ชิ้นส่วนยานยนต์ตั้ง5ประเด็น ชงสศอ.ก่อนหนุนรถอีวี จับตา 28 ก.ย.เชิญ 150 รายถกอีก

25 ก.ย. 2559 | 06:15 น.
กลุ่มชิ้นส่วนยานยนต์ในส.อ.ท.จับมือสมาคมผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไทยยื่นหนังสือถึงสศอ.ชง5 ประเด็นขอให้รัฐพิจารณาอย่างรอบคอบในการส่งเสริมอีวีในประเทศ เพื่อไม่ให้เกิดความสูญเสียต่ออุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ ไล่ตั้งแต่ผลกระทบต่อซัพพลายเชนไปจนถึงการทำลายขยะแบตเตอรี่ บิ๊กผู้ผลิตรายใหญ่ จับตาภาพรวมตลาดชิ้นส่วนปีหน้ายังทรงๆ เพราะยังไม่มีนิวโมเดลออกมา

[caption id="attachment_100178" align="aligncenter" width="335"] โกวิทย์ ว่องกลกิจศิลป์  ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมชิ้นส่วนและอะไหล่ยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) โกวิทย์ ว่องกลกิจศิลป์
ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมชิ้นส่วนและอะไหล่ยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.)[/caption]

นายโกวิทย์ ว่องกลกิจศิลป์ ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมชิ้นส่วนและอะไหล่ยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) เปิดเผย”ฐานเศรษฐกิจ”ว่า ก่อนหน้านี้กลุ่มชิ้นส่วนและอะไหล่ยานยนต์ในส.อ.ท.ได้ร่วมกับนางอัชณา ลิมป์ไพฑูรย์ นายกสมาคมผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไทยยื่นหนังสือถึงนายศิริรุจ จุลกะรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม(สศอ.)ถึงความคิดเห็นต่อการส่งเสริมรถพลังงานไฟฟ้า(อีวี)ในประเทศใน 5 ประเด็นหลักที่ต้องการให้รัฐพิจารณาอย่างรอบคอบคือ

1.ผลกระทบต่อซัพพลายเชน(Supply Chain) และการจ้างงานในอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ ซึ่งปัจจุบันรถ1คันมีชิ้นส่วนประกอบนับหมื่นชิ้นในรถเครื่องยนต์สันดาปภายใน หรือรถICE โดยมีผู้ผลิตชิ้นส่วนทั่วประเทศราว 2,500 ราย เติบโตควบคู่มากับอุตสาหกรรมยานยนต์มากว่า 40 ปี และการที่ภาครัฐมีนโยบายส่งเสริมรถพลังงานไฟฟ้า ที่มีการใช้ชิ้นส่วนเพียงไม่กี่ชิ้นในการประกอบ ก็จะทำให้ผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ได้รับผลกระทบ เช่น ผู้ผลิตชิ้นส่วนในระบบPower Train,หม้อน้ำ ,เบรก,และผู้ผลิตTier2,Tier3 และอุตสาหกรรมสนับสนุนอื่นๆ รวมถึงแม่พิมพ์อาจจะต้องหายไปจาก Supply Chain

2.การลงทุนของภาคเอกชนกับโครงการของรัฐ กรณีนี้มองว่าหากมีการเปลี่ยนแปลงนโยบายจากเดิมที่มีการส่งเสริมในการผลิตรถปิกอัพ และรถประหยัดพลังงานหรือรถอีโคคาร์ ซึ่งเป็นตลาดหลักของประเทศ มาเป็นการสนับสนุนรถพลังงานไฟฟ้าอาจส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการที่มีการลงทุนเดิมจนเกิดการชะลอการลงทุนได้ ดังนั้นภาครัฐควรมีโรดแมปที่ชัดแจนเพื่อให้ผู้ประกอบการมีเวลาในการปรับตัวรองรับการเปลี่ยนแปลงนี้

3.การให้ความสำคัญกับมาตรฐานของสถานีชาร์จไฟและมาตรฐานอื่นๆที่เกี่ยวข้องซึ่งขณะนี้ยังไม่มีมาตรฐานตามสากล รวมถึงจำนวนสถานีชาร์จที่ให้บริการที่เพียงพอ รวมไปถึงภาครัฐจะต้องคำนึงถึงความต้องการใช้และกำลังผลิตของฟ้าด้วย รวมถึงต้นทุนและโครงสร้างค่าไฟฟ้า

4.นโยบายของรัฐบาลที่ผ่านมาสนับสนุนการลงทุนภาคอุตสาหกรรมให้พัฒนารถยนต์ประหยัดพลังงานพร้อมกับการใช้พลังงานทางเลือกจากพืชผลทางการเกษตร รวมทั้งสนับสนุนให้เกิดการปลูกพืชทางเศรษฐกิจเพื่อแปลงเป็นน้ำมันBio Diesel และGasoholซึ่งมีการปลูกอ้อย มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมันเป็นปริมาณล้านไร่ไปแล้ว หากเปลี่ยนนโยบายมาสนับสนุนอีวีเพียงอย่างเดียว จะทำให้มีผลกระทบต่อเกษตรกรเหล่านี้ได้

5.จะต้องพิจารณาถึงการกำจัดแบตเตอรี่เมื่อหมดอายุการใช้งาน เพราะแบตเตอรี่คือสารพิษอุตสาหกรรม จะต้องมีกรรมาวิธีกำจัดอย่างถูกต้องตามกฎหมายที่กำหนดไว้ ซึ่งเวลานี้นานาประเทศต้องออกมารณรงค์การแก้ปัญหาวิกฤติภาวะโลกร้อน

“กลุ่มยานยนต์ไม่ได้คัดค้านนโยบายรัฐที่สนับสนุนให้เกิดรถอีวี เพียงแต่ต้องการให้รัฐบาลพิจารณา5 ประเด็นอย่างรอบคอบก่อน ทั้งนี้วันที่28 กันยายนนี้ กลุ่มชิ้นส่วนยานยนต์ทั้งหมดราว 150 ราย ที่เป็นตัวแทนจากสมาคมผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไทยและกลุ่มชิ้นส่วนในส.อ.ท.จะมาหารือร่วมกันถึงผลกระทบ ที่จะเกิดขึ้นที่ไบเทค บางนาอีกรอบ”

ด้านแหล่งข่าวจากบริษัท ไทยซัมมิท ออโต พาร์ท อินดัสตรี จำกัด หรือ ไทยซัมมิท กรุ๊ป กล่าวถึงภาพรวมของอุตสาหกรรมชิ้นส่วนรถยนต์ปี2560 ว่า คงไม่ขยายตัวมาก หรือจะทรงๆตัวอยู่ หลังจากที่นักลงทุนต่างชาติมองว่าเศรษฐกิจไทยน่าจะชะลอตัวต่อไปอย่างน้อยอีก 2 ปี ซึ่งเกิดจากตัวแปรหลายตัว เช่น ปี 2560 ยังไม่มีนิวโมเดลออกมา แต่จะมีเพียงปรับเปลี่ยนหน้าตาเล็กน้อยโดยเฉพาะค่ายรถที่ออกรถรุ่นใหม่ออกมาเมื่อ 2 ปีที่แล้ว

“เวลานี้ยังไม่มีรถยนต์ค่ายไหนออกมาประกาศนิวโมเดลปี 2560-2561 ยกเว้นรถนำเข้าที่ยังมีเข้ามา”

สำหรับรถอีวีในไทยจะผลิตได้อย่างน้อยต้องใช้เวลา 10 ปีไปแล้ว ค่ายโตโยต้าถ้าสนใจจะผลิตรถอีวีก็ต้องเริ่มต้นที่ญี่ปุ่นก่อน จากนั้นถึงจะมามองในไทยว่าตลาดตอบรับแค่ไหน อีกทั้งการลงทุนประกอบรถอีวีต่อโรงงานต้องใช้เงินทุนราว 4,000 ล้านบาท ซึ่งเงินทุนดังกล่าวยังไม่รวมการลงทุนทำชิ้นส่วนและค่าคิดค้น เทคโนโลยี ส่วนรถอีวีบางค่ายที่มีอยู่แล้วก็ยังเหนื่อยเพราะตลาดในประเทศไทยยังไม่เข้าใจ และยังมีข้อจำกัดหลายเรื่องตั้งแต่สถานีชาร์จแบตเตอรี่”

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,194 วันที่ 22 - 24 กันยายน พ.ศ. 2559