ศึกษาโอกาสสินค้าเกษตรไทยในจีน

24 ก.ย. 2559 | 05:00 น.
ปัจจุบันรูปแบบการบริโภคของชาวจีนได้เปลี่ยนแปลงไปจากเมืองสำคัญระดับชาติสู่เมืองสำคัญระดับมณฑล เดิมตลาดผู้บริโภคอาหารที่นำเข้าส่วนใหญ่อยู่ในเมืองเศรษฐกิจสำคัญระดับชาติ เช่น เซี่ยงไฮ้ ปักกิ่ง หรือมณฑลตามชายฝั่งทะเลด้านตะวันออกของประเทศ แต่ปัจจุบัน ในมณฑลตอนในและหัวเมืองชั้นรองต่างมีการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจมากขึ้น มีการพัฒนาความเป็นเมือง รายได้ของประชาชนเพิ่มขึ้น ส่งผลให้เกิดชนชั้นกลางและเศรษฐีใหม่เกิดขึ้นมากมายกระจายอยู่ตามหัวเมืองชั้นรอง

สิ่งเหล่านี้ล้วนส่งผลให้ผู้บริโภคชาวจีนจำนวนไม่น้อยเริ่มปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการจับจ่ายใช้สอยและการบริโภคอาหาร จากการรับประทานเพื่อ “อิ่มท้อง” ในอดีต เป็นการบริโภคที่เน้นรสชาติและคุณภาพของอาหารมากขึ้น ตลาดสินค้าเกษตรหลายชนิดที่นำเข้าจากไทย เช่น ผลไม้ จึงได้ขยายไปสู่เมืองชั้นรองและพื้นที่ตอนในของจีนมากยิ่งขึ้น ทำให้ผู้บริโภคในเมืองดังกล่าวมีโอกาสรับรู้สินค้าใหม่ๆ และมีความต้องการบริโภคสินค้าที่นำเข้าสูงขึ้นเรื่อย ๆ เนื่องจากผู้บริโภคในเมืองสำคัญระดับมณฑลไม่ค่อยได้รู้จักสินค้าต่างประเทศและร้านที่จำหน่ายมีไม่มากนัก จึงคาดการณ์ว่า การขยายตลาดสินค้าเกษตรของไทยที่นำเข้าไปสู่เมืองสำคัญระดับมณฑลจะเป็นแนวโน้มของตลาดต่อไป ดังนั้น จึงเป็นโอกาสดีของ สินค้าเกษตรไทย ไม่ว่าจะเป็นผลไม้ไทยหลากหลายชนิด หรือข้าวหอมมะลิที่จะมีโอกาสได้รับความนิยมมากขึ้นจากผู้บริโภคชาวจีน

ตามสถิติขององค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (Food and Agriculture Organization of the United Nations : FAO) จีนเป็นประเทศส่งออกสินค้าเกษตรที่ใหญ่ที่สุดในเอเชีย ขณะที่ไทยตามมาในอันดับ 2 เห็นได้ว่าทั้ง 2 ประเทศมีระดับการพัฒนาใกล้เคียงกัน ทั้งระบบการผลิตดั้งเดิม ระดับเทคโนโลยี โครงสร้างพื้นฐาน ตลาดการส่งออก และโครงสร้างตลาด เหล่านี้มีลักษณะคล้ายคลึงกัน สินค้าเกษตรไทยในจีนมีโอกาสเป็นอย่างไร ล้วนเป็นประเด็นคำถามที่น่าติดตาม สินค้าเกษตรไทยและจีนบางชนิดมีความใกล้เคียงกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสินค้าประเภทผลไม้สด สำหรับไทยแล้ว สินค้าเกษตรเป็นสินค้าส่งออกที่สำคัญที่ไทยต้องพึ่งพาเพื่อสร้างรายได้เงินตราต่างประเทศ แต่ก็เป็นสินค้าที่ต้องใช้แรงงานการผลิตเข้มข้น จีนกับไทยต่างคาดหวังว่าจะครอบครองตลาดสินค้าเกษตรในต่างประเทศ และต่างก็มีตลาดการส่งออกกระจุกตัวในประเทศอุตสาหกรรมที่พัฒนาแล้ว

อย่างไรก็ตาม จากการศึกษาความเป็นไปของการแข่งขันทางการค้าของสินค้าเกษตรไทย-จีน 2 ประเทศ พบว่าเป็นไปในลักษณะทวิภาคี โดยมีแนวโน้มว่า จีนเป็นผู้นำเข้าสินค้าเกษตรจากไทยสูงขึ้น จีนกำลังพึ่งพาไทยมากขึ้นและเริ่มลดความได้เปรียบต่อไทยลงในสินค้าชนิดนี้ ตัวเลขการค้าระหว่าง 2 ประเทศชี้ว่า จีนเป็นฝ่ายเสียดุลเพิ่มขึ้น สาเหตุเป็นเพราะจีนกำลังมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจสูง ความต้องการสินค้าเกษตรเป็นวัตถุดิบจึงสูงขึ้นตามไปด้วย

ดังนั้น ไทยในฐานะประเทศเพื่อนบ้านที่มีข้อได้เปรียบเชิงภูมิศาสตร์และมีศักยภาพในการผลิตพืชและผลไม้เมืองร้อน จึงเป็นทางเลือกที่ดีให้แก่จีนในฐานะแหล่งผลิตของสินค้าเกษตรหลายชนิด เช่น ผลไม้ไทย น้ำมันปาล์ม ยางพารา ไม้ท่อน ไม้แปรรูป เป็นต้น จีนไม่มีข้อได้เปรียบในการผลิตสินค้าเหล่านี้ ไทยจึงกลายเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการเกื้อหนุนภาวะขาดแคลนสินค้าเกษตร อันเป็นผลจากความเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องของจีน

ทำไมต้องผลไม้ไทย

ความแตกต่างทางสภาพดินฟ้าอากาศระหว่างไทยและจีนเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดข้อได้เปรียบที่แตกต่างกันใน 2 ประเทศ ประเทศไทยตั้งอยู่ในเขตร้อน ภายใต้อิทธิพลมรสุม 2 ชนิดคือ มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ และมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ ปริมาณน้ำฝนมาก อุณหภูมิโดยเฉลี่ยสูง ไทยมีพื้นที่ราบภาคกลางที่มีดินอุดมสมบูรณ์เหมาะแก่การเพาะปลูกพืชเขตร้อน สภาพดินฟ้าอากาศเป็นมรสุมชัดเจน

ส่วนประเทศจีนนั้น มี 4 ฤดูกาลชัดเจน อุณหภูมิแตกต่างกันมากระหว่างภาคใต้และภาคเหนือ ภาคใต้ร้อน ภาคเหนือหนาว ฤดูร้อนในพื้นที่ส่วนใหญ่มักมีฝนตกชุกอากาศร้อน บริเวณตะวันตกเฉียงใต้ไปจนถึงบริเวณตะวันตกเฉียงเหนือแบ่งได้เป็นเขตชื้นที่มีอุณหภูมิและความชื้นต่างกัน พืชสวนที่สามารถปลูกได้ในแต่ละบริเวณจึงแตกต่างกันไป

สำหรับผลไม้ จีนมีการเพาะปลูกผลไม้แทบทุกภาค ผลผลิตที่มีชื่อ เช่น สาลี่หอม แคนตาลูปของเขตปกครองตนเองซินเจียง แอ๊ปเปิ้ลของเมืองเยียนไถ มณฑลซานตง องุ่นของมณฑลซานซี ส้มของมณฑลเสฉวนและเจียงซี ลิ้นจี่ของมณฑลฝูเจี้ยนและมณฑลกวางตุ้ง สตรอเบอรี่ ลำไย ส้มโอของเขตปกครองตนเองก่วงซี-จ้วง โดยในแต่ละปี จีนมีปริมาณผลผลิตผลไม้ทั้งสิ้นจำนวนกว่า 60 ล้านตัน พื้นที่ที่สามารถให้ผลผลิตผลไม้สูงที่สุดคือ มณฑลซานตง รองลงมาคือ มณฑลเหอเป่ย

ตั้งแต่เริ่มใช้นโยบายการเปิดตลาดในปี 2521 ทำให้การผลิตผลไม้ของจีนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยการปลูกผลไม้มีมากคิดเป็นอันดับ 3 ของการเพาะปลูกทั้งหมด จีนมีการผลิตแอปเปิ้ลและลูกแพร์มากที่สุดในโลก และมีการปลูกผลไม้ตระกูลส้มมากเป็นอันดับ 3 ของโลก จีนจึงเป็นประเทศผู้ผลิตและบริโภคผลไม้มากที่สุดในโลก แต่ขณะที่ปริมาณการผลิตผลไม้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องสอดคล้องกับเทคโนโลยีที่ก้าวหน้า ความต้องการของผู้บริโภคกลับเพิ่มสูงขึ้นตลอดหลายปีที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าทางภาคใต้ของจีนในบางพื้นที่ เช่น มณฑลกวางตุ้ง ฝูเจี้ยน หรือเขตปกครองตนเองก่วงซี-จ้วง จะสามารถเพาะปลูกพืชและผลไม้เมืองร้อนได้ เช่น กล้วย มะม่วง มะละกอ แต่กระนั้น ด้วยอุปสรรคด้านสภาพอากาศที่ไม่ร้อนตลอดทั้งปี ส่งผลให้รสชาติและคุณภาพของผลไม้ที่เพาะปลูกได้ในประเทศยังไม่ดีเท่าที่ควร รวมทั้งปริมาณความสามารถในการผลิตก็ไม่เพียงพอต่อความต้องการของผู้บริโภคทั้งประเทศด้วย จีนจึงยังมีความต้องการผลไม้ค่อนข้างสูง และมีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้นทุกปี

จะเห็นได้ว่า ข้อได้เปรียบของไทยต่อจีนด้านการผลิตสินค้าเกษตรอยู่ที่ปริมาณน้ำฝนและอุณหภูมิ เหมาะสมกับการการเพาะปลูกพืชและผลไม้เมืองร้อนได้ตลอดทั้งปี ไทยสามารถผลิตสินค้าเกษตรหลายชนิดที่จีนไม่สามารถผลิตได้ ไม่ว่าจะเป็นผลไม้เขตร้อน ยางธรรมชาติ น้ำมันปาล์ม มันสำปะหลัง เป็นต้น สภาพดินฟ้าอากาศจึงเป็นเงื่อนไขสำคัญหนึ่งที่ทำให้จีนต้องนำเข้าจากไทย ดังนั้น “จีน” จึงถือเป็นแหล่งรองรับการขยายตัวด้านการส่งออกของสินค้าเกษตรไทยได้อย่างดี โดยเฉพาะผลไม้เมืองร้อน

ติดตามข้อมูลข่าวสารเพิ่มเติมเกี่ยวกับลู่ทางการค้า-การลงทุน และความเคลื่อนไหวล่าสุดเกี่ยวกับเศรษฐกิจจีนได้ที่เว็บไซต์ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน www.thaibizchina.com หรือที่ช่องทางใหม่ www.facebook.com/thaibizchina

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,194 วันที่ 22 - 24 กันยายน พ.ศ. 2559