หัตถกรรมไทยผงาดตลาดยุโรป SACICT นำทีมออกงานสร้างชื่อ-ยอดขายทะลัก

25 ก.ย. 2559 | 08:00 น.
LUX by SACICT ผงาดตลาดยุโรป 1 ใน 4 ขึ้นชั้นผู้นำงานคราฟต์จากเอเชีย ในงาน Maison et objet Paris 2016 พร้อมเผยปีนี้มียอดสั่งซื้อภายในงานมากกว่า 2 ล้านหรือเพิ่มขึ้นกว่าปีก่อนเท่าตัว

[caption id="attachment_100194" align="aligncenter" width="335"] อัมพวัน พิชาสัย  ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ(องค์การมหาชน) หรือ SACICT อัมพวัน พิชาสัย
ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ(องค์การมหาชน) หรือ SACICT[/caption]

นางอัมพวัน พิชาสัย ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ(องค์การมหาชน) หรือ SACICT เผยว่า ศูนย์ได้นำผลิตภัณฑ์ในโครงการ LUX by SACICT ไปจัดแสดงในงาน Maison et object 2016 ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส โดยผลิตภัณฑ์ดังกล่าวมุ่งเน้นการใช้วัสดุพื้นถิ่นเป็นธรรมชาติภายใต้แนวคิด Touch of Nature: Wild & Monsoon ซึ่งหมายถึง สัมผัสแห่งธรรมชาติ:สีสันของป่าเขาและลมมรสุม สะท้อนความงดงามและสีสันของธรรมชาติลงบนผลิตภัณฑ์หัตถกรรมไทยร่วมสมัย

โดยปีนี้มีนักออกแบบ 10 ราย ร่วมออกแบบและผลิตชิ้นงานทั้งหมดกว่า 100 ชิ้นจากทั้งหมด 15 ชุมชน ประกอบด้วย กลุ่มดาหลาบาติก จังหวัดนราธิวาส และกลุ่มเตยปาหนัน จังหวัดตรัง กลุ่มแปรรูปสินค้าเหล็กและเศษเหล็ก กลุ่มผู้ผลิตผลิตภัณฑ์จากไม้ไผ่ กลุ่มกระดาษใยสับปะรดบ้านละเมาะ กลุ่มศิลปาชีพป่านศรนารายณ์สหกรณ์หุบกะพง กลุ่มทอหางอวน กลุ่มเส้นใยใบลาน กลุ่มเซรามิก กลุ่มหัตถกรรมมีดอรัญญิก กลุ่มชุมชนผู้ผลิตและออกแบบผลิตภัณฑ์ที่ทำจากไม้ไผ่เพื่อการตกแต่งภายใน ชุมชนจักสานผักตบชวาและเสื่อลายขิด ชุมชนกลุ่มทอผ้าบ้านหนอง- อาบช้าง ชุมชนผลิตภัณฑ์ใบตองตึง หมู่บ้านเบญจรงค์ดอนไก่ดี และ แจกันกระดาษชุมชนระแหงใต้

"ผลตอบรับปีนี้ดีมาก โดยมียอดขายภายในงานรวม 2.3 ล้านบาท ซึ่งสูงกว่าปีก่อนถึงเท่าตัว ซึ่งความสำเร็จครั้งนี้มาจากการศึกษาความต้องการตลาดจากการออกงานในปีที่ผ่านมา รูปแบบของผลิตภัณฑ์ที่สร้างสรรค์ เน้นออกแบบแล้วนำไปใช้ได้จริง ตอบสนองกับรสนิยมและไลฟ์สไตล์ของชาวยุโรป ไม่ได้เน้นดีไซน์มากเกินไปหรือเน้นโชว์"

นางอัมพวันกล่าวต่อว่า สินค้าที่ได้รับความสนใจได้แก่ กระถางจากป่านศรนารายณ์ ตู้เก็บของบุด้วยใบตองตึง และจานเซรามิก โดยบายเออร์ต่างชาติมีทั้งจากกลุ่มลูกค้ารายเดิม และกลุ่มที่เพิ่มเติมเข้ามาใหม่ เช่น ฝรั่งเศส อเมริกา อังกฤษ อิตาลี สเปน โมนาโก รัสเซีย สิงคโปร์ ฮ่องกง คาซัคสถาน สิงคโปร์ และ ฮ่องกง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นร้านคอนเซ็ปต์สโตร์ (Concept Store) ที่ขายสินค้าอินทีเรียร์ดีไซน์ กลุ่มสถาปนิกตกแต่งภายใน กลุ่มเครือโรงแรมนานาชาติ (Hotel Chain) กลุ่มร้านหนังสือที่มีสาขาทั่วยุโรปและอเมริกา (Bookstore Chain) และห้างสรรพสินค้าที่ให้บริการช็อปปิ้งออนไลน์

"งานคราฟต์ที่นำไปจัดแสดงมีอัตลักษณ์ไทย งดงาม แต่ไม่ได้เป็นดีไซน์ที่ดูไทยจนเกินไป ซึ่งการเข้าไปจัดแสดงในเวทีดังกล่าวถือว่า ไม่ธรรมดา เพราะการเข้างานแสดงสินค้าระดับสากลแบบนี้ได้จะต้องได้รับการคัดเลือกจากเจ้าของงาน โดยเราเป็น 1 ใน 4 ที่ได้เข้ามาแสดงนอกเหนือจากญี่ปุ่น เกาหลี และอินเดีย"

อย่างไรก็ตามจากการเข้าร่วมงาน Maison et Objet 2016 ซึ่งเป็นปีที่ 2 ทำให้ทีมนักออกแบบที่มีความเข้าใจแนวโน้มความต้องการ (Trend) ของตลาดยุโรปมากขึ้นจึงได้พัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ตรงความต้องการของตลาดมากขึ้น ส่วนผู้ประกอบการระดับเอสเอ็มอี (SMEs) หรือไมโครเอสเอ็มอี (Micro SMEs) บางรายที่ยังขาดประสบการณ์ด้านการค้าระหว่างประเทศ ทางศูนย์จะนำมาวิเคราะห์สู่กระบวนการแก้ไขปรับปรุงและพัฒนาทักษะของสมาชิกหัตถกรรมไทยต่อไป

Photo : Pixabay
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,194 วันที่ 22 - 24 กันยายน พ.ศ. 2559