BWGจ่อกินรวบโรงไฟฟ้าขยะอุตฯ ยื่นเสนอ10โครงการครอบคลุมนิคมฯ11แห่ง 50 MW

25 ก.ย. 2559 | 10:00 น.
เบตเตอร์ เวิลด์ กรีน หวังกินรวบโรงไฟฟ้าขยะอุตสาหกรรม 50 เมกะวัตต์ ขอยื่นเสนอขายไฟฟ้า 10 โครงการ ครอบคลุมนิคมอุตสาหกรรม 11 แห่ง ตามที่กกพ.ประกาศให้สร้างโรงไฟฟ้า ยันมั่นใจได้รับการคัดเลือก ชี้เข้มแข็งทั้งการจัดหาขยะฯและพันธมิตรที่เป็นผู้ผลิตไฟฟ้า หลังดึงเอ็กโก เสริมทัพเข้าร่วมทุน คาดหากได้หมดทุกโครงการใช้เงินลงทุนไม่ต่ำกว่า 5 พันล้านบาท ในช่วง 2 ปี

แหล่งข่าวจากบริษัท เบตเตอร์ เวิลด์ กรีน จำกัด (มหาชน) หรือ BWG ผู้ดำเนินการรับกำจัดกากอุตสาหกรรมรายใหญ่ เปิดเผยกับ"ฐานเศรษฐกิจ"ว่า จากที่คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพง.) ได้ออกประกาศรับซื้อไฟฟ้าจากขยะอุตสาหกรรมในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) เพื่อเป็นการส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนปี 2558 - 2562 ในปริมาณไม่เกิน 50 เมกะวัตต์ ไม่ต้องผ่านกระบวนการแข่งขันด้านราคา ซึ่งได้เปิดให้ผู้ประกอบการยื่นเสนอขายไฟฟ้าในวันที่ 22-28 กันยายน 2559 โครงการละไม่เกิน 10 เมกะวัตต์ และต้องตั้งอยู่ในพื้นที่อยู่ในนิคมอุตสาหกรรมตามที่กกพ.กำหนด และต้องจ่ายไฟฟ้าไม่เกินสิ้นปี 2562 นั้น

สำหรับการดำเนินงานของบริษัท มีการเตรียมความพร้อมไว้แล้ว และจะยื่นเสนอขายไฟฟ้าไปยังกกพ.จำนวน 10 โครงการ ตามพื้นที่ที่ได้ประกาศใน 11 พื้นที่ เช่น นิคมอุตสาหกรรมพิจิตร นิคมอุตสาหกรรมสหรัตนนคร นิคมอุตสาหกรรมบ้านหว้า นิคมอุตสาหกรรมปิ่นทอง นิคามอุตสาหกรรมแหลงฉบัง นิคมอุตสาหกรรมอมตะนคร นิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ นิคมอุตสาหกรรมเหมราช นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด นิคมอุตสาหกรรมราชบุรี เป็นต้น ซึ่งแต่ละโครงการมีกำลังการผลิตไม่เท่ากัน โดยมีตั้งแต่ 2-8 เมกะวัตต์ แต่เมื่อรวมแล้วน่าจะไม่เกิน 50 เมกะวัตต์ ตามที่มีการรับซื้อไว้ โดยจะใช้เงินลงทุนไม่ต่ำกว่า 5,000 ล้านบาท

ทั้งนี้ การเสนอการขายไฟฟ้าจากขยะอุตสาหกรรมดังกล่าว บริษัทมีความมั่นใจว่า จะได้รับการคัดเลือกจาก กกพ.เนื่องจากมีประสบการณ์ในการดำเนินด้านการจัดหากขยะอุตสาหกรรม ที่จะสามารถจัดหาขยะอุตสาหกรรมได้ตามหลักเกณฑ์ตามที่กำหนด และบริษัทก็มีโรงไฟฟ้าต้นแบบแห่งแรกของประเทศ ขนาด 9.4 เมกะวัตต์ ที่จะเปิดจ่ายไฟฟ้าในช่วงปลายปีนี้ และในระยะที่ 2 อีก 9.4 เมกะวัตต์ ที่จะเปิดจ่ายไฟฟ้าช่วงปลายปีหน้า ซึ่งใช้ขยะอุตสาหกรรมที่ผ่านการคัดแยกมาทำเชื้อเพลิงแข็งหรืออาร์ดีเอฟเป็นเชื้อเพลิง ประกอบกับบริษัทมีพันธมิตรที่เข้มแข็ง ซึ่งเป็นผู้ผลิตไฟฟ้าอยู่แล้ว เช่น บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) ที่ล่าสุดเพิ่มได้ลงนามบันทึกความเข้าใจ (เอ็มโอยู) ที่จะร่วมกันพัฒนาโรงไฟฟ้าจากขยะอุตสาหกรรม จึงทำให้มั่นใจว่าบริษัทจะได้รับการคัดเลือกให้เป็นผู้พัฒนาโรงไฟฟ้าขยะอุตสาหกรรมได้

แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าจะมีผู้แข่งขันหลายรายที่รับกำจัดกากอุตสาหกรรมของประเทศเข้ายื่นเสนอขายไฟฟ้าด้วย แต่ผู้ที่จะได้รับการคัดเลือก ก็ต้องขึ้นอยู่กับว่าบริษัทตัวเองมีความพร้อมแค่ไหน ซึ่งจะทำให้เกิดการแข่งขันสูง เพราะปริมาณการรับซื้อไฟฟ้าจากขยะอุตสาหกรรมมีจำกัด เพียงแค่ 50 เมกะวัตต์ ซึ่งในส่วนนี้มองว่าทางภาครัฐควรจะมีกายขยายปริมาณรับซื้อไฟฟ้าออกไปอีก เพราะปริมาณขยะอุตสาหกรรมมีจนวนมากในแต่ละปี 20-30 ล้านตัน ซึ่งนำมาใช้ผลิตไฟฟ้า 40-50 ตันต่อเมกะวัตต์ เท่านั้น อีกทั้ง ขบวนการนำมาเป็นเชื้อเพลิงก็ง่ายกว่าเมื่อเทียบกับการผลิตไฟฟ้าจากขยะชุมชนที่ภาครัฐประกาศรับซื้อไว้ถึง 500 เมกะวัตต์

ส่วนความคืบหน้าในการดำเนินงานนิคมอุตสาหกรรมพลังงานทดแทน หลังจากที่ได้ร่วมลงนามเอมโอยูกับทางการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) และการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(กนอ.) ไปแล้วนั้น ขณะนี้ได้มีการศึกษาความเป็นไปได้ของ 2 พื้นที่ ในภาคกลางและภาคตะวันออกเสร็จเรียบร้อยแล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างรอเพียงการเจรจากับพันธมิตรดังกล่าวว่าจะมีความสนใจร่วมลงทุนอย่างไร

นายวรวิทย์ โพธิสุข รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานพัฒนาธุรกิจในประเทศ บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือเอ็กโก เปิดเผยว่า การลงนามเอ็มโอยูดังกล่าว เนื่องจากทางเบตเตอร์ เวิลด์ กรีน เห็นว่าเอ็กโกมีความเชี่ยวชาญด้านธุรกิจไฟฟ้าอยู่แล้ว ที่จะมาช่วยเสริมความแข็งแกร่งของบริษัท ที่จะสามารถเข้าไปช่วยดำเนินการบริหารงานด้านโรงไฟฟ้าและซ่อมบำรุงได้ ประกอบกับบริษัทมีความสนใจที่จะมีธุรกิจใหม่ด้านพลังงานทดแทนจากขยะอุตสาหกรรม จึงเป็นโอกาสที่ดีที่ 2 บริษัทจะจับมือกัน ส่วนการจะร่วมทุนกันอย่างไรนั้น คงต้องหารือกันอีกครั้งหนึ่งหลังจากที่ผ่านการดัดเลือกโครงการจากกกพ.แล้ว

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,194 วันที่ 22 - 24 กันยายน พ.ศ. 2559