เนเธอร์แลนด์ ร่วมพัฒนาเกษตรอินทรีย์ไทย

25 กันยายน 2559
เทรนด์ “รักษ์” สุขภาพ กำลังแรงไปทั่วโลก สะท้อนจากที่ผู้คนหันมาออกกำลังกายและบริโภคอาหารปลอดสารพิษและเป็นประโยชน์ต่อสุขภาพ ทางเลือกหนึ่งของผู้บริโภคกลุ่มนี้ คือ “ผลิตภัณฑ์เกษตรอินทรีย์” ที่ปลูกโดยปราศจากการใช้ยาฆ่าแมลง และไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ

“เนเธอร์แลนด์” ประสบความสำเร็จด้านเกษตรอินทรีย์และการปลูกพืชในโรงเรือน เกษตรกรเนเธอร์แลนด์สามารถปลูกพืชได้ทั้งปีและได้ผลผลิตจำนวนมากจากการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมการเกษตรเข้ามาช่วย ไม่น่าแปลกใจที่เนเธอร์แลนด์จะกลายเป็นผู้นำการส่งออกสินค้าเกษตรของโลก โดยเฉพาะสินค้าเกษตรอินทรีย์

มองกลับมาที่ประเทศไทย เอกชนไทยกำลังพัฒนาประสิทธิภาพด้านกระบวนการปลูกพืช และนวัตกรรมการเกษตรอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกัน ภาครัฐก็พร้อมส่งเสริมเกษตรกรไทยให้เป็นเกษตรกรที่มีศักยภาพ สามารถผลิตสินค้าตอบสนองความต้องการของตลาดโลกได้ สิ่งนี้ สะท้อนจากการสนับสนุนจากหน่วยงานภาครัฐต่าง ๆ อาทิ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงการต่างประเทศ และศูนย์วิจัยการเกษตรหลวง

เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม ที่ผ่านมา กระทรวงการต่างประเทศได้ร่วมกับกรมวิชาการเกษตร จัดงานสัมมนา “การเผยแพร่องค์ความรู้ ความเชี่ยวชาญ และแนวปฏิบัติที่เป็นเลิศด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมของเนเธอร์แลนด์ด้านการปลูกพืชโรงเรือนและเกษตรอินทรีย์” ที่จังหวัดเชียงใหม่ โดยนำผู้เชี่ยวชาญจากประเทศเนเธอร์แลนด์จาก “PUM Netherland” ซึ่งเป็นองค์กรที่มีชื่อเสียงและความเชี่ยวชาญ ทำหน้าที่ให้คำแนะนำในการทำเกษตรทั้งในเนเธอร์แลนด์เอง และต่างประเทศ ประกอบด้วยนายมาร์ตินัส เอ. บีค อดีตผู้อำนวยการแผนกพันธุ์พืชของมหาวิทยาลัย Wageningen นายแอนโธนิอัส อี.เอ็ม. ฟาน วิลสเทอเร็น อดีตประธานกลุ่มสหกรณ์ Nautilus องค์กรดูแลการตลาดพืชอินทรีย์ในเนเธอร์แลนด์ นายเฮนดริคัส แอล.เอ็ม. เซอร์มินสกี อดีตกรรมการผู้จัดการบริษัท Nedalpac บริษัทนำเข้า-ส่งออกพืชผักชั้นนำของเนเธอร์แลนด์ และผู้จัดการบริษัท Demokwekerijk Westland ซึ่งเป็นบริษัทที่มีความเชี่ยวชาญเรื่องการจัดตั้งโรงเรือนสาธิต และมีความสนใจลงทุนจัดตั้งศูนย์ฝึกอบรมด้านการปลูกพืชเรือนกระจกในประเทศไทย โดยผู้เชี่ยวชาญเหล่านี้ได้ลงพื้นที่สำรวจตลาดเกษตรอินทรีย์ไทย และเยี่ยมชมโรงเรือนของเกษตรกรต้นแบบ หรือ “Smart Farmer” ณ ศูนย์วิจัยการเกษตรหลวงเชียงใหม่ ตลอดจนได้บรรยายให้ความรู้แก่กลุ่มเกษตรกร กลุ่มธุรกิจ ภาควิชาการ และผู้สนใจทั่วไปในพื้นที่

จากงานสัมมนา ผู้เชี่ยวชาญให้ข้อเสนอแนะทั้งหมด 5 ข้อ ได้แก่ (1) หน่วยงานของรัฐ สถาบันศึกษา สถาบันวิจัย และเกษตรกรต้องร่วมกันแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ และพัฒนากระบวนการเพาะปลูกให้ปลอดภัยต่อผู้บริโภค (2) การส่งเสริมเกษตรกรด้านเกษตรอินทรีย์อย่างจริงจัง ผ่านการทำการเกษตรแบบ Integrated Farming เพื่อผลักดันให้เกิดความยั่งยืนในภาคเกษตรกรรม (3) การใช้เครื่องจักรที่ราคาไม่สูงเข้ามาใช้ในกระบวนการเพาะปลูก เพื่อให้กระบวนการเพาะปลูกมีประสิทธิภาพมากกว่า (4) หน่วยงานรัฐควรควบคุมการใช้สารเคมีอย่างยาฆ่าแมลงและปุ๋ยที่มีสารตกค้าง และ (5) การสร้างค่านิยมการบริโภคสินค้าเกษตรอินทรีย์ในหมู่ผู้บริโภค และยกระดับคุณภาพสินค้าเกษตรไทยให้มีมาตรฐานเทียบเท่ากับประเทศพัฒนาแล้ว ซึ่งฝ่ายเนเธอร์แลนด์พร้อมให้ความร่วมมือในการพัฒนาเกษตรกรไทย

นอกจากนี้ ยังเห็นว่า ไทยเป็นประเทศที่มีศักยภาพสูงในด้านการเกษตรอยู่แล้ว หากไทยหันมาให้ความสำคัญต่อการพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีมากขึ้น จะช่วยให้ไทยสามารถนำศักยภาพด้านการเกษตรที่ยังไม่ถูกนำมาใช้ให้เกิดผลประโยชน์อย่างเต็มที่

เพื่อให้เห็นผลความร่วมมืออย่างเป็นรูปธรรม ล่าสุด เนเธอร์แลนด์และไทยได้เห็นพ้องที่จะร่วมกันจัดตั้งศูนย์การวิจัยและฝึกอบรม (Training Center) ด้านการปลูกพืชโรงเรือน เพื่อศึกษาและพัฒนาเทคโนโลยีการปลูกพืชโรงเรือนที่เหมาะสมกับสภาพอากาศของไทย รวมถึงเพื่อใช้ฝึกอบรมบุคลากรการเกษตรของไทย นับเป็นโอกาสของเกษตรกรไทยที่จะได้เรียนรู้การปลูกพืชโรงเรือนและเกษตรอินทรีย์จากประเทศกูรูด้านการเกษตรอย่างเนเธอร์แลนด์

เกษตรอินทรีย์เป็นโอกาสที่น่าสนใจของเกษตรกรไทย เพราะกลุ่มผู้บริโภคอาหารสุขภาพขยายขึ้นอย่างต่อเนื่อง และผู้บริโภคยินดีจ่ายเงินเพื่อซื้อสินค้าในราคาสูง การเปลี่ยนแปลงภาคเกษตรให้ประสบความสำเร็จอย่างประเทศเนเธอร์แลนด์อาจต้องใช้เวลานาน เพราะเนเธอร์แลนด์เองก็ใช้เวลาเปลี่ยนผ่านถึง 30 ปี แต่หากเริ่มลงมือทำ ณ วันนี้ อนาคตการเกษตรไทยต้องสดใสอย่างแน่นอน

พบกับอัพเดทความเคลื่อนไหวและโอกาสในตลาดต่างประเทศที่สถานทูตไทยทั่วโลกตั้งใจติดตามมาให้ภาคเอกชนไทยได้ที่เว็บไซต์ www.ThaiBiz.net หากมีข้อคิดเห็นหรือข้อเสนอแนะเพิ่มเติม สามารถเขียนมาคุยกันได้ที่ [email protected]

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,194 วันที่ 22 - 24 กันยายน พ.ศ. 2559