหนัก

ต่อข้อถามที่ว่า อีกจำนวน 2,000 อาคาร หรือ 50 % กับเวลาที่เหลืออีกไม่กี่วัน บริษัทจะนำหลักฐานการแจ้งตรวจสอบอาคาร มายื่นต่อกทม. ทันหรือไม่ ต่อเรื่องนี้ นายนพดล กล่าวว่า เจ้าของอาคารทุกรายต้องการเข้ามาอยู่ในระบบการตรวจสอบอาคารตามกฎหมายเพราะไม่ต้องการมีประวัติถูกดำเนินคดีและเสียค่าปรับรายวันๆ ละ 1 หมื่นบาท แต่เนื่องจากขั้นตอนในทางปฏิบัติ ค่อนข้างยุ่งยาก ตั้งแต่ เจ้าของอาคารจะต้องจัดหาจัดจ้างบริษัทผู้ตรวจสอบอาคาร และการนัดวันเวลามาตรวจ และเมื่อพบอุปกรณ์ดับเพลิงในอาคารชำรุดจะต้องรีบแก้ไข เช่น ปั๊มวาล์ว ดับเพลิงไม่อยู่ในสภาพใช้งาน บันไดหนีไฟ ไม่ได้มาตรฐานฯลฯ เจ้าของอาคารจะต้องแก้ไข ให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน จากนั้นวิศวกรผู้รับตรวจอาคารจึงจะเซ็นรับรอง แล้วนำใบแจ้งรับรองตรวจสอบอาคารมายื่นต่อกทม. หากไม่ทันต้องถูกดำเนินคดีและเสียค่าปรับดังกล่าว

"ที่ผ่านมาได้ผ่อนผัน 60 วันจนถึงสิ้นเดือนกันยายน นี้หลังจาก พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย สั่งให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นทั่วประเทศ โดยเฉพาะกทม. จะต้องตรวจสอบความปลอดภัยอาคารเสี่ยง ทุกประเภทโดยเฉพาะอาคาร 9 ประเภท เพื่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน โดยย้ำว่าทุกอาคารจะต้องปลอดภัย ซึ่งเดิมต้องให้แล้วเสร็จและให้ทุกอาคารเข้าระบบตามที่กฎหมายกำหนดภายในเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม แต่เนื่องจาก กทม.มีปริมาณอาคารมาก จึงต้องขยับเวลาออกไปดังกล่าว"

อย่างไรก็ดี ยืนยันว่า อาคาร 9 ประเภท ในกทม. จำนวน 4,000 อาคาร จากทั้งหมด 1.4 หมื่นอาคาร รวมทั้งอาคารทั่วไป 2 ล้านอาคารในกทม. โดยเฉพาะอาคารพาณิชย์ เก่าๆ ปัจจุบันเริ่มทยอยหายไปเนื่องจาก ผู้ประกอบการรวมแปลงทุบพัฒนาเป็นคอนโดมิเนียม อาทิ ทำเลสุขุมวิท ฯลฯ รวมทั้งอาคารร้างจำนวน 32 อาคารไม่อยู่ในข่ายอาคาร 9 ประเภท เพราะยังสร้างไม่แล้วเสร็จแต่ขาดทุนสร้างต่อ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นอาคารคอนโดมิเนียมกทม.รับประกันได้ว่า มีความปลอดภัยโครงสร้างอาคารมั่นคงแข็งแรง ซึ่งยอมรับมีเพียง ตึกแถวที่ประชานิเวศน์จำนวน 177 คูหาของสำนักการตลาดของ กทม. แห่งเดียว เท่านั้นที่เสี่ยงและที่ผ่านมา ได้มีการเตือนประชาชนผู้ใช้อาคารตั้งแต่ต้นเมื่อปีที่ผ่านมาว่าห้ามใช้อาคาร แต่ผู้ใช้อาคารจะขอใช้อาคาร ซึ่งขณะนี้ยืนยันขอใช้อาคารต่อไป เพราะ เป็นทำเล ทำมาหากินและอยู่อาศัย ส่วน 12 คูหาที่ถล่ม ผู้ใช้อาคารออกจากพื้นที่แล้ว ซึ่งสำนักงานเขตจตุจักรอยู่ระหว่างแจ้งความดำเนินคดีต่อผู้ใช้อาคารดังกล่าวหากไม่ออกจากพื้นที่แล้ว

ด้านนายสุรศักดิ์ ตรีจันทปกรณ์ หัวหน้าฝ่ายโยธา สำนักงานเขตจตุจักร กทม. กล่าวว่า อาคาร 9 ประเภทในเขตจตุจักร ขณะนี้มี จำนวน ไม่ถึง 500 อาคาร ซึ่ง ตรวจสอบเป็นประจำทุกปี และปี 2559 สำนักงานเขตมีเป้าหมาย ตรวจสอบ 20 อาคาร อย่างไรก็ดียอมรับว่า เจ้าของอาคารที่ไม่เข้าสู่ระบบตรวจสอบอาคารทุกปีนับจากก่อสร้างแล้วเสร็จเป็นเวลา1 ปีตามที่กฎหมายกำหนด เป็นเพราะเจ้าของอาคารมั่นใจว่าอาคารยังใหม่มีความมั่นคงแข็งแรงจึงไม่จำเป็นต้องจัดหาผู้ตรวจสอบอาคารมาดำเนินการให้เสียงบประมาณ หรือ อาคารเก่าแต่มั่นใจว่ามีความปลอดภัยก็จะไม่ตรวจสอบอาคาร ส่งผลให้อยู่ในข่ายกระทำผิดต่อกฎหมายตรวจสอบอาคาร ทั้งนี้ส่วนใหญ่จะเป็นอาคารประเภทพักอาศัย เช่นหอพัก อาพาร์ตเมนต์ คอนโดมิเนียมขนาดเล็ก โรงแรมขนาดเล็ก เป็นต้น

สำหรับอาคารขนาดใหญ่ ที่มีชื่อเสียง จะไม่หลบเลี่ยงที่จะจัดหาผู้ตรวจสอบมาเซ็นรับรอง เพราะเกรงว่าจะเสียชื่อเสียง ซึ่งอาคารที่อยู่ในข่ายที่สำนักงานเขตฯตรวจสอบ เป็นประจำทุกปี อาทิ อาคารสำนักงานปตท. ไทยรัฐ อีซูซุตรีเพชร สำนักงานธนาคารไทยพาณิชย์ ทหารไทย ไอทาวน์ เวอร์ เช็นทรัล สาขาลาดพร้าว และส่วนโรงแรมเป็นต้น

สำนักงานเขตมีแผนตรวจสอบทุกปี และเชื่อว่าทุกอาคารปลอดภัยด้วยโครงสร้างที่มั่นคงแข็งแรง แต่ กรณี 4,000 อาคารที่เลี่ยง ยอมรับว่าเจ้าของอาคาร ทราบว่ามีกฎหมายนี้บังคับแต่ขาดจิตสำนึก และ มั่นใจว่าอาคารของตนเองปลอดภัย แต่ไม่ควรประมาท เพราะอาคารใหม่อาจเสี่ยงได้

ส่วนอาคารที่ตลาดประชานิเวศน์ ที่เกิดเหตุการณ์ถล่ม 12 คูหา ขณะนี้สำนักงานเขตเข้ารื้อถอนและห้ามใช้อาคาร ขณะที่อาคารที่เหลือส่วนใหญ่ผู้ใช้อาคารยังไม่ยอมย้ายออก ซึ่งเรื่องนี้ต้องสอบถามทางสำนักงานตลาดว่าจะดำเนินการอย่างไร

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,194 วันที่ 22 - 24 กันยายน พ.ศ. 2559